ชวนรู้จัก ‘ฟาร์มมิล’ แพลนต์เบสโยเกิร์ตเจ้าแรกของไทย ชูโรงถั่วชิกพี-ถั่วลันเตา
“ฟาร์มมิล” สตาร์ตอัปด้านฟู้ดเทควิจัยและพัฒนาแพลนต์เบสโยเกิร์ตจาก “ถั่วชิกพีและถั่วลันเตา” ตั้งเป้าเจาะตลาดเรดดี้ทูอีท ประกาศพร้อมส่งขึ้นเชลฟ์ ส.ค. นี้เป็นรายแรกในไทย
Key Points:
- สตาร์ตอัปด้านฟู้ดเทควิจัยและพัฒนาแพลนต์เบสโยเกิร์ต ผลิตจากโปรตีนทางเลือกที่ใช้วัตถุดิบจากถั่วชิกพีและถั่วลันเตา
- Euro Stat ระบุว่าปี 2565 ตลาดแพลนต์เบสทั่วโลกอยู่ที่ 44,200 ล้านดอลลาร์ ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงไทย ประเมินว่าตลาดแพลนต์เบสในประเทศไทย ปี 2567 จะมีมูลค่าอยู่ที่ 45,000 ล้านบาท หรือโตเฉลี่ยที่ 10% ต่อปี
ฟาร์มมิล (Farmille) สตาร์ตอัปด้านฟู้ดเทควิจัยและพัฒนาแพลนต์เบสโยเกิร์ต ผลิตจากโปรตีนทางเลือกที่ใช้วัตถุดิบจาก “ถั่วชิกพี” (ถั่วลูกไก่) และ “ถั่วลันเตา” ปลอดจากนมและถั่วเหลือง 100% สร้างผลิตภัณฑ์ทางเลือกให้กับผู้ที่แพ้น้ำตาลแลคโตสในนมและแพ้โปรตีนในเมล็ดถั่วเหลือง ประกาศพร้อมส่งขึ้นเชลฟ์ ส.ค. นี้เป็นรายแรกในไทย
ก่อนหน้านี้ ฟาร์มมิลโยเกิร์ตได้ทดสอบตลาดในงาน THAIFEX ANUGA ASIA 2023 และได้รับรางวัล Finalist Innovative Product 2023 คาดการณ์ว่าในปี 2567 ตลาดแพลนต์เบสในประเทศไทยจะมีมูลค่าสูงถึง 4.5 หมื่นล้านบาท
โยเกิร์ตแพลนต์เบส
นอกจากเทรนด์การรับประทานเพื่อสุขภาพ อย่างกลุ่มโปรตีนทางเลือกหรือแพลนต์เบสกำลังเป็นที่นิยมแล้ว อาหารพร้อมทาน (Ready to eat) ก็กำลังเป็นที่นิยมในเมืองหลวงที่ผู้คนมีความเร่งรีบ ต้องการทานอะไรที่สะดวกและรวดเร็วแต่ยังคงประโยชน์แก่ร่างกายอยู่เช่นเดียวกัน
ประเทศไทยยังไม่มีโยเกิร์ตที่มาจากโปรตีนทางเลือก จึงเป็นโอกาสให้กับโยเกิร์ตที่ใช้วัตถุดิบจาก “ถั่วชิกพี” และ “ถั่วลันเตา” ที่นิยมรับประทานกันมากในแถบเมดิเตอร์เรเนียนและภูมิภาคตะวันออกกลาง มาเป็นส่วนประกอบหลัก โดยให้โปรตีนแก่ร่างกาย 10 กรัม ต่อ 1 หน่วยบริโภค
เกียรติ์ภสิท โชติกะพุกกณะ ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งฟาร์มมิล กล่าวว่า จากการศึกษาข้อมูลเชิงลึก พบว่า ผู้บริโภคคนไทยราว 1 ใน 4 หรือประมาณ 17-18 ล้านคน มีรูปแบบการบริโภคแบบ Flexitarian หรือการรับประทานมังสวิรัติเป็นครั้งคราว เนื่องจากต้องการดูแลสุขภาพและควบคุมน้ำหนัก
นอกจากนี้ คนไทยเกินครึ่ง หรือกว่า 34 ล้านคน เป็นภาวะย่อยน้ำตาลแลคโตสบกพร่อง (lactose intolerance) ทำให้เมื่อรับประทานผลิตภัณฑ์จากนมแล้วเกิดอาการแน่นท้อง ท้องอืด คลื่นไส้ อาเจียนและท้องเสีย จึงเป็นที่มาของการคิดค้นฟาร์มมิลโยเกิร์ต เพื่อเปิดโอกาสทางอาหารให้คนไทยทั้งเด็กและผู้ใหญ่ที่ต้องการหาผลิตภัณฑ์ทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์หรือนม
"อินเดียนิยมรับประทานถั่วชิกพี ซึ่งถูกนำไปเป็นส่วนผสมในอาหารหลายชนิด เช่น สลัด ซุป สตูว์ แกงกะหรี่ หรือฮูมูส (ดิปปิ้งที่รับประทานกับแป้ง) ขณะที่คนไทยรู้จักถั่วชนิดนี้ในชื่อ “ถั่วลูกไก่” เหตุที่เลือกใช้ถั่วทั้งสองชนิดนี้ เพราะมีโปรตีนสูง ค่าน้ำตาลต่ำ
