อิตาลี พัฒนา ‘โซลาร์เซลล์ล่องหน’ กลมกลืนกับสถาปัตยกรรมโบราณ
Invisible Solar Rooftile หลังคาโซลาร์เซลล์ล่องหน ถูกพัฒนาโดย บริษัท Dyaqua ประเทศอิตาลี เมื่อติดแล้วจะกลมกลืนไปกับต้นแบบกระเบื้อง ช่วยรักษาความสวยงามของสถาปัตยกรรมโบราณ และยังเป็นมิตรแก่สิ่งแวดล้อม
อิตาลีเป็นเมืองโดดเด่นเรื่องสถาปัตยกรรมโบราณ หลังคาส่วนที่ถูกออกแบบจะเป็นกระเบื้องดินเผาที่มีลักษณะเป็นสีส้ม ซึ่งแหล่งโบราณคดีและอาคารมรดกเหล่านี้ใช้พลังงานสูงมาก ทางการอิตาลีจึงต้องการลดใช้พลังงาน และเปลี่ยนไปเป็นการผลิตไฟฟ้าเป็นมิตรแก่สิ่งแวดล้อมมากขึ้น นั่นก็คือการใช้ “โซลาร์เซลล์”
แต่ทั้งนี้ ในส่วนของแผงโซลาร์เซลล์ที่นำมาใช้ในครัวเรือนทั่วไปนั้นจะมีลักษณะเป็นสีดำ หากนำมาติดไว้กับสถานที่โบราณก็จะทำให้ดูแปลกตา และขัดกับการออกแบบ บริษัท Dyaqua ของอิตาลีจึงพัฒนา “Invisible Solar” แผงโซลาร์เซลล์ที่มีลักษณะเหมือนกระเบื้องหลังคาต้นแบบ
เมื่อนำไปติดแล้วจะมีความกลมกลืนกับหลังคาแบบเดิม มองแล้วดูไม่ออกเลยว่ามีโซลาร์เซลล์ติดอยู่ โดยในปี 2019 ได้มีการนำร่องติดตั้งโซลาร์เซลล์ล่องหนนี้ที่เมืองปอมเปอี ผ่านโครงการ Smart Archaeological Park
สำหรับ Invisible Solar Rooftile เป็นกระเบื้องหลังคาสองชั้น สำหรับชั้นล่างจะประกอบด้วยแผงโซลาร์เซลล์ธรรมดา แต่ชั้นบนจะหุ้มด้วย “พอลิเมอร์” ที่มีลักษณะสีเหมือนกับกระเบื้องของหลังคาต้นแบบ คุณสมบัติของพอลิเมอร์จะปล่อยให้แสงแดดเข้ามาสร้างพลังงานได้ แม้ว่าจะถูกหุ้มด้วยหลังคาอีกชั้นก็ตาม
โดยโซลาร์เซลล์ล่องหนนี้สามารถผลิตพลังงานได้ประมาณ 25% หากเทียบกับโซลาร์เซลล์ธรรมดาจะผลิตได้น้อยกว่า หากแต่ก็พอจะช่วยในเรื่องของการลดพลังงานลงได้ แลกกับการคงรักษาความสวยงามของอาคารโบราณดั้งเดิม
ขณะเดียวกัน ทาางบริษัทกำลังทดลองระบบที่ใกล้เคียงกันโดยใช้วัสดุต่าง ๆ ที่มีลักษณะคล้าย ไม้ หิน หรือคอนกรีต เพื่อที่จะนำวัสดุเหล่านี้ไปใช้กับโบราณสถานอื่น ๆ ทั่วโลกต่อไป
Invisible Solar Rooftile ถือเป็นไอเดียที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม และการรักษาวัฒนธรรมให้ควบคู่ไปด้วยกันได้
อ้างอิงข้อมูล: edition