งานที่สร้างโดย AI มีลิขสิทธิ์หรือไม่ | สกล หาญสุทธิวารินทร์
มีข้อพิจารณาว่าผลงานที่สร้างสรรค์โดยหุ่นยนต์หรือปัญญาประดิษฐ์ เช่น นิยาย บทเพลง ภาพเขียน บทความ เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์หรือไม่ และใครเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์
ผู้สร้างสรรค์งานศิลปกรรม วรรณกรรม ดนตรีกรรม นาฏกรรม ตลอดจนคิดค้นโปรแกรมคอมพิวเตอร์และงานอื่นๆ ในลักษณะเดียวกัน ผู้สร้างสรรค์จะเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในผลงานนั้น
ตามหลักการของกฎหมายลิขสิทธิ์ของแต่ละประเทศที่มีหลักการสำคัญคล้ายกัน โดยเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ทันทีเมื่อสร้างผลงานเสร็จ ซึ่งไม่ต้องมีการจดทะเบียน เว้นแต่ต่บางประเทศอาจกำหนดให้มีการจดแจ้งก่อน
การเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในผลงานที่ตนสร้างสรรค์ขึ้น จะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์ คือเป็นผู้มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการทำซ้ำ ดัดแปลง เผยแพร่ จัดแสดง อนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิ ให้เช่าฯ
ปัจจุบันเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มีความเจริญก้าวหน้ามากขึ้น ที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น สร้างเป็นหุ่นยนต์หรือเครื่องจักรที่เรียกกันว่า Artificial Intelligence : AI หรือปัญญาประดิษฐ์
AI ไม่ได้เป็นแค่เครื่องมือของมนุษย์เท่านั้น แต่ได้รับการพัฒนาจนสามารถเรียนรู้เรื่องต่างๆ ตามที่นักเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ป้อนข้อมูลการเรียนรู้เข้าไป
จนมีความสามารถสร้างสรรค์ผลงานด้านศิลปะต่างๆ ตามที่เรียนรู้จากข้อมูลที่ถูกป้อนเข้าไป เช่น แต่งนิยาย เขียนบทกวี แต่งเพลง สร้างภาพเขียน
ปัญหาการตีความตามกฎหมายลิขสิทธิ์
มีข้อพิจารณาว่าผลงานที่สร้างสรรค์โดยหุ่นยนต์หรือปัญญาประดิษฐ์ เช่น นิยาย บทเพลง ภาพเขียน บทความ เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์หรือไม่ และใครเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์
กฎหมายลิขสิทธิ์ของไทย
ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ซึ่งเป็นกฎหมายลิขสิทธิ์ที่ใช้บังคับในปัจจุบัน ไม่มีบทบัญญัติใดกำหนดไว้ชัดเจนว่างานอันมีลิขสิทธิ์ที่ได้รับการคุ้มครองต้องเป็นงานสร้างสรรค์โดยมนุษย์เท่านั้น
แต่เมื่อพิจารณาจากคำนิยามที่เกี่ยวข้อง เช่นคำว่า “ผู้สร้างสรรค์” หมายความว่า ผู้ทำหรือผู้ก่อให้เกิดการสร้างสรรค์อย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
และคำว่า “ลิขสิทธิ์” หมายความว่า สิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะกระทำการใดๆ ตามพระราชบัญญัตินี้เกี่ยวกับงานที่ผู้สร้างสรรค์ได้ทำขึ้น
เห็นได้ชัดเจนว่าใช้คำว่า “ผู้” คือเป็นบุคคล จึงพิจารณาได้ว่างานที่สร้างสรรค์ที่จะมีลิขสิทธิ์ จะต้องเป็นการสร้างสรรค์โดยมนุษย์ แม้ผู้สร้างสรรค์จะใช้ปัญญาประดิษฐ์เข้าช่วยในการสร้างสรรค์ผลงาน ก็เป็นการใช้เครื่องมือ ทำนองเดียวกันกับใช้พู่กันวาดภาพ
ดังนั้น ในกรณีนี้ถือได้ว่า มนุษย์เป็นผู้สร้างสรรค์ผลงาน ผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้นเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ บุคคลผู้สร้างสรรค์ผลงานเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์
ปัจจุบันยังไม่มีประเด็นผลงานที่สร้างสรรค์โดยหุ่นยนต์หรือปัญญาประดิษฐ์ล้วนๆ โดยไม่มีมนุษย์เข้าไปมีส่วนสร้างสรรค์ด้วย ว่ามีลิขสิทธิ์หรือไม่ เข้าสู่การพิจารณาของศาลฎีกา จึงต้องรอแนวคำวินิจฉัยของศาลฎีกาในประเด็นนี้ต่อไป