เมื่อนำมาผ่านกระบวนการแบบพิเศษทำให้ได้โยเกิร์ตที่มีเนื้อสัมผัสเข้มข้นและรสชาติอร่อย เพราะรสชาติถือเป็นกุญแจที่สําคัญต่อการซื้อซ้ำในตลาดอาหารเพื่อสุขภาพ” เกียรติ์ภสิท กล่าว
กลยุทธ์ทางการตลาด
เนื่องจากเป็นสินค้าใหม่ในตลาด ฟาร์มมิลจึงมีทั้งโอกาสและความท้าทาย ทั้งยังมองหาพาร์ตเนอร์ใหม่ๆ เพื่อทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักมากขึ้น ทั้งนี้ จากการไปออกบูธที่ THAIFEX ANUGA ASIA 2023 งานแสดงสินค้าอาหารที่สำคัญและใหญ่ที่สุดในเอเชีย และได้รับรางวัล Finalist Innovative Product 2023 ทำให้ผลิตภัณฑ์ได้รับความสนใจจากนักลงทุนไทยและต่างชาติ
ทั้งนี้ ฟาร์มมิลจะวางขายอย่างเป็นทางการในเดือน ส.ค. 2566 และมุ่งทำการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยในประเทศจะจำหน่ายที่ร้านสุขภาพ Health Shop และ Supermarket รวมถึงแพลตฟอร์มออนไลน์ B2B มีการขนส่งไปยังต่างจังหวัดอีกด้วย
ฟาร์มมิลไม่หยุดพัฒนาสินค้าของตนเอง คาดว่าจะแตกไลน์ผลิตภัณฑ์อื่นๆ ในกลุ่มรักสุขภาพ แต่ยังคงความเป็นแพลนต์เบสไว้ เช่น เจลลี่แพลนต์เบส หรือนมแพลนต์เบส
สำหรับแพลนต์เบสเป็นอาหารที่ผลิตจากพืชเป็นหลัก กลายมาเป็นทางเลือกของคนที่ต้องการอาหารที่มีคุณค่า แต่ไม่ต้องการทานหรือเบียดเบียนเนื้อสัตว์ เริ่มเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมขึ้นในเมืองไทยเมื่อ 4-5 ปีก่อน
โดยเริ่มจากผู้ประกอบการรายเล็กไปสู่ผู้ประกอบการรายใหญ่ แต่ว่าปัจจุบันนี้บริษัทขนาดใหญ่ทางด้านอาหาร ได้หันมาสนใจผลิตสินค้าประเภทนี้มากขึ้น
จากตัวเลขของ Euro Stat ระบุว่าปี 2565 ตลาดแพลนต์เบสทั่วโลกอยู่ที่ 44,200 ล้านดอลลาร์ ส่วนในประเทศไทยอยู่ที่ 40,000 ล้านบาท ขณะที่ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงไทย ประเมินว่าในประเทศไทย ปี 2567 จะมีมูลค่าอยู่ที่ 45,000 ล้านบาท หรือโตเฉลี่ยที่ 10% ต่อปี
‘โปรตีนสูง’ จุดเด่นฟาร์มมิล
จุดเด่นของฟาร์มมิลโยเกิร์ตคือ เป็นรายแรกในตลาดที่ผลิตโยเกิร์ตแพลนต์เบส และให้โปรตีนสูง 10 กรัมต่อ 1 หน่วยบริโภค อ้างอิงจาก Thai Recommended Daily Intakes (Thai RDI) ขณะที่ตัวสินค้านอกจากจะอยู่ในรูปแบบ Ready to eat ได้แล้ว ยังสามารถนำไปประกอบอาหารเพื่อความหลากหลาย ไม่จำเจในเมนูอาหาร นี่ถือเป็นจุดเด่นของเรา
ปัญชลี พัฒนิบูลย์ นักวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหาร หัวหน้าทีมวิจัย ฟาร์มมิลโยเกิร์ต กล่าวเสริมว่า ถั่วชิกพีเป็นที่รู้จักมาอย่างยาวนานในแถบเมดิเตอร์เรเนียน เนื่องจากในแถบตะวันออกกลางและอินเดียนิยมนำถั่วชนิดนี้มาประกอบอาหารหลากหลายเมนูทั้งอาหารคาวหวาน
ถั่วชิกพีอุดมไปด้วยวิตามิน แร่ธาตุ และมีกรดอะมิโนที่จำเป็น มีใยอาหารสูง อุดมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ เมื่อผสานกับคุณประโยชน์ของถั่วลันเตาแล้วได้เป็นโยเกิร์ตที่มีโปรตีนสูง ซึ่งเป็นสารอาหารสำคัญที่มนุษย์เราขาดไม่ได้