Beauty Tech จุดเปลี่ยนธุรกิจความงาม | ต้องหทัย กุวานนท์
งานเทคโนโลยีงานใหญ่อย่าง Web Summit ที่เพิ่งจัดขึ้นที่กรุงลิสบอน ถือเป็นงานแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปที่เปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพและองค์กรธุรกิจได้มีโอกาสโชว์นวัตกรรมใหม่และพบปะกับนักลงทุนจากทั่วโลก
งานนี้ทำให้เราเห็นภาพทิศทางของเทรนด์เทคโนโลยีว่าจะไปทางไหนและองค์กรขนาดใหญ่กำลังให้ความสนใจกับนวัตกรรมด้านใดบ้าง สำหรับปีนี้ความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจก็คือบริษัทเครื่องสำอางระดับโลกอย่าง ลอรีอัล L'Oréal เลือกที่จะมาออกบูธในงานนี้ด้วยการนำเสนอเทคโนโลยีและนวัตกรรมแบบจัดเต็ม
ทั้ง Deep Tech ที่ใช้เทคโนโลยีการตรวจวัดคลื่นสมองเพื่อวัดการตอบสนองของผู้บริโภคต่อกลิ่นของผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยีบล็อคเชนบนเมตาเวิร์ส เพื่อสร้างเครือข่ายชุมชนคนใช้งาน NFT และยังเปิดให้สตาร์ทอัพด้าน Climate Tech และ Big Data เข้ามาร่วมเป็นพันธมิตรเพื่อสร้างระบบนิเวศและเน้นการเป็นผู้นำด้าน Beauty Tech
การขยับตัวของผู้เล่นรายใหญ่ เป็นสัญญาณว่าการแข่งขันในธุรกิจเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เพื่อเสริมความงามกำลังจะเปลี่ยนไป จากเดิมที่งบประมาณด้าน R&D เพื่อวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์จะเน้นไปที่การคิดค้นสูตร การต่อยอดนวัตกรรมด้านการผลิตหรือรูปแบบบรรจุภัณฑ์
ในปัจจุบันการลงทุนด้านนวัตกรรมของธุรกิจความงามจะเน้นไปที่การนำเอาเทคโนโลยีมาใช้เพื่อทำให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างเฉพาะเจาะจงมากขึ้น รวมถึงการสร้างประสบการณ์ที่แตกต่างทั้งในรูปแบบ On-line และ Off-line
ล่าสุดแบรนด์ดังอย่าง Lancôme ก็เพิ่งเปิด Beauty Tech แฟลกชิป สโตร์แห่งแรกในเอเชียที่ประทศสิงคโปร์ พร้อมกับเปิดตัวเครื่องตรวจสอบสภาพผิวที่บริษัทพัฒนาขึ้นมาเอง 100% โดยใช้ อัลกอริทึม AI จาก Big Data ที่มีอยู่เพื่อทำให้สามารถวิเคราะห์สภาพผิวได้อย่างถูกต้องแม่นยำที่สุด
เม็ดเงินลงทุนจาก VC ใน Beauty Tech ในปีที่ผ่านมาเติบโตขึ้นกว่า 30% โดยกลุ่มเทคโนโลยีที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากที่สุดคือ AI, AR/VR, และกลุ่มดิจิทัลแพลตฟอร์มที่นำเสนอโซลูชั่น เพื่อแก้ปัญหารเรื่องการเลือกซื้อสินค้าออนไลน์ การทดลองใช้ผลิตภัณฑ์ การตรวจสอบสภาพผิว และการให้คำปรึกษาเรื่องการดูแลผิว
Beauty Tech ถือได้ว่าเป็นคลื่นระลอกใหม่ของการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมภายใต้ยุค Industry 4.0 ที่บริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมความงามหันมาจับมือกับสตาร์ทอัพสาย AI, Data Analytics, Cloud Computing, IoT และ AR/VR เพื่อทำให้เกิดผลิตภัณฑ์และบริการที่จะตอบโจทย์ผู้บริโภคในยุคดิจิทัล
สตาร์ทอัพด้าน AR/VR หน้าใหม่อย่าง ModiFace และ Perfect Corp จับมือกับ Estee Lauder และ Sephora เพื่อนำเอาประสบการณ์แบบ 3D ขึ้นไปอยู่บนแพลตฟอร์มทั้งบนเว็ปและในร้านค้า สตาร์ทอัพด้านดีพเทคจาก MIT Droplette พัฒนาอุปกรณ์ฉีดเซรั่มลงใต้ผิวแบบไร้เข็ม ที่เพิ่งได้รับเงินลงทุนกว่าสี่ร้อยล้านบาท กำลังมีแผนจับมือกับแบรนด์เครื่องสำอางชื่อดัง
เพื่อนำเอาเทคโนโลยีแบบไร้เข็มไปต่อยอดผลิตภัณฑ์ความงามชั้นสูง นอกเหนือจากความเคลื่อนไหวในฝั่งสตาร์ทอัพ บริษัทเทคยักษ์ใหญ่อย่าง Alphabet, Microsoft, และ Amazon ก็กำลังใช้ความได้เปรียบเรื่องฐานข้อมูลขนาดใหญ่มาสร้างโอกาสในตลาดนี้เช่นกัน
การพัฒนาผลิตภัณฑ์แบบเฉพาะเจาะจงที่ตัวบุคคล (Personalization) คือจุดเปลี่ยนของอุตสาหกรรมความงามและการดูแลผิว เมื่อผู้หญิงไม่มีวันหยุดสวย เทคโนโลยีจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้นในเกมการแข่งขัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เวที Beauty Tech อาจเป็นโอกาสใหม่และเป็นตลาดบลูโอเชี่ยนที่น่าสนใจสำหรับสตาร์ทอัพดีพเทคสาย AI, IoT และ Hardware.