จับกระแสอาเซียน Climate Tech | ต้องหทัย กุวานนท์

จับกระแสอาเซียน Climate Tech | ต้องหทัย กุวานนท์

กระแสการเติบโตของสตาร์ตอัปด้าน Climate Tech ในอาเซียนเริ่มจะส่อแววสดใส หลังเงินลงทุนจากกองทุนใหญ่ไหลเข้าจนแตะหนึ่งพันล้านดอลลาร์ครั้งแรกเป็นประวัติการณ์ โดยสามประเทศที่ครองแชมป์ได้รับเงินลงทุนสูงสุดยังคงเป็น สิงคโปร์ อินโดนีเซียและเวียดนาม

มูลค่าการลงทุนที่เพิ่มขึ้นถึงกว่า 80% ถือว่าเป็นการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ เพราะปัจจุบันเงินลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีที่ช่วยจัดการและลดผลกระทบของภาวะโลกร้อนในภูมิภาค

อาเซียนยังมีสัดส่วนน้อยเพียงแค่ 3% ของเงินลงทุนใน Climate Tech ทั่วโลก ทั้งๆ ที่อาเซียนติดอันดับภูมิภาคที่มีศักยภาพในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมากที่สุดของโลก 

ล่าสุดอาเซียนกำลังถูกจับตามองจากประชาคมโลกในเรื่องมาตรการการลดก๊าซเรือนกระจก เพราะถูกจัดว่าเป็นภูมิภาคที่ใช้พลังงานสูงเป็นอันดับสี่ของโลกและยังมีการใช้พลังงานจากฟอสซิล เช่น ถ่านหินปิโตรเลียมและแก๊สธรรมชาติมากถึงกว่า 83%

จับกระแสอาเซียน Climate Tech | ต้องหทัย กุวานนท์

ปัญหาใหญ่ในการขับเคลื่อน Climate Tech ในอาเซียน คือการทำให้เทคโนโลยีนวัตกรรมเกิดการใช้งานจริง บริษัท VC ระดับแนวหน้าที่อยู่ในสายการลงทุนด้าน Climate Tech อย่าง Wavemaker Impact

ที่มีสำนักงานใหญ่ที่สิงคโปร์ให้มุมมองว่า อาเซียนต้องการเงินลงทุนถึงกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์เพื่อสร้างเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำที่ตอบโจทย์และแก้ปัญหาภาพใหญ่ได้อย่างเป็นรูปธรรม 

ในปัจจุบัน กว่า 60% ของเงินลงทุนยังคงอยู่ที่กลุ่มเทคโนโลยีและโซลูชันเพื่อรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและการขับขี่อัตโนมัติ ซึ่งถ้ามองให้ดีเทคโนโลยีในกลุ่มนี้ยังส่งผลน้อยมากในการแก้ปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภูมิภาค 

กลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็นความท้าทายใหญ่ที่สุดในระดับประเทศและระดับภูมิภาคแต่ยังขาดเทคโนโลยีนวัตกรรมที่จะมาแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนก็คือ ภาคการเกษตร

จับกระแสอาเซียน Climate Tech | ต้องหทัย กุวานนท์

การใช้ประโยชน์จากที่ดินและการทำการเกษตรเป็นกิจกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับสูง ถึง 50% ของปริมาณคาร์บอนที่ปล่อยออกมาทั้งหมด การปรับตัวของภาคเกษตรให้เป็นเกษตรคาร์บอนต่ำจะพลิกโฉมระบบเกษตรให้เดินหน้าไปสู่การทำเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน

ในมุมมองของนักลงทุนสตาร์ตอัปด้าน Climate Tech ที่น่าสนใจกลุ่มแรกคือ กลุ่มที่พัฒนาโซลูชันเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับภาคเกษตรและอาหาร เพราะกลุ่มนี้คือตลาดสำคัญสำหรับอาเซียนและเป็นตลาดที่มีข้อจำกัด ทำให้สตาร์ตอัปต่างภูมิภาคยากที่จะเจาะเข้ามาได้ 

ความแตกต่างในด้านโครงสร้างของภาคเกษตรเช่น การมีเกษตรกรรายย่อยเป็นจำนวนมาก ขนาดของฟาร์มที่เป็นฟาร์มขนาดเล็กเฉลี่ยประมาณ 6-10 ไร่ เมื่อเทียบกับฟาร์มขนาดมาตรฐานระดับหลายร้อยไร่ในต่างประเทศ ทำให้โซลูชันจากต่างประเทศไม่สามารถนำมาใช้งานจริง

สตาร์ตอัปที่มีความพร้อมในการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้เพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืนให้กับเกษตรกรรายย่อยย่อมมีความได้เปรียบในการผลักดันโมเดลธุรกิจที่จะสามารถดึงดูดพันธมิตรและนักลงทุนได้ไม่ยากนัก 

สตาร์ตอัปกลุ่มที่สองที่เป็นที่จับตามองสำหรับ VC และ CVC ก็คือสตาร์ตอัปด้านการบริหารจัดการพลังงาน เพราะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาอาเซียนกลายเป็นภูมิภาคที่มีการใช้พลังงานเพิ่มสูงขึ้นกว่าภูมิภาคอื่นๆในโลก

การเร่งสร้างและกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในสตาร์ตอัปด้าน Climate Tech เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำคือโจทย์ใหญ่ของทั้งภาครัฐและเอกชนในอีก 3-5 ปีข้างหน้า และที่สำคัญเป้าหมายนี้มีโลกทั้งใบเป็นเดิมพัน