โอกาสอนาคตเศรษฐกิจอวกาศ | ภัณณิน สุมนะเศรษฐกุล
วิสัยทัศน์อนาคตด้านอวกาศ ครอบคลุมทั้งการปกป้องโลกให้ดีขึ้น การนำประโยชน์จากอวกาศมาใช้งานในโลก รวมทั้งการแสวงหาความเป็นไปได้อื่นๆ ที่มนุษย์ยังไปไม่ถึง
ทิศทางอนาคตจากผู้นำเอกชนระดับโลกด้านอวกาศอย่าง “อีลอน มัสก์” ผู้ก่อตั้งบริษัทสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) วางวิสัยทัศน์ไปสู่การตั้งถิ่นฐานของมนุษย์โลกที่ดาวอังคาร
ในขณะที่ผู้นำภาคธุรกิจอย่าง “เจฟฟ์ เบซอส” จากบริษัทบลู ออริจิน (Blue Origin) มีแผนอนาคตที่จะทำให้ดวงจันทร์เป็นอาณานิคมแห่งใหม่ของโลก เพื่อตอบโจทย์ข้อท้าทายที่โลกไม่สามารถดำเนินการได้
จากวิสัยทัศน์อนาคตของผู้นำระดับโลกเหล่านี้ เป็นกุญแจสำคัญในการต่อยอดโอกาสของเศรษฐกิจอวกาศที่นานาประเทศจับตามอง 5 แนวทาง ได้แก่
1. การเดินทางสู่อวกาศ (Going to space)
การเปลี่ยนแปลงซึ่งมีผลมาจากการลดต้นทุนในการส่งยานอวกาศ ทำให้การเข้าถึงอวกาศเป็นไปได้ในราคาที่ถูกลงมาก โดยเฉพาะจากความสำเร็จของยานอวกาศ Falcon 9 ที่ถูกนำกลับมาใช้บ่อยที่สุด ส่งผลให้ SpaceX กลายเป็นหน่วยงานแรกที่ดำเนินการด้านอวกาศยานในรูปแบบที่ไม่เหมือนเดิม และส่งผลต่อการเติบโตด้านการท่องเที่ยวอวกาศที่จะสูงขึ้น
ข้อมูลจาก Statista สะท้อนว่ารายได้ของการท่องเที่ยวในอวกาศทั่วโลกคาดว่าจะสูงถึง 555 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2573 การท่องเที่ยวในอนาคตยังรวมถึงการลงทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อย่างโรงแรมในอวกาศอีกด้วย
2. การนำกลับมาที่โลก (Down to Earth)
เศรษฐกิจที่เกิดจากการนำข้อมูลกลับมาใช้ที่โลก เป็นที่น่าจับตามองในเชิงการเติบโตด้านการตลาด แต่ก็มีการแข่งขันที่รุนแรงเช่นกัน ก่อนนี้มีเพียงภาครัฐหรือภาคเอกชนในรูปแบบความร่วมมือภาครัฐและภาคเอกชน เป็นหลักที่จะนำข้อมูลที่สำรวจความเป็นไปของพื้นโลกผ่านดาวเทียม แต่การเปลี่ยนแปลงเชิงต้นทุนที่ลดลงของการส่งดาวเทียมขึ้นไปเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ
รวมถึงการลงทุนด้านการวิเคราะห์ข้อมูลและระบบปัญญาประดิษฐ์ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้งานด้านการติดตามข้อมูลภารกิจด้านอุตุนิยมวิทยาและการตรวจสอบสภาพอากาศ เริ่มมีกลุ่มสตาร์ตอัปที่เข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดด้านข้อมูลเพื่อประโยชน์ในการใช้งานที่พื้นโลก อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงหลักยังคงมาจากปัญหาด้านกฎระเบียบ เช่น การจัดการความถี่ ที่ยังคงต้องจับตามองต่อไป
3. อวกาศเพื่ออวกาศ (Space for space)
