‘สนทนา’ AI อวตาร์ตอบคำถามอัตโนมัติ หนุนปฏิสัมพันธ์คน-หุ่นยนต์

‘สนทนา’ AI อวตาร์ตอบคำถามอัตโนมัติ หนุนปฏิสัมพันธ์คน-หุ่นยนต์

สนทนา (Sontana) แพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์ที่มาพร้อมกับฟังก์ชันการโต้ตอบอัตโนมัติโดยใช้ “อวตาร์” เป็นตัวกลางสื่อสาร เพียงแค่ซักถาม สนทนาจะตอบข้อสงสัยดังกล่าวด้วยเสียงอย่างเจนด้วยตัวเลือกทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

งานวิจัยชิ้นนี้พัฒนาขึ้นโดยทีมนักวิจัยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ที่ต้องการนำโนว์ฮาวเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ มาปฏิวัติวิถีการสื่อสารเนื่องจากปัจจุบันผู้คนมีปฏิสัมพันธ์กับเอไอมากขึ้น และยังตอบโจทย์สังคมที่มีประชากรผู้สูงอายุเป็นจำนวนมาก

คาดการณ์ว่าภายในปี 2025 ผู้คนทุกแห่งในโลกจะมีการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์รับส่งข้อมูลที่ใช้เอไอมากถึง 4,800 ครั้งต่อวันหรือคิดเป็นทุก 18 วินาที ดังนั้น การเกิดขึ้นของแพลตฟอร์มสนทนาถือเป็นหมุดหมายสำคัญที่พร้อมขับเคลื่อนระบบนิเวศเมือง

‘สนทนา’ AI อวตาร์ตอบคำถามอัตโนมัติ หนุนปฏิสัมพันธ์คน-หุ่นยนต์

อวตาร์โต้ตอบฝีมือคนไทย

อัษฎางค์ แตงไทย และชัยอนันต์ ดำรงรัตน์ นักวิจัยเนคเทค ผู้วิจัยและพัฒนา “สนทนา: Sontana” พัฒนาแพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์เชิงสนทนาพร้อมอวตาร์ (Conversational Avatar AI) ให้บริการตอบคำถามผ่านการสนทนาโต้ตอบแทนการพิมพ์ สามารถแปลงเสียงพูดภาษาไทย ออกมาเป็นข้อความตัวอักษรแบบไม่จํากัดเนื้อหา

การทำงานของสนทนารองรับข้อมูลเสียงป้อนเข้าแบบต่อเนื่อง (Streaming) กล่าวคือ สามารถโต้ตอบได้คล้ายมนุษย์พูดคุยกันทั่วไป โดยไม่จํากัดความยาวเสียง สามารถทําความเข้าใจคําถาม พร้อมค้นหาคําตอบที่ตรงกับความต้องการตามองค์ความรู้ที่สอนระบบ และแสดงท่าทางประกอบขณะพูดโต้ตอบ 

จุดเด่นของแพลตฟอร์ม

  1. แปลงเสียงพูดเป็นข้อความอัตโนมัติ มีความถูกต้องในการถอดความอยู่ที่ 80%
  2. เข้าใจคําถาม พร้อมค้นหาคําตอบที่ตรงกับความต้องการผ่านระบบ ประมวลผลภาษาอย่างเป็นธรรมชาติ
  3. สังเคราะห์เสียงพูดจากข้อความภาษาไทยและภาษาอังกฤษ พร้อมแสดงท่าทางผ่านอวตาร์โมเดลที่รองรับ 52 เบลนด์เชปของ ARKit
  4. เวลาในการตอบสนองไม่เกิน 5 วินาที หลังพูดจบ
  5. ปรับแต่งเนื้อหาให้เข้ากับลักษณะของงานได้

แพลตฟอร์มสนทนาสามารถนำไปใช้กับระบบปฏิบัติการ Windows, MAC OS และ Android อาทิ บราวเซอร์ chrome เวอร์ชัน 104.0.5112.81 หรือใหม่กว่า, บราวเซอร์ Firefox เวอร์ชัน 98.0.1, บราวเซอร์ Microsoft Edge เวอร์ชัน 104.0.1293.54 เป็นต้น 