อย่างไรก็ตาม มีคำพิพากษาศาลฎีกาคดีพิพาทเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ แม้ไม่ใช่ประเด็นผลงานของปัญญาประดิษฐ์โดยตรง แต่คำวินิจฉัยของศาลฎีกานี้ ก็อธิบายและชี้ให้เห็นว่างานอันมีลิขสิทธิ์ต้องเกิดจากการริเริ่มสร้างสรรค์ของผู้สร้างสรรค์ แม้จะไม่ได้ระบุโดยตรงว่าเป็นมนุษย์ แต่ก็อนุมานได้ว่าเป็นการสร้างสรรค์ของมนุษย์ คือ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1265/2563 ที่วินิจฉัยว่า งานสร้างสรรค์ประเภทศิลปกรรมที่มีลักษณะเป็นงานจิตรกรรม จะเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ที่ได้รับความคุ้มครองตามบทบัญญัติของ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 นั้น ต้องเป็นงานที่ผู้สร้างสรรค์ได้ทำหรือก่อให้เกิดงานนั้นด้วยการริเริ่มขึ้นเอง โดยมิได้ทำซ้ำหรือดัดแปลงจากงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต
งานอันมีลิขสิทธิ์จึงอาจเหมือนหรือคล้ายกับงานอันมีลิขสิทธิ์ ที่ปรากฏอยู่แล้วได้ แต่งานที่เหมือนหรือคล้ายกันนั้น ต้องเกิดจากการริเริ่มสร้างสรรค์ขึ้นเองของผู้สร้างสรรค์ โดยมิได้ทำซ้ำหรือดัดแปลงจากงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต คุณค่าของงานหรือคุณค่าทางศิลปะไม่ใช่เงื่อนไขของการคุ้มครองลิขสิทธิ์
แม้งานที่สร้างขึ้นนั้นจะไม่มีคุณค่าของงานหรือคุณค่าทางศิลปะ หากผู้สร้างสรรค์ได้ทำขึ้นด้วยความวิริยะอุตสาหะ ด้วยการทุ่มเทกำลังสติปัญญาความรู้ความสามารถ ใช้ประสบการณ์และวิจารณญาณในการสร้างงานนั้น
งานนั้นก็ได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ โดยการคุ้มครองลิขสิทธิ์เป็นการให้ความคุ้มครองรูปแบบของการแสดงออกซึ่งความคิด
กรณีในต่างประเทศ
สหรัฐอเมริกา มีรายงานข่าวต่างประเทศ ว่าเมื่อวันที่ 21 ส.ค.2566 ศาลแขวงในกรุงวอชิงตัน พิพากษาว่า งานศิลปะที่สร้างสรรค์โดยปัญญาประดิษฐ์ล้วนโดยไม่มีส่วนใดที่มนุษย์ร่วมสร้างสรรค์ด้วย ไม่ได้รับลิขสิทธิ์ตามกฎหมายลิขสิทธิ์ของสหรัฐ
ข่าวล่าสุดเมื่อวันที่ 6 ก.ย.2566 สำนักงานลิขสิทธิ์ของสหรัฐก็ได้ปฏิเสธ คำขอคุ้มครองลิขสิทธิ์กรณีผู้แต่งนิยายวิทยาศาสตร์ได้สร้างภาพประกอบนิยายที่สร้างขึ้นโดยปัญญาประดิษฐ์ โดยให้เหตุผลว่า ไม่ใช่ผลงานที่สร้างโดยมนุษย์
สหภาพยุโรปได้ตรากฎหมายที่เกี่ยวกับลิขสิทธิ์ด้านต่างๆ ออกใช้บังคับเป็นกฎหมายกลางสำหรับประเทศสมาชิก ที่เรียกว่าข้อกำหนดของสหภาพยุโรป (The European Directive and Regulation on Copyright) หลายฉบับ
นอกจากนี้ แต่ละประเทศก็อาจมีกฎหมายลิขสิทธิ์อันเป็นกฎหมายภายในของประเทศตนด้วย เช่น ประเทศเยอรมนีและสเปน
กฎหมายลิขสิทธิ์ของสองประเทศนี้ไม่ถือว่าผลงานที่สร้างโดย AI เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ ที่จะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์ เพราะไม่ใช่งานที่สร้างสรรค์โดยมนุษย์
กล่าวอีกนัยหนึ่ง งานสร้างสรรค์ที่จะเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์ ต้องเป็นงานที่สร้างสรรค์โดยมนุษย์ หรือเป็นงานที่มนุษย์มีส่วนสร้างสรรค์ด้วย
นอกจากนี้ ศาลยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรป (Court of Justice of the European Union ) มีคำพิพากษาคดีที่เกี่ยวกับผลงานของ AI หลายคดี ในประการว่าผลงานของ AI ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะไม่ใช่การสร้างสรรค์ของมนุษย์
คดีที่สำคัญคือ คดีตามคำพิพากษาที่ C-5/08 ระหว่าง Infopaq International A/S และ Danske Dagbaldes โดยได้พิพากษาตามแนวที่เคยมีคำพิพากษาว่า ผลงานของ AI ไม่มีลิขสิทธิ์ ผลงานที่จะมีลิขสิทธิ์และได้รับการคุ้มครองมีเฉพาะผลงานของมนุษย์เท่านั้น.