โอกาสของเศรษฐกิจอวกาศกลุ่มนี้ ครอบคลุมกิจกรรมทั้งหมดที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานในอวกาศ ตั้งแต่การลดเศษซากและการกำจัดเครื่องยนต์หรือยานที่หมดอายุการใช้งาน การให้บริการในระหว่างอยู่บนวงโคจร
รวมถึงการเติมเชื้อเพลิง การซ่อมแซมและบริการลากจูงในอวกาศ มีข้อมูลรายงานด้านโอกาสทางอวกาศที่เติบโตขึ้น สะท้อนจำนวนบริษัทที่ทำงานเกี่ยวข้องทางด้านนี้เพียง 74 แห่ง โดยมีงบการลงทุนอยู่ที่ 1.2 พันล้านดอลลาร์
4. ดินแดนใหม่หรืออวกาศที่ยังไปไม่ถึง (New horizons)
กลุ่มเศรษฐกิจอวกาศนี้ครอบคลุมถึงแนวทางแบบใหม่ๆ เพื่อคาดผลระยะยาว เช่น การขุดเจาะดาวเคราะห์น้อย โดยกลุ่มสตาร์ตอัปด้านอวกาศได้รับงบสนับสนุนจำนวนมากในการสำรวจความเป็นไปได้จากการนำประโยชน์จากอวกาศในจุดที่ยังเข้าไปไม่ถึง
เนื่องด้วยแนวโน้มความต้องการโลหะมีค่าบนพื้นโลก อย่างแพลตตินัมและโรเดียม รวมทั้งความเป็นไปได้ที่จะขุดพบได้จากดวงดาวใกล้โลก
อย่างไรก็ตาม แนวทางตลาดกลุ่มนี้มีความไม่แน่นอนจากประเด็นด้านกฎหมาย แต่มีบางประเทศที่มองเห็นโอกาสในกลุ่มเศรษฐกิจนี้ อาทิ ลักเซมเบิร์ก ในฐานะประเทศแรกในยุโรปที่ปรับระเบียบข้อบังคับเพื่อเพิ่มโอกาสให้บริษัทเอกชนสามารถเป็นเจ้าของทรัพยากรอวกาศจากที่ขุดค้นพบขึ้นมาได้ เพื่อช่วยเร่งโอกาสในการแข่งขันสำหรับเศรษฐกิจอวกาศกลุ่มนี้
5. ส่วนประกอบเพื่ออวกาศ (Components for space)
กลุ่มเศรษฐกิจอวกาศด้านอุปกรณ์ดาวเทียมขนาดเล็ก ระบบและส่วนประกอบ อาทิ CubeSat ดาวเทียมขนาดเล็กหรือ Nanosatellite เพื่อลดต้นทุนการผลิตจำนวนสินค้าที่เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ การควบรวมทั้งระบบห่วงโซ่ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตดาวเทียมจะช่วยกำกับการทำงานและควบคุมประสิทธิภาพ ลดขั้นตอนและค่าใช้จ่ายจากการจัดซื้อจัดจ้าง อีกนัยหนึ่งคือการบูรณาการการให้บริการเทคโนโลยีควบคู่ไปกับระบบการผลิตดาวเทียมให้ครอบคลุมทั้งห่วงโซ่
โอกาสเศรษฐกิจอวกาศในอนาคตนั้นสะท้อนความเป็นไปได้หลายรูปแบบ ซึ่งขึ้นอยู่กับตำแหน่งในห่วงโซ่อุปทานของเศรษฐกิจอวกาศในมิติต่างๆ ของประเทศไทย ตลอดจนวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ที่จะขับเคลื่อนและเชื่อมต่อกับเศรษฐกิจอวกาศของโลก
รวมทั้งความจำเป็นของบทบาทหน่วยงานด้านอวกาศที่เตรียมปรับตัวเพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรมแบบใหม่ๆ ซึ่งนโยบายภาครัฐจะเป็นกุญแจสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นแนวทางส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศในระดับพื้นที่ กฎหมายด้านอวกาศที่จะช่วยเปิดช่องในการส่งเสริมโอกาสของเศรษฐกิจอวกาศในอนาคตต่อไป