สิ่งนี้ขาดไม่ได้ 'มาตรวิทยา' เบื้องหลังความแม่นยำเที่ยงตรง

สิ่งนี้ขาดไม่ได้ 'มาตรวิทยา' เบื้องหลังความแม่นยำเที่ยงตรง

หลายๆ ชาติที่พัฒนาแล้วตระหนักดีว่า ระบบมาตรวิทยาที่เป็นสากลให้การรับประกันที่จำเป็นและความมั่นใจว่า มีมาตรฐานการวัด ที่ถูกต้อง แม่นยำ เที่ยงตรง เป็นพื้นฐานที่ดีสำหรับการค้าในปัจจุบัน และช่วยให้เราเตรียมพร้อมสำหรับความท้าทายในอนาคต

สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.)จัดงานครบรอบ 25 ปี ภายใต้แนวคิด“มาตรวิทยาเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร ครัวไทยสู่ครัวโลก” แสดงศักยภาพด้าน "ชั่ง ตวง วัด" ของประเทศไทยที่ไม่แพ้ชาติใดในโลก และพร้อมที่จะสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้มีความเข้มแข็งในเรื่องของมาตรฐานในระดับสากล 

สอดรับกับแคมเปญ Measurements supporting the global food system หรือ การวัดเพื่อสนับสนุนระบบอาหารของโลก เนื่องในวันมาตรวิทยาโลก ประจำปี 2566  มีแนวคิดมาจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ที่มีผลต่อความมั่นคงทางอาหารของประชากรทั่วโลกที่มีถึง 8 พันล้านคนในปัจจุบัน

มาตรวิทยาเป็น 1 ใน 5 องค์ประกอบของ “โครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ” (National Quality Infrastructure หรือ NQI)

มาตรวิทยาไทยทัดเทียมมาตรฐานสากล

Metrology หรือ มาตรวิทยา หมายถึง วิทยาศาสตร์ของการวัด (science of measurement) จึงมีวัตถุประสงค์ในการทำให้การวัด (measurement) มีความแม่นยำและเที่ยงตรง

และผลการวัด (measurement result) ไม่ว่าจะกระทำที่ใด เมื่อใด หรือโดยผู้ใดสามารถเปรียบเทียบกันได้ และผลการวัดสามารถนำไปใช้งานได้ตามความมุ่งหมายที่ตั้งไว้

หลายๆ ชาติที่พัฒนาแล้วตระหนักดีว่าระบบมาตรวิทยาที่เป็นสากลให้การรับประกันที่จำเป็นและความมั่นใจว่าการวัดมีความถูกต้อง เป็นพื้นฐานที่ดีสำหรับการค้าในปัจจุบัน และช่วยให้เราเตรียมพร้อมสำหรับความท้าทายในอนาคต

พล.ต.ท.นายแพทย์พรชัย สุธีรคุณ ผู้อํานวยการสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) กล่าวว่า เวลา 25 ปีที่ได้ร่วมขับเคลื่อนระบบโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ

 

สถาบันฯ ทําหน้าที่หลักในการกําหนดมาตรฐานของประเทศให้ทัดเทียมกับมาตรฐานสากล โดยได้รับการยอมรับจากผู้ใช้บริการทั้งภายในและภายนอกประเทศ

สิ่งนี้ขาดไม่ได้ \'มาตรวิทยา\' เบื้องหลังความแม่นยำเที่ยงตรง

ห้องปฏิบัติการ มว.ได้รับการรับรองระบบคุณภาพตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025 และ ISO 17034 ครอบคลุมขอบข่ายการให้บริการที่หลากหลายสาขาเพื่อรองรับความต้องการของประเทศ

ข้อมูลในปี 2565 พบว่าบริการทางการวัดจากสถาบันฯ ช่วยลดของเสียจากกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมอาหารได้ถึงร้อยละ 57 และลดต้นทุนในการทดสอบผลิตภัณฑ์ลงได้ร้อยละ 70

ปัจจุบัน มว. ให้บริการทางการวัดสําหรับเครื่องมือวัดมาตรฐานทั้งภายในและภายนอกประเทศ มากกว่า 3,700 เครื่อง มีวัสดุอ้างอิงรับรอง (Certified Reference Material;CRM) ไม่น้อยกว่า 730 รายการ มีบริการให้คําปรึกษาทางมาตรวิทยาที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหารไม่น้อยกว่า 80 รายการ

