บริการจัดงานสมรสบนอวกาศ ด้วยบอลลูน Spaceship Neptune
บริษัทอวกาศ สเปซ เพอร์สเปกทีฟ (Space Perspective) เตรียมเปิดตัว ‘บริการจัดงานวิวาห์’ บนอวกาศ ครั้งแรกของโลก ซึ่งจะเดินทางด้วยยานอวกาศออกแบบคล้ายกับบอลลูนชื่อ สเปซ เนปจูน (Spaceship Neptune)
เจน พอยน์เตอร์ (Jane Poynter) ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท สเปซ เพอร์สเปกทีฟ (Space Perspective) แถลงว่า บริษัทของตนอาจเป็นผู้ให้บริการจัดงานสมรสในอวกาศเจ้าแรกของโลก ซึ่งได้ออกแบบยานอวกาศชื่อ สเปซ เนปจูน (Spaceship Neptune) รูปทรงภายนอกคล้ายกับบอลลูน รองรับคู่แต่งงานที่จะเดินทางท่องเที่ยวอวกาศในครั้งนี้
สเปซ เพอร์สเปกทีพ เป็นบริษัททำการท่องเที่ยวด้านอวกาศจากประเทศสหรัฐอเมริกา โดยยานเนปจูนถูกออกแบบให้เป็นยานที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน กล่าวคือ ยานนี้ใช้เทคโนโลยีการลอยตัวสูงขึ้นจากพื้นโลกด้วยบอลลูนอวกาศ ขับเคลื่อนตัวก๊าซไฮโดรเจนหมุนเวียน ต่างกับการใช้จรวดและระบบขับเคลื่อนอื่นๆ ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก
“ยานอวกาศเนปจูนได้รับการพัฒนาให้เป็นยานอวกาศที่สามารถเข้าถึงได้มากที่สุด ยั่งยืนที่สุด และปลอดภัยที่สุดไม่ว่าจะลอยอยู่บนพื้นโลกหรือในอวกาศก็ตาม ภายในยานประกอบด้วย ระบบการลอยตัวด้วยบอลลูนอวกาศ (สเปซบอลลูน) ระบบการลงจอดสำรอง และแคปซูลห้องโดยสารเนปจูน” พอยน์เตอร์ กล่าว
นอกจากนี้ พอยน์เตอร์ยังอธิบายเสริมอีกว่า เนปจูนมีความแตกต่างจากยานอวกาศอื่นๆ เนื่องจาก พื้นที่ห้องโดยสารจะแยกตัวจากตัวจรวดขับเคลื่อน ระหว่างกำลังเดินทางพุ่งทะยานสู่อวกาศ ซึ่งแคปซูลโดยสารยานเนปจูนจะเชื่อมต่อกับบอลลูนอวกาศตลอดการเดินทางเหนือพื้นโลก ทำให้การเดินทางปลอดภัยและราบรื่น
เนปจูนจะลอยตัวสู่ชั้นบรรยากาศสตราโทสเฟียร์อย่างช้าๆ ด้วยความเร็ว 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ที่ระดับความสูง 32 กิโลเมตร ซึ่งเป็นเหมือนเส้นคั่นกลางระหว่างโลกและอวกาศ สัมผัสวิวขอบฟ้าของโลกและยังสามารถชมแสงเหนือบนขอบอวกาศ เพื่อสร้างประสบการณ์ที่น่าจดจำ
แคปซูลห้องโดยสารเนปจูนเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมแก่การจัดงานสมรส เพราะถูกออกแบบเป็นห้องโดยสารที่มีความเป็นห้องโถงกว้างขวาง ประกอบไปด้วยความสะดวกสบาย สำหรับผู้โดยสารทั้งหมด 9 คน (รวมนักบิน 1คน) พร้อมด้วยที่นั่งคุณภาพ
อย่างไรก็ตาม ทางทีมผู้สร้างมีการปรับระดับความกดดันอากาศอย่างเหมาะสม ผู้โดยสารหรือแขกภายในงานจึงสามารถร่วมฉลองกับคู่แต่งงานอย่างไร้กังวล และยานเนปจูนยังมีบริการสัญญาณไวไฟตลอดเที่ยวบิน เพื่อให้สามารถติดต่อถึงผู้คนบนโลกแบบเรียลไทม์ได้
สำหรับการลงจอดบนพื้นโลก เนปจูน มีระบบการลงจอดสำรอง หรือร่มชูชีพจำนวน 4 ชุดที่ได้รับการติดตั้งระหว่างแคปซูลห้องโดยสารและบอลลูนอวกาศ ทำให้มั่นใจได้ว่าจะลงจอดอย่างปลอดภัย
ทั้งนี้ ยานเนปจูนเคยถูกทดสอบบอลลูนอวกาศครั้งแรกในปี พ.ศ. 2564 ที่ศูนย์อวกาศเคนเนดี รัฐฟลอริดา ประเทศอเมริกาอีกด้วย
“บอลลูนของเราเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการพิสูจน์แล้ว ซึ่งทีมงานใช้เทคโนโลยีดังกล่าวปฏิบัติภารกิจต่างๆ ร่วมกับ องค์การนาซา (NASA) และหน่วยงานของรัฐอื่นๆ อาทิ การยกกล้องโทรทรรศน์สำหรับการวิจัยและเครื่องมือที่มีน้ำหนักและความเปราะบางอื่นๆ มาเป็นเวลาหลายทศวรรษ” พอยน์เตอร์ ชี้จุดสรุป
อ้างอิง: interestingengineering spaceperspective