"สตาร์ตอัปไทย" อะไร คือ โอกาสและความท้าทายในตลาด

"สตาร์ตอัปไทย" อะไร คือ โอกาสและความท้าทายในตลาด

ส่อง โอกาส อุปสรรค และความท้าทายของ "สตาร์ตอัปไทย" เมื่อทิศทางนักลงทุนส่วนใหญ่ เลือกลงทุนใน "สตาร์ตอัป" ที่โตในระดับหนึ่ง ทำให้ที่ผ่านมา แม้ยอดเงินระดมทุนจากดีลทั้งหมดจะสูง แต่จำนวนดีลกลับลดลง

"สตาร์ตอัปไทย" ในปัจจุบันซึ่งมีการประมาณการณ์ว่าอยู่ที่ 600 ราย และคาดว่าจะมีที่ตกสำรวจอยู่จำนวนหนึ่งในช่วงโควิด-19 ไม่ว่าจะสตาร์ตอัปที่เกิดใหม่หรือปิดตัวไป และส่วนใหญ่ที่ยังคงรอดในไทยจะเป็น B2B (Business to Business) เป็นหลัก ขณะที่ B2C (Business to Customer) ที่ผ่านมา พบปัญหาค่อนข้างเยอะ เนื่องจากกำลังการใช้จ่ายของผู้บริโภคลดลง

 

จากข้อมูลของ Techsauce Startup Directory บ่งชี้ว่า ทิศทางการลงทุนใน สตาร์ตอัป ไทยในปี 2022 เมื่อเทียบกับปี 2021 แม้ยอดเงินระดมทุนจากดีลทั้งหมดนั้นสูงขึ้น เพราะมีดีลใหญ่เกิดขึ้น แต่ในภาพรวมจำนวนดีลนั้นกลับลดลง และจากข้อมูลจะเห็นได้ว่า นักลงทุนส่วนใหญ่เลือกลงทุนในสตาร์ตอัปที่โตในระดับหนึ่งแล้ว 

 

“ชาล เจริญพันธ์” Program Director โครงการ Thailand Accelerator จาก บริษัท Techsauce Media อธิบายว่า นักลงทุน จะเลือกในธุรกิจที่มีเส้นทางสู่การมีรายได้และกำไรที่เร็วและชัดเจนขึ้น ต้องการลงทุนที่มีความเสี่ยงน้อยลง ขอซื้อของแพงแต่ชัวร์ดีกว่า ในระดับ Series-A และ Series-B ขึ้นไป และมีบางกลุ่มที่เริ่มเห็นการลงทุนที่ไม่ใช่แค่ผลกำไรตอบแทนเท่านั้น แต่ต้องมี Impact ด้วย เพราะประเด็นของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีความสำคัญ ภายใน 5 ปีข้างหน้า ตลาดจะใหญ่มากขึ้น

 

ขณะที่ในช่วงโควิด-19 มี 2 ประเด็นที่ใหญ่ขึ้นมา คือ Health Tech ซึ่งประเทศไทยค่อนข้างได้รับอานิสงค์เยอะเช่นกัน และ ESG เรื่องของ Sustainability ธุรกิจที่ช่วยลด หรือ เปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ การจัดการด้านขยะ สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐในเรื่องของ ESG การตอบโจทย์ประเด็นเหล่านี้ค่อนข้างได้รับความสนใจทั้งในแต่ต่างประเทศ

 

 

ปัจจัยสำคัญ ส่งเสริมสตาร์ตอัป

 

ปัจจุบันการผลักดันสตาร์ตอัปไทย พบว่า มีหลายหน่วยงานทั้งภาครับและเอกชนทำงานร่วมกัน โดยมีโครงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ซึ่งจะเน้นในด้าน Sustainability ขณะที่ภาคเอกชน ส่วนใหญ่จะสนับสนุนในด้านที่สอดคล้องกับธุรกิจ และมีหลายแห่งเริ่มให้ความสำคัญกับ Social Impact

