เปิด 7 หลักสูตรสร้างโมเดลยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนติดตรา อย.
ผลิตภัณฑ์ชุมชนจากนครศรีธรรมราช (จำปาดะกวน ทุเรียนกวนห่อกาบหมาก ลูกหยีสามรส) ได้รับมาตรฐาน อย.ผลจากโมเดลขับเคลื่อนยกระดับสถานท่องเที่ยว และผลิตภัณฑ์โอทอปจากภูมิปัญญาท้องถิ่น ก้าวพ้นจุดอ่อนในเรื่องมาตรฐานหรือการรับรองคุณภาพ
ปัญหาหลักของผลิตภัณฑ์ชุมชน คือ มาตรฐานหรือการรับรองคุณภาพ หากสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการสร้างสรรค์จากภูมิปัญญาชุมชนไม่มีการรับรองคุณภาพ จะส่งผลให้การจำหน่ายสามารถทำได้ในวงจำกัด
ดังนั้น การยกระดับสินค้าชุมชนโอทอป ด้วยองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) จะช่วยให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กหรือผู้ประกอบการในชุมชนที่มีสินค้าอยู่แล้ว มีศักยภาพการแข่งขันเพิ่มขึ้น
ทำให้มีความจำเป็นยิ่งที่ต้องนำระบบมาตรฐานคุณภาพไปช่วยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ควบคู่กับการท่องเที่ยว เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม
ด้วยตระหนักถึงความสำคัญและตอบโจทย์ดังกล่าว กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
จึงจัดทำ “โครงการยกระดับมาตรฐานสถานท่องเที่ยวและมาตรฐานผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาไทยในภูมิภาคที่เชื่อมโยงและบูรณาการมหาวิทยาลัยราชภัฏภูมิภาค (มรภ.)”
กิจกรรมได้รับทุนสนับสนุนการดำเนินงานจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยเป็นการร่วมผนึกกำลังของ โครงการวิจัยการยกระดับศักยภาพการท่องเที่ยวชุมชนเชิงสร้างสรรค์ บนฐานภูมิปัญญาอาหารพื้นถิ่น เส้นทางท่องเที่ยวอ่าวไทย อันดามัน และพหุวัฒนธรรมชายแดนใต้
โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏภูมิภาคภาคใต้ และโครงการยกระดับมาตรฐานสถานท่องเที่ยวและมาตรฐานผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาไทยในภูมิภาค ที่เชื่อมโยงและบูรณาการ มรภ.ดำเนินการโดย วว.
มี นางปริยะดา วิสุทธิแพทย์ ผู้อำนวยการ สำนักสื่อสารองค์กร วว. เป็นหัวหน้าโครงการฯ มีพื้นที่ดำเนินโครงการครอบคลุม 10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอุดรธานี ลำปาง ราชบุรี เพชรบุรี นครศรีธรรมราช สตูล ปัตตานี นครปฐม อยุธยา และกรุงเทพฯ
การดำเนินงานมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์เด่น ที่เป็นผลิตภัณฑ์พื้นถิ่นของจังหวัด ครอบคลุมกลุ่มสินค้าอาหาร เครื่องดื่ม ของใช้ ของตกแต่งและของที่ระลึก ผ้าและเครื่องแต่งกาย และสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
1) เพื่อให้มีแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นอัตลักษณ์ ได้มาตรฐาน เป็นที่เชื่อมันแก่นักท่องเที่ยว
2) เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและมีมาตรฐานปลอดภัย
3) บูรณาการความร่วมมือกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) จำนวน 38 แห่ง ในการใช้ประโยชน์องค์ความรู้และโครงสร้างพื้นฐาน ในการพัฒนาต่อยอดงานวิจัย นวัตกรรม และมาตรฐานสู่การใช้ประโยชน์ทั้งภาคการผลิตและบริการ
โดยมีเป้าหมายการพัฒนา (Inclusive Growth) ในด้านเศรษฐกิจ (มูลค่าสินค้าเพิ่มขึ้น รายได้เพิ่มขึ้น และต้นทุนการผลิตลดลง) ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม (การจ้างงานชุมชน คุณภาพชีวิตดีขึ้น และลดมลพิษ) รวมทั้งกระจายผลประโยชน์สู่ชุมชนและขยายผลความสำเร็จสู่พื้นที่อื่นๆ ของประเทศต่อไป
วว. และ วช. ประสบผลสำเร็จในการขับเคลื่อนโครงการยกระดับมาตรฐานสถานท่องเที่ยวและมาตรฐานผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาไทยในภูมิภาคที่เชื่อมโยงและบูรณาการ มรภ. ผ่านโมเดลการดำเนินงาน 4 รูปแบบ คือ
1) สร้างการรับรู้ การมีส่วนร่วมกับ มรภ. และต่อยอดการยกระดับมาตรฐานสินค้าของผู้ประกอบการที่ได้รับการพัฒนาจาก มรภ.
