พลิกกลยุทธ์รับมือ ChatGPT | พสุ เดชะรินทร์
เมื่อ OpenAI บริษัท Startup จากอเมริกาเปิดตัว ChatGPT ซึ่งเป็น AI ที่สามารถตอบและสร้างเนื้อหาในรูปแบบของประโยคที่เสมือนคนตอบจริง หรือที่เรียกว่า Generative AI ก็ได้สร้างความตื่นตัวไปทั่วโลก บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลกก็ต้องพลิกกลยุทธ์กันเพื่อรับมือกับ ChatGPT
ผลกระทบแรกสุดจาก ChatGPT หนีไม่พ้น Search Engine ที่คาดว่าในอนาคต Generative AI จะเข้ามาทดแทนการค้นหาในรูปแบบปัจจุบัน เมื่อกดค้นหา แทนที่จะได้แค่ลิงค์ไปยังบทความหรือเนื้อหาที่เกี่ยวข้องเหมือนในอดีต ก็จะเป็นข้อความคำตอบในรูปแบบเนื้อหา ในลักษณะของ Chat Bot ที่สามารถสนทนาและได้รับคำตอบเลย
ในวงการเสิร์ชนั้น Google เป็นอันดับหนึ่งมาตลอด ส่วนแบ่งตลาดของ Google อยู่ที่ 90% ขึ้นไป คำว่า Google กลายเป็นคำสามัญที่เข้าใจโดยทั่วไป ถึงแม้ Microsoft จะมีเสิร์ชของตนเองที่ออกมาตั้งแต่ปี 2009 ในชื่อ Bing และไม่เคยได้มีส่วนแบ่งตลาดเกิน 4% มาเลย
ความสนุกเกิดขึ้น เมื่อ Microsoft เป็นผู้ลงทุนรายใหญ่สุดในบริษัท OpenAI ที่พัฒนา ChatGPT และได้ลิขสิทธิ์ในการใช้เทคโนโลยีของ OpenAI ขณะที่เจ้าตลาดอย่าง Google นั้น เมื่อ ChatGPT ประกาศตัว ก็มีข่าวลือว่าในระดับบริหารของ Google นั้นได้ส่งสัญญาณเตือนภัยระดับ Code Red กันเลยทีเดียว
Google เองก็มีการลงทุนและพัฒนาในด้าน AI มาหลายปี จนคิดว่าตนเองพอจะพลิกเกมได้ วันที่ 6 ก.พ. Sundar Pichai ก็โพสต์เพื่อแนะนำ Bard ซึ่ง Google ได้เร่งพัฒนาเพื่อสู้กับ ChatGPT
พอวันถัดมา (7 ก.พ.) Microsoft ก็เปิดตัว Bing โฉมใหม่ที่จะมีการนำเทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลัง ChatGPT มาผสมผสาน ในอนาคตเมื่อใช้ Bing ในการค้นหาข้อมูล
คำตอบที่ได้รับกลับมาจะไม่ใช่เพียงแค่ลิงค์ไปสู่แหล่งข้อมูลเท่านั้น แต่จะเป็นคำตอบที่เป็นประโยคที่เหมือนกับคนเขียน ซึ่ง Microsoft ยังแถลงว่าตัว AI ใน Bing ใหม่นั้น ยังพัฒนาขึ้นจาก ChatGPT ในปัจจุบัน
นอกจาก Bing แล้ว Microsoft ยังจะนำคุณสมบัติและเทคโนโลยีของ ChatGPT เข้าไปผสมผสานใน Edge ที่เป็น Web Browser ของตนเอง ทำให้เมื่อเปิดเว็บแล้ว AI จะช่วยสรุปข้อความในเว็บ รวมถึงช่วยเขียนอีเมลและข้อความที่จะโพสต์ลงสื่อสังคมออนไลน์ให้อีกด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น Microsoft ยังมีแผนที่จะนำ AI ไปใช้กับ Microsoft Office ของตนในอนาคตอีกด้วย
Satya Nadella ซีอีโอของ Microsoft ให้สัมภาษณ์ไว้ว่าที่ผ่านมา Google เป็นผู้นำในการเสิร์ช แต่จากนี้เป็นต้นไปการแข่งขันจะเริ่มต้นใหม่ ด้วยเทคโนโลยีใหม่ และผู้บริโภคที่จะมีตัวเลือกใหม่เพิ่มขึ้น
พอวันต่อมาคือ 8 ก.พ. Google ก็จัดแถลงข่าวเปิดตัวที่จะนำ Bard ที่เป็น AI ของตนเองเข้ามาผสมผสานใน Google Search Engine แต่ข่าวดังกล่าวก็ถูกกลบไปด้วยความผิดพลาดของข้อมูลที่ Bard แสดงออกมา จนทำให้ Google หน้าแตกและหุ้นตกไปพอสมควร
การเปิดตัวของ ChatGPT ทำให้สมรภูมิการแข่งขันในด้านเสิร์ชเปลี่ยนไป ผู้นำตลาดอย่าง Google ถือว่ามีแต่เสมอตัวและเสีย เพราะต่อให้รักษาความเป็นผู้นำไว้ได้ อย่างมากสุดก็ทำได้เท่าเดิม และเทคโนโลยีใหม่ ทำให้ Google ต้องกลายเป็นผู้ตาม ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่แปลกใหม่สำหรับ Google ขณะที่ผู้ตามที่ห่างมากอย่าง Microsoft มีแต่ได้กับได้
สำหรับอีกหนึ่งยักษ์ใหญ่อย่าง Meta นั้น สองสัปดาห์ก่อน ChatGPT เปิดตัว ก็ได้เปิด AI Chat Bot ของตนเองออกมาภายใต้ชื่อ Galactica แต่ต้องปิดตัวไปภายใน 3 วัน เนื่องจากข้อมูลที่ผิดพลาดอย่างมหาศาล ซึ่ง Meta คงไม่ยอมถูกทอดทิ้งจากขบวนรถด่วนนี้และคงจะต้องเร่งพัฒนาบริการของตนเองออกมาโดยเร็ว
ยิ่งน่าสนใจขึ้นไปอีก เมื่อบริษัทหลายแห่งจากจีน ประกาศที่จะพัฒนา ChatGPT ในรูปแบบของตนเองขึ้นมา เนื่องจากจีนนั้นยังปิดกั้นการเข้าถึง ChatGPT ดังนั้นบริษัทเทคโนโลยีของจีน จึงต้องพัฒนาของตนเองขึ้นมาใช้เอง ซึ่งสุดท้ายอาจจะเป็นข้อดีก็ได้ คือทำให้ได้ AI ที่ทัดเทียมหรือดีกว่า ChatGPT
สมรภูมิการแข่งขันในด้าน Generative AI ยังต้องเฝ้าจับตาต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลยุทธ์ของยักษ์ใหญ่ต่างๆ ทั้ง Microsoft, Google, Meta รวมทั้งบริษัทจากจีนด้วย ว่าในระยะยาวแล้ว ใครจะเป็นผู้ชนะจากสมรภูมิ
ทัศนะ มองมุมใหม่
รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
[email protected]