‘สนทนา’ AI อวตาร์ตอบคำถามอัตโนมัติ หนุนปฏิสัมพันธ์คน-หุ่นยนต์

เอไอกับงานสื่อสาร

อัษฎางค์ อธิบายว่า ระบบดังกล่าวมีรากฐานมากจาก แพลตฟอร์มพาที (Partii) ระบบบริการถอดความเสียงภาษาไทย, อับดุล (Abdul) ระบบบริการโต้ตอบอัตโนมัติ และวาจา (VAJA) ระบบบริการสังเคราะห์ภาพและเสียงภาษาไทยผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

สนทนาเป็นการนำความรู้จากระบบเหล่านั้น มาประยุกต์และพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถให้เป็นเอไอตอบคำถามแบบเรียลไทม์ เพื่อใช้ในงานด้านสื่อสาร เช่น งานประชาสัมพันธ์ งานให้ข้อมูล ตอบคำถามกับผู้ที่ถามทาง หรือการนำไปใช้กับผู้สูงอายุและผู้พิการ

“เอไอสนทนาจะเข้ามาช่วยงานที่ไม่มีความซับซ้อน เพื่อลดภาระงานให้กับมนุษย์ พนักงานหรือเจ้าหน้าที่ที่คอยตอบคำถามง่ายๆ จะได้มีเวลาไปทำงานที่ยากและซับซ้อนขึ้นกว่าเดิม”

แพลตฟอร์มสนทนามีกลุ่มเป้าหมายคือ

  • กลุ่มธุรกิจและหน่วยงานที่ต้องการใช้ระบบตอบคําถามอัตโนมัติด้วยภาพและเสียง
  • กลุ่มบริษัทซอฟต์แวร์เฮาส์ที่ต้องการพัฒนาระบบตอบคําถามอัตโนมัติด้วยภาพและเสียง
  • กลุ่มผู้พิการที่ต้องการสิ่งอํานวยความสะดวกช่วยในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ซึ่งในขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงของการรอถ่ายทอดเทคโนโลยี

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้แพลตฟอร์มยังคงต้องพัฒนาและวิจัยเพิ่มเติมกันต่อไป ในอนาคตอาจมีการนำ “ChatGPT แชตบอตตอบคำถามอัจฉริยะ” มาประยุกต์ใช้กับระบบ เพื่อขยายฐานข้อมูลให้สามารถตอบคำถามผู้ใช้งานได้มากขึ้น

ชัยอนันต์ กล่าวว่า ปัญหาของวิจัยไทยคือการวิจัยแล้วจบแค่บนหิ้ง ไม่มีช่องทางต่อยอด ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ภาครัฐจะต้องเข้ามาช่วยผลักดัน สนับสนุนงบประมาณวิจัยเหล่านี้ เพื่อพัฒนาออกสู่ตลาด โดยเวที NAC2023 ถือเป็นเวทีที่สำคัญเพราะเปิดโอกาสให้นักวิจัยกับภาคเอกชนหารือธุรกิจร่วมกัน

‘สนทนา’ AI อวตาร์ตอบคำถามอัตโนมัติ หนุนปฏิสัมพันธ์คน-หุ่นยนต์

ผลักดันนวัตกรรมไทยสู่ตลาดโลก

สนทนา เป็นหนึ่งในผลงานวิจัยถูกจัดแสดงขึ้นในงาน การประชุมวิชาการ ประจำปี ครั้งที่ 18 (NAC2023)ระหว่างวันที่ 28-31 มี.ค.2566 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี  ภายใต้แนวคิด “สวทช. : ขุมพลังหลัก วทน. เร่งการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG สู่ความยั่งยืน”

ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า NAC2023 จะแสดงให้เห็นศักยภาพของนักวิจัยไทยที่พร้อมขับเคลื่อนประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี รวมถึงเปิดโอกาสให้นักลงทุนกับผู้เชี่ยวชาญได้เจอกัน เพื่อต่อยอดธุรกิจร่วมกัน

NAC2023 จะเป็นการเปิดโอกาสให้นักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญมาพูดคุยถึงเรื่องนวัตกรรมใหม่ ๆ ถือเป็นเวทีของการจับคู่ธุรกิจในหัวข้อที่สนใจจะพัฒนาความร่วมมือ ดังนั้น นอกจากได้เติมความรู้แล้วยังได้สัมผัสงานวิจัยของจริง พร้อมกับแลกเปลี่ยนมุมมองกับนักวิจัยเจ้าของผลงานอย่างใกล้ชิด วิจัยไทยต้องออกสู่ห้าง