 

“คนเริ่มกลับมาตื่นตัวในเรื่องนี้ Social Impact แต่ปัญหาคือ เวลาเราพูดถึง Social Impact จะนึกถึง กิจการเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise ซึ่งประเทศไทยเหลือน้อยมาก เพราะยากกว่าสตาร์ตอัป บางครั้งเงินที่ลงไปสนับสนุนตรงนี้ไม่พอ”

 

ขณะเดียวกัน ปัจจัยที่ส่งเสริมการเติบโตของสตาร์ตอัปนั้น "ชาล" มองว่า ต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง อันดับแรก คือ ทุกอย่างต้องการขนาดของมัน เราต้องการปริมาณ และคุณภาพที่เข้าและออกในทุกเลเวล ต้องมีสตาร์ตอัปหน้าใหม่เข้ามาใน Idea Stage หรือ Stage ที่กำลัง Growth หรือ Stage ที่กำลัง Scale up เป็นต้น

 

"Mentor ผู้ให้คำปรึกษาทุกเลเวล ต้องมีระบบการศึกษาเพื่อผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพออกมา มีความสามารถในทุกเลเวล เพราะเราจะเจอว่า ในเมืองไทยบริษัทใหญ่ๆ ที่โตไปเรื่อยๆ แต่คนไทยยังไม่มีทักษะหรือประสบการณ์ในการบริหารบริษัทระดับหมื่นคน พอโตถึงจุดหนึ่ง ความสามารถในการบริหารบริษัทใหญ่ๆ ไม่มี ก็ต้องไปจ้างข้างนอกมา ดังนั้น ต้องมีทุกอย่างมากพอและมีคุณภาพพอ ถึงจะช่วยให้สตาร์ตอัปทุก Stage โตไปได้และเขาจะวนเวียนอยู่ในอีโคซิสเต็มและซัพพอร์ตกันและกันได้"

 

อุปสรรคสำคัญ และความท้าทาย

 

ทั้งนี้ อุปสรรคและความท้าทายสำคัญของสตาร์ตอัปไทย "ชาล" มองว่า เรื่องเงินเป็นเรื่องใหญ่ ต้องบอกว่าคนเก่งๆ หลายคนที่อยากจะสร้างอะไรสักอย่างแต่ไม่มีเงินทุนพอ การเข้าถึงแหล่งเงินทุนใน Stage เริ่มต้นเป็นเรื่องยากและต้องใช้เวลา โอกาสที่จะไม่ประสบความสำเร็จมีสูง

 

"นักลงทุนไทยโดยรวมไม่ได้มี Mindset ที่จะเสี่ยงกับสิ่งนี้ ทุกคนต้องการความชัวร์ เพราะความเสี่ยงสูง แต่หากประสบความสำเร็จก็ WIN กับทุกฝ่าย หรือนักลงทุนไทยบางรายอาจเลือกลงทุนในสตาร์ตอัปต่างประเทศ ขณะเดียวกัน นักลงทุนต่างประเทศก็เข้ามาลงทุนในไทยน้อย ปัญหาเดียวกันคือ เขาต้องการดีลที่ใหญ่"

 

“แต่จุดที่เห็นกระแสที่ดีในประเทศไทย คือ แม้จะมีปัญหาเรื่องการระดมทุนในสตาร์ตอัป แต่สตาร์ตอัปไทยค่อนข้างอึด และสามารถอยู่รอดได้แม้เจอวิกฤติ เพราะในต่างประเทศก็พบว่า มีสตาร์ตอัปใหญ่ๆ พอเจอโควิด-19 ก็ไม่รอดเนื่องจากใช้เงินลงทุนเยอะ และอีกหนึ่งข้อดีของการลงทุนในไทย คือ มีส่วนลด หรือเรียกว่า Thailand Country Discount การลงทุนในเมืองไทยอาจจะได้ของดีราคาถูก และยิ่งอัตราแลกเปลี่ยน เงินดอลลาร์แข็ง ก็ยิ่งคุ้ม ซึ่งเป็นมุมดึงดูดนักลงทุนมาเมืองไทย และเราต้องฝึกคนของเราให้เก่ง”

