เอ็นไอเอเผย 'นโยบายนวัตกรรม' อีกวาระสำคัญนำชัยชนะสู่ผู้นำคนใหม่
เอ็นไอเอถอดบทเรียนจากผู้นำจากประเทศชั้นนำทั่วโลก ที่ประสบความสำเร็จจากการนำ นโยบายเชิงนวัตกรรม เรียกความเชื่อมั่นกับประชาชนจนได้รับชัยชนะ และมีโอกาสได้เข้าไปพัฒนาประเทศตามเป้าหมาย
นายพันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา นโยบายด้านนวัตกรรม เป็นประเด็นที่นักการเมืองหลายประเทศชั้นนำของโลกให้ความสนใจ ที่จะทำเป็นลำดับแรกหากได้รับเลือกตั้ง
นโยบายดังกล่าวมีส่วนสัมพันธ์กับทั้งอุตสาหกรรมเทคโนโลยีป้องกันประเทศ การสร้างความสามารถทางการแข่งขันของผู้ประกอบการ การเพิ่มรายได้มวลรวม รวมถึงการสร้างชาติให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าหลายประเทศชั้นนำทั้งยุโรป อเมริกา เอเชีย ล้วนได้รับการยอมรับจากการมีขีดความสามารถทางเทคโนโลยีที่สูง มีแบรนด์นวัตกรรมที่มีชื่อเสียง รวมทั้งเพิ่มและสร้างมูลค่าใหม่ให้กับคนในประเทศด้วยอุตสาหกรรมและธุรกิจใหม่ ๆ
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้จะเห็นได้ว่าผู้นำและว่าที่ผู้นำโลกหลายคนได้หยิบยกนโยบายด้านนวัตกรรมมาเป็นเครื่องมือเรียกความเชื่อมั่นจากภาคประชาชน
เช่น ปัญญาประดิษฐ์ ยานยนต์ไฟฟ้า ดิจิทัล พลังงานใหม่ บริการสุขภาพ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการจ้างงานที่มีค่าตอบแทนสูง และชีวิตที่สะดวกสบายยิ่งขึ้น
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของนโยบายด้านนวัตกรรม เช่น
จีนที่ทำอุตสาหกรรมส่งออกควบคู่กับอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ญี่ปุ่น ก็มีนโยบายนี้มาตั้งแต่ก่อนแพ้สงคราม และในปีที่ผ่านมาก็ได้ออกมาประกาศแนวทางฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ
ด้วยการส่งเสริมด้านนวัตกรรมของภาคเอกชนมากกว่าการเน้นนโยบายด้านการเงิน
สิงคโปร์ แม้นโยบายจะไม่ชัดเจนตอนหาเสียง แต่มีนโยบายนวัตกรรมผ่านกระทรวงการคลังในแต่ละปีอย่างชัดเจนว่าจะทำนวัตกรรมอะไร
เกาหลี กับการทำอุตสาหกรรมเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ซึ่งประสบความสำเร็จร่วมกับอินโดนีเซียในการทำเครื่องบินรบลำใหม่
ตุรเคีย ที่มีผู้นำค่อนข้างเข้มแข็งจนทหารไม่สามารถรัฐประหารได้สำเร็จ ซึ่งหากดูนโยบายพบว่ามีการเติบโตในภาคอุตสาหกรรมและนวัตกรรมค่อนข้างรวดเร็ว
อินเดีย ก็ต่อเรือบรรทุกเครื่องบินสำเร็จเป็นครั้งแรกจากนโยบายของนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีที่มีนโยบายพัฒนาห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมให้เกิดความสามารถทางด้านการผลิต
การสนับสนุนเมกะโปรเจกต์ในด้านเทคโนโลยีป้องกันประเทศ การผลักดันสตาร์ทอัพจนเกิดการสร้างงาน และทำให้อินเดียกลายเป็นประเทศด้านนวัตกรรมแล้วในทุกวันนี้
พันธุ์อาจ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะที่ประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมามีนโยบายมุ่งเน้นสร้างการเติบโตและพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมด้านอุตสาหกรรมอาหารและภาคการเกษตร หรือ BCG
บริษัทของไทยที่นำนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีเชิงลึกมาขับเคลื่อนอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่เติบโตในระดับโลกหมดแล้ว
เช่น บริษัทมิตรผล ผลิตน้ำตาลอยู่อันดับ 3 ของโลก บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ผลิตปลาทูน่ากระป๋องครองอันดับ 1 ของโลก และบริษัทไทยเบฟเวอเรจใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
แต่องค์กรเหล่านี้อาจยังไม่สามารถสะท้อนความเป็นชาติแห่งนวัตกรรมของไทยได้ทั้งหมด ซึ่งไทยยังต้องเร่งสร้างแบรนด์ระดับโลกที่ทำด้านนวัตกรรม
นโยบายทางการเมืองต้องมุ่งเน้นสิ่งนี้ให้มากขึ้น โดยยังต้องมองภาพใหญ่ก่อนว่านโยบายที่จะผลักดันเป็นนโยบายที่ควรส่งเสริมจริงหรือไม่ และจะนำนวัตกรรมมาช่วยสร้างการเติบโตให้อุตสาหกรรมใดต้องชัดเจน