ล่าสุด มว.ประสบความสำเร็จในการพัฒนา CRM ในกระชายขาวที่ได้มาตรฐานเป็นรายแรกของโลก เพื่อหาสารสำคัญคือ พิโนสโตรบิน (pinostrobin) ความสำเร็จนี้สามารถลดปริมาณการนำเข้า CRM ที่มีราคาสูงกว่า 2-3 เท่า

รวมทั้งลดเวลาการขนส่ง ซึ่งโดยปกติอาจใช้เวลา 60-90 วัน และยังเป็นจุดตั้งต้นให้ภาคเอกชนหันมาลงทุนห้องปฏิบัติการมาตรฐาน ISO/IEC 17025 เพื่อให้บริการด้านตรวจวิเคราะห์มากยิ่งขึ้นอีกด้วย

นอกจากนี้ มว.ยังอยู่ระหว่างการพัฒนา “CRM แอนโดรกราโฟไลด์” ของฟ้าทะลายโจร ซึ่งเป็นตัวแม่สมุนไพรในยุคโควิดระบาด เพื่อทดสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์แคปซูลในท้องตลาด ให้ได้ปริมาณสารที่เหมาะสมคือ180 มิลลิกรัมต่อวัน ในการรักษาโรคตามที่กรมการแพทย์กำหนด จึงช่วยปัดข้อสงสัยว่าผู้บริโภคได้รับปริมาณสารสำคัญครบหรือไม่

สิ่งนี้ขาดไม่ได้ \'มาตรวิทยา\' เบื้องหลังความแม่นยำเที่ยงตรง

โจทย์ระบบตรวจรับรองอาหารไทย

เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 กล่าวถึงความจำเป็น ที่ประเทศจะต้องมีระบบมาตรวิทยาที่มีสมรรถนะ และได้รับการยอมรับจากนานาอารยประเทศ

มว.ก็ได้ดำเนินการต่างๆ หลายขั้นตอน จนวันนี้สามารถกล่าวได้อย่างเต็มภาคภูมิว่า ระบบมาตรวิทยาของประเทศไทยเข้มแข็ง โดยได้รับการยอมรับจากอุตสาหกรรมในประเทศ และการยอมรับตามข้อตกลงยอมรับร่วมระหว่างประเทศ

ทำให้สินค้าที่ผลิตในไทยที่ใช้โครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศไทย สามารถส่งไปขายและแข่งขันกับสินค้าที่ผลิตจากประเทศอื่นได้ทั่วโลก ยกตัวอย่างในเรื่องการผลิต probiotics และสารปรุงแต่งอาหารคุณภาพสูงใช้เองในประเทศ

"ประเทศไทยของเรามีทรัพยากรมาก มีทุนทางวัฒนธรรมมหาศาล และผู้คนมีจินตนาการสูง ผมเชื่อว่าเรามีศักยภาพที่จะนำสิ่งต่างๆ ที่เรามีมาผสมผสานกัน เพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่มีคุณค่าและมูลค่ายิ่งขึ้นให้แก่โลกและให้แก่เรา

ผมเชื่อว่าเราสามารถส่งมอบระบบอาหารที่คนปลูก คนปรุง คนขายและคนกินล้วนมีความสุขและสุขภาพดี ในขณะเดียวกันธรรมชาติก็มีความสุขและสุขภาพดีด้วย”

รมว.อว.กล่าวอีกว่า ประเทศไทยควรจะมีระบบตรวจวัดอาหารไทย จึงเป็นโจทย์มอบให้ มว.ดำเนินการขบคิดและหารือกับผู้ที่อยู่ในแวดวงอาหารในเรื่องคุณลักษณะ รสชาติและองค์ประกอบอื่นๆ

เช่น อาจจะตรวจวัดจากเครื่องเทศที่จำเป็นอย่างตะไคร้ ข่า กระเทียม เพื่อที่จะใช้เป็นมาตรฐานชี้วัด และที่สำคัญก็เพื่อป้องกันการปลอมแปลง ลอกเลียนหรือแอบอ้างว่าเป็นอาหารไทย โดยสามารถยืนยันว่าอาหารไทยไม่ว่าจะอยู่จุดใดก็โลกก็คืออาหารไทย ที่ชาติอื่นใดจะแอบอ้างไม่ได้.