 

“ความสามารถที่ดีในต่างประเทศ คือ ทุกคนต้องมี Technical Skills ที่เชี่ยวชาญ และต้องเก่งทางด้าน Business ด้วย ตัวอย่าง สตาร์ตอัปรุ่นพี่ ที่ประสบความสำเร็จของไทย คือ อโกด้า , อุ๊กบี , ไลน์แมนวงใน และ แฟลช เป็นต้น ระบบอีโคซิสเต็มที่ดี จะต้องสามารถผลิต Success Story ออกมาให้คนรุ่นหลังได้เรื่อยๆ"  

 

Thailand Accelerator สร้างระบบนิเวศผู้ประกอบการรุ่นใหม่

 

ล่าสุด Techsauce ในฐานะผู้ร่วมขับเคลื่อนวงการเทคโนโลยีและสตาร์ตอัป (Tech Ecosystem Builder) จัดตั้งโครงการ Thailand Accelerator ขึ้นเพื่อช่วยให้สตาร์ตอัปทั้งไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถระดมทุนได้ และสร้างธุรกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนผ่านทรัพยากรและเครือข่ายระดับโลก

 

"ชาล" กล่าวต่อไปว่า โครงการ Thailand Accelerator เป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญในการสร้างระบบนิเวศของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในทุกประเทศทั่วโลก เพราะจะมีส่วนช่วยให้ธุรกิจที่เข้าร่วมสามารถเติบโตได้เร็วขึ้น ทั้งในเชิงของฐานลูกค้าและรายได้ 

 

สำหรับสตาร์ตอัปที่สนใจเข้าร่วมโครงการต้องเป็นสตาร์ตอัปที่ต้องการขยายตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งมีผลิตภัณฑ์หรือบริการอยู่แล้ว และอยู่ในการระดมทุนระดับ Seed หรือ Pre Series-A โดยกลุ่มธุรกิจที่โครงการ Thailand Accelerator มุ่งเน้น ใน Batch 1 คือ สตาร์ตอัปด้าน Impact & Climate Tech , Software as a service (SaaS) , และกลุ่มเทคโนโลยีด้าน AI & Machine Learning

 

"กระบวนการ คือ รับสตาร์ตอัป 10 บริษัททั้งสตาร์ตอัปไทย ที่มีโอกาสขยายไปยังต่างประเทศได้ และสตาร์ตอัปต่างประเทศ ที่มองไทยว่าจะเป็นประตูให้เขาเข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะอีโคซิสเต็มที่ดีต้องมีความหลากหลาย ต้องมีสตาร์ตอัปจากหลายประเทศมาอยู่รวมกัน ไม่ใช่แค่ไทยอย่างเดียว"

 

ทั้งนี้ โครงการฯ จะช่วย 3 ด้าน คือ เชื่อมโยงกับนักลงทุน ช่วยเปิดตลาด และ ให้คำปรึกษาจาก Mentor ระดับโลกและเชื่อมโยงกับเครือข่าย โดยระยะเวลาในการดำเนินโครงการทั้งหมด 3 เดือน

 

“เป้าหมาย คือ อยากจะเห็นสตาร์ตอัปที่เข้ามาในโครงการโตขึ้นอย่างน้อย 2 เท่า และอยากจะเห็นนักลงทุนเข้ามาลงทุนจำนวนมากและรวดเร็ว สุดท้าย คือ อยากเห็นสตาร์ตอัปเหล่านี้สามารถระดมทุนต่อได้ในระดับ Series-A เป็นสิ่งที่อยากจะเห็นในระยะสั้น และในระยะยาว อยากเห็นเขาไปสู่ยูนิคอร์นหรือประสบความสำเร็จในแบบที่เขาเป็น" ชาล กล่าวทิ้งท้าย