ถ้าเป็นอุตสาหกรรมที่ไทยไม่เคยมีก็ต้องสร้าง หากอะไรที่โดดเด่นอยู่แล้วต้องส่งเสริมให้โดดเด่นในระดับโลกให้ได้
แม้ปัจจุบันไทยจะมีบริษัทขนาดใหญ่ด้านอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารที่เติบโตในระดับโลก แต่เรายังไม่ประสบความสำเร็จในการจารึกว่าบริษัทขนาดใหญ่ระดับโลกที่ทำนวัตกรรมด้านเกษตรและอาหารอยู่ในประเทศไทย
กลับถูกจารึกว่าเราคืออู่ข้าวอู่น้ำของโลก ต่างจากสวิตเซอร์แลนด์แม้จะเป็นประเทศขนาดเล็ก ไม่มีทางออกทะเล แต่กลับขายซอสแม็กกี้ไปทั่วโลก
นี่คือศักยภาพของการสร้างอาณาจักรธุรกิจด้วยนวัตกรรม แล้วค่อยมาลงที่ว่าจะแก้ปัญหาระยะสั้นอย่างไรด้วยนวัตกรรม ซึ่งเรื่องแรกตอบเรื่องของการแข่งขันทางการตลาด
ส่วนเรื่องหลังตอบความสามารถทางการแข่งขันที่ทำได้ หลายประเทศทำแบบนี้ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น อะไรที่เด่นอยู่แล้วต้องผลักดันให้เด่นในระดับโลกด้วย เอาเรื่องเด่นมาสู้เพื่อยกระดับความสามารถทางการแข่งขันหรือ Competitiveness
พันธุ์อาจ ระบุเพิ่มเติมว่า การคอร์รัปชัน เป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่คนไทยให้ความสนใจ เพราะสังคมมองว่าคนจนเพราะถูกคอร์รัปชัน
ดังนั้น นโยบายเชิงนวัตกรรมต้องแก้ปัญหาคอร์รัปชันและตอบคำถามเรื่องของประสิทธิภาพการทำงานของรัฐบาลได้ตั้งแต่การตรวจเงินแผ่นดิน การเอา Blockchain ไปใช้ ถ้ารัฐไม่ซื้ออุตสาหกรรมก็จะไม่เกิด
ปัจจุบันไทยไม่ได้ขาดฝั่งของผู้สร้างนวัตกรรม เพราะหากดูจาก Global innovation index (GII) จะเห็นว่า อัตราส่วนการลงทุนเรื่องวิจัยและนวัตกรรมโดยภาคเอกชนไทยติดอันดับ 1 ของโลก
นั่นคือเอกชนลงมากกว่ารัฐ สัดส่วนเอกชนลงไว้แล้วกว่า 80% อันตรายมากคือรัฐจ่ายน้อยลงเรื่อยๆ เอกชนจ่ายมากขึ้นยังไงเขาก็รอด อย่าบอกว่าเศรษฐกิจไทยจะไม่รอด รอดอยู่แล้ว แต่รอดในมือของบริษัทขนาดใหญ่
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งขยะทะเล ฝุ่นควัน PM 2.5 รถติด ปัญหาอุณหภูมิ ทะเลเปลี่ยน น้ำทะเลกัดเซาะ ทำให้การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ (Net Zero) เป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ทุกภาคส่วนหันมาให้ความสำคัญ
แต่การใช้ชีวิตของคนในปัจจุบันยังเคยชินกับการสั่งดิลิเวอรี่ ทำให้ขยะเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวต่อวัน การผลักดันให้ใช้รถ EV ไม่สามารถช่วยลดปัญหาฝุ่นควันได้ แม้ในอนาคตพื้นที่ กทม. จะใช้รถ EV สูงถึง 80% ฝุ่นควันก็ไม่หาย
มีกรณีศึกษาว่าการใช้รถไฟฟ้าไม่ได้หมายความว่า PM 2.5 จะลด เพราะว่าคุณยังใช้ถนนในการเดินทางเหมือนเดิม ปัญหา climate change จึงเป็นเรื่องใกล้ตัวทุกคน แต่ไกลตัวจากมุมที่ว่าจะต้องเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตยังไง
เพราะฉะนั้นปัญหาสภาพแวดล้อมเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องเร่งแก้ไขด้วยเช่นเดียวกัน
"ในฐานะของหน่วยงานเพื่อการส่งเสริมระบบนวัตกรรมแห่งชาติ อยากเห็นการนำเสนอนโยบายที่นำนวัตกรรมเป็นตัวตั้งอย่างแท้จริง อยากเห็นแคนดิเดต Innovation Minister ที่ไม่ใช่ทีมเศรษฐกิจทั่วไปมาแสดงจุดยืนและเจตนารมณ์ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี
ซึ่งเป็นอีกวาระสำคัญระดับชาติ อยากให้แต่ละพรรคลองสมมติบทบาทเสมือนว่าเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงนวัตกรรม แล้วลองดูว่าระบบที่มีอยู่เวิร์คหรือไม่ และจะดำเนินการอย่างไรต่อ
รวมถึงหากเข้ามาในสภาได้แล้วอีก 4 ปีจะเปลี่ยนแปลงประเทศด้วยนวัตกรรมอย่างไร หรือจะให้นวัตกรรมช่วยขับเคลื่อนประเทศไปอยู่อันดับไหนของโลก โดยการดีเบต
ไม่เพียงแต่เป็นการแข่งขันหรือช่วงชิงคะแนนเท่านั้น แต่ยังเกิดประโยชน์ในมิติของประชาชนที่อาจจะได้แนวคิดไปพัฒนาธุรกิจ หรือทักษะความสามารถ ประโยชน์ต่อองค์กรธุรกิจ รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐอื่นในการกำหนดนโยบายและแผนเชิงรุกเพื่อนำพาประเทศไปสู่จุดที่สูงขึ้น”