รพ.ม.อ. เปิดตัว ‘หุ่นยนต์ผ่าตัด’ เครื่องแรกของภาคใต้ ท็อป 2 ของอาเซียน
รพ.สงขลานครินทร์ เปิดตัว “หุ่นยนต์ผ่าตัด” เครื่องแรกและเครื่องเดียวในภาคใต้ ช่วยผ่าตัดรักษาผู้ป่วยได้มากเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน จำนวน 190 คน ในระยะเวลา 1 ปี โดยมีฟังก์ชันที่แพทย์สามารถควบคุมการผ่าตัดและมองเห็นได้จากจอภาพ 3 มิติ
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) จัดกิจกรรมเวทีเสวนาความสำเร็จ และเปิดตัวหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด (Robotic Surgery) เครื่องแรก และเครื่องเดียวในภาคใต้ ที่สามารถใช้ผ่าตัดรักษาผู้ป่วยได้มากเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน 190 ราย
ตลอดระยะเวลา 1 ปี ยังเป็นแหล่งฝึกฝนเรียนรู้ให้กับแพทย์เฉพาะทาง และเป็นแหล่งศึกษาดูงานให้กับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมี รศ.พญ.มณฑิรา ตัณฑนุช รองคณบดีฝ่ายโรงพยาบาล คณะแพทยศาสตร์ เป็นประธานเปิดงาน
หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดหรือที่ทางการแพทย์เรียกว่า Robotic Surgery เป็นความก้าวหน้า และเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทางโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ (รพ.ม.อ.) เป็นโรงพยาบาลแห่งแรกของภาคใต้ ที่นำหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดเข้ามาใช้ในการรักษาผู้ป่วยให้มีความแม่นยำ และปลอดภัย รวมทั้งลดผลกระทบจากบาดแผลในการผ่าตัดแบบเดิม
ประกอบด้วยอุปกรณ์ 3 ส่วน คือ
ชุดควบคุมที่เป็นศูนย์กลางควบคุมการทำงาน และสั่งการจากศัลยแพทย์ที่ทำหน้าที่ควบคุมการผ่าตัด ซึ่งเครื่องจะส่งสัญญาณการเคลื่อนไหวของแพทย์ไปยังแขนของหุ่นยนต์ที่อยู่ข้างเตียงผู้ป่วย เพื่อทำการผ่าตัดตามการควบคุมของแพทย์ และแพทย์สามารถมองเห็นการผ่าตัดได้จากจอภาพ 3 มิติ
แขนกล เป็นส่วนที่ทำหน้าที่แทนแขนของศัลยแพทย์ในการผ่าตัด โดยตัวหุ่นประกอบด้วยแขน 4 แขน แขนที่ 1 คือ กล้อง 3 มิติที่มีกำลังขยายสูงที่ทำให้แพทย์มองเห็นอวัยวะภายในได้อย่างชัดเจน แขนที่ 2, 3 และ 4 จะเป็นเหมือนเครื่องมือแพทย์
โดยคุณสมบัติพิเศษคือ สามารถหักงอข้อมือ และหมุนข้อมือได้อย่างอิสระถึง 7 ทิศทาง ช่วยลดการสั่นของมือแพทย์ และสามารถเข้าถึงอวัยวะที่มือแพทย์ไม่สามารถเข้าถึงได้ ทำให้การผ่าตัดมีความแม่นยำ และปลอดภัยมากขึ้น
และส่วนที่สามเป็นชุดแปลงสัญญาณที่ทำหน้าที่รับสัญญาณจากชุดควบคุมส่งไปยังแขนกลให้ทำงานตามคำสั่ง
การผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์สามารถรองรับการผ่าตัดให้กับผู้ป่วยได้หลายโรค ทั้งการผ่าตัดช่องท้อง การผ่าตัดบริเวณอุ้งเชิงกราน เช่น การผ่าตัดมดลูก การผ่าตัดทางเดินปัสสาวะต่อมลูกหมาก การผ่าตัดด้านนรีเวช การผ่าตัดผู้ป่วยโรคอ้วน รวมถึงการผ่าตัดอื่นๆ ที่พิจารณาโดยแพทย์
“ข้อดีของการใช้หุ่นยนต์สำหรับแพทย์คือ ทำให้ใช้ผู้ช่วยผ่าตัดน้อยลง และความนิ่ง เพราะ มือที่ผ่าตัดเป็นมือหุ่นยนต์ที่บังคับโดยหมอผ่าตัด ซึ่งจะมีความเที่ยงตรง แม่นยำ และการผ่าตัด หรือการเย็บแผล สามารถทำได้ง่ายขึ้นด้วย และจากข้อดีดังกล่าวยังทำให้แพทย์ด้านระบบทางเดินปัสสาวะ นำมาใช้ในการผ่าตัดผู้ป่วยต่อมลูกหมาก เนื่องจากต่อมลูกหมากเป็นอวัยวะที่อยู่ในพื้นที่ลึก และแคบ มือของศัลยแพทย์เข้าไปได้ลำบาก”
ขณะที่ข้อดีสำหรับผู้ป่วยในการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ผ่าตัดคือ แผลผ่าตัดจะเล็กลง เจ็บน้อย เลือดออกค่อนข้างน้อย ทำให้ใช้เลือดในการผ่าตัดน้อยตามไปด้วย อีกทั้งระยะการพักฟื้น หรือนอนโรงพยาก็จะน้อยลงตามไปด้วย สามารถกลับไปใช้ชีวิต และทำงานได้เร็วขึ้น และที่สำคัญผู้ป่วยที่สูงอายุสามารถผ่าตัดได้ ลดความเสี่ยงจากการผ่าตัดแบบเปิด
ผู้ป่วยและผู้สนใจการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่คลินิกศัลยกรรม โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ โทร. 074 451 7601