2) จัดอบรมด้านระบบและมาตรฐานผลิตภัณฑ์
3) ยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน ด้วยการวิเคราะห์ทดสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์ (เพื่อสนับสนุนการยื่นขอการรับรองมาตรฐาน มผช. หรือ อย.) และยกระดับมาตรฐานการผลิตด้วยการตรวจประเมินสถานที่ผลิตและการรับรองระบบมาตรฐานการผลิต
4) ยกระดับแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นอัตลักษณ์ได้มาตรฐาน ด้วยการตรวจประเมินและรับรองมาตรฐานการท่องเที่ยว ตามมาตรฐานกรมการท่องเที่ยวและมาตรฐานฟาร์ม ตามมาตรฐาน GAP/ เกษตรอินทรีย์
การพัฒนาเชิงพื้นที่โดยบูรณาการเชื่อมโยงกับ มรภ. ภายใต้การดำเนินโครงการ บทบาทของ มรภ. ดำเนินการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ส่วน วว. ดำเนินการบริการและวิเคราะห์ทดสอบ ตามเกณฑ์มาตรฐานและวิเคราะห์ตามโภชนาการ รวมทั้งการยกระดับมาตรฐานเพื่อเข้าสู่ตลาด
จากการดำเนินงานของ วว. และ มรภ. พบว่า ผู้ประกอบการในพื้นที่ยังประสบปัญหาในการนำผลิตภัณฑ์สู่เชิงพาณิชย์
อาทิ ผลิตภัณฑ์ไม่มีมาตรฐาน อย.รองรับ ขาดเทคโนโลยีในการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้ได้จำนวนมาก ขาดการควบคุมคุณภาพการผลิต ขาดกระบวนผลิตที่สามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม คุณภาพวัตถุดิบไม่คงที่ และขาดเครื่องจักร อุปกรณ์ทุ่นแรงในการผลิต และสถานที่ผลิตยังไม่ได้มาตรฐาน เป็นต้น
จากปัญหาดังกล่าว วว. ได้บูรณาการความร่วมมือกับ มรภ. สามารถดำเนินโครงการจนประสบผลสำเร็จ ทำให้เกิดผลผลิตและผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม ดังนี้ จัดทำและอบรมด้านระบบและมาตรฐาน จำนวน 7 หลักสูตร อาทิ ระบบคุณภาพการผลิตอาหาร มาตรฐานผลิตภัณฑ์สมุนไพร มาตรฐานสินค้าเกษตร และมาตรฐานแหล่งท่องเที่ยว เป็นต้น
ผลิตภัณฑ์ชุมชนได้รับการวิเคราะห์ ทดสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์ (มผช. และอย.) จำนวน 27 ผลิตภัณฑ์ อาทิ ไอศครีมรสมะพร้าว กล้วยอบหนึบ ชาบัวแดง น้ำสัปประรด น้ำกุหลาบ หอยลายผัดกระเพรา และสบู่ถ่านชาโคล์ เป็นต้น
มีการเตรียมความพร้อมในการยื่นขอรับรองระบบคุณภาพการผลิตให้กับผู้ประกอบการ (Primary GMP /GMP) จำนวน 21 ราย อาทิ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวกลุ่มลูกไม้คีรีวง จ.นครศรีธรรมราช กลุ่มวิสาหกิจชุมชนและโฮมสเตย์บ้านเชียงแหว จ.อุดรธานี ไอติมโบราณลุงชวนตลาดน้ำคลองลัดมะยม กรุงเทพฯ กล้วยอบคุณแม่ เป็นต้น
ผลิตภัณฑ์ได้รับมาตรฐาน อย. จำนวน 3 รายการ ผลิตภัณฑ์จากจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้แก่ จำปาดะกวน ทุเรียนกวนห่อกาบหมาก ลูกหยีสามรส
และผู้ประกอบการโอทอปอยู่ระหว่าง ยื่นขอการรับรองระบบคุณภาพการผลิต ร้อยละ 30
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า การดำเนินงานบูรณาการเครือข่าย มรภ. และ วว. เป็นอีกผลลัพธ์จากการให้ทุนอุดหนุนการทำกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมจาก วช.
โดยการบูรณาการจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ที่จะนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการยกระดับความสามารถ เข้าไปช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต พัฒนาคุณภาพและผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น สร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่อย่างยั่งยืน
ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า วว. มุ่งพัฒนาต่อยอดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการยกระดับการพัฒนาด้านมาตรฐานการท่องเที่ยวและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ตามภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมทั้งมีความพร้อมในโครงสร้างพื้นฐานและห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านผลิตภัณฑ์และมาตรฐานการท่องเที่ยว เสริมสร้างความเข้มแข็งและขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนของประเทศ
การดำเนินงานโครงการยกระดับมาตรฐานสถานท่องเที่ยวและมาตรฐานผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาไทยในภูมิภาคที่เชื่อมโยงและบูรณาการ มรภ. เป็นความภาคภูมิของ วว. ที่ได้นำองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ ตลอดจนเทคโนโลยีที่เหมาะสม สู่การนำไปใช้ประโยชน์ให้กับประเทศ และเป็นโมเดลความสำเร็จในการขยายผลไปสู่ทุกภูมิภาคของไทยในระยะเวลาอันใกล้ต่อไป.