‘พันธุ์ข้าว’ รับมือโลกรวน ส่งตรงจากแล็บถึงท้องนา

‘พันธุ์ข้าว’ รับมือโลกรวน ส่งตรงจากแล็บถึงท้องนา

ไบโอเทค - ม.เกษตรศาสตร์ อวดโฉมพันธุ์ข้าวใหม่ ปรับปรุงเพื่อรับสอดรับกับสถานการณ์โลกรวนจากเอลนีโญ พร้อมต่อยอดให้ใช้ประโยชน์สาธารณะและเชิงพาณิชย์ เตรียมส่งถึงมือเกษตรกร

ข้าวหอมนาเล หนึ่งในพันธุ์ข้าวจากเทคโนโลยีและนวัตกรรมการปรับปรุงพันธุ์ข้าวแบบแม่นยำในภาคสนามแปลงนา ให้มีคุณสมบัติตามความต้องการของเกษตรกรในภูมิภาคต่างๆ ตลอดจนรับมือโลกรวนจากเอลนีโญที่มีการเปลี่ยนแปลงอากาศแบบสุดขั้ว โดยมุ่งเน้นให้เกิดการนำสายพันธุ์ข้าวไปใช้ประโยชน์สาธารณะและเชิงพาณิชย์อย่างรวดเร็ว

ผลผลิตจากศูนย์ไบโอเทคร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทั้งยังมีข้าวสายพันธุ์ใหม่อื่นๆ  ได้แก่ พันธุ์ข้าวหอมชลสิทธิ์ ข้าวหอมจินดา พันธุ์ข้าวธัญญา6401 พันธุ์ข้าวหอมสยามและพันธุ์ข้าวหอมสยาม2 ที่พร้อมจะเผยแพร่สู่เกษตรกร และเป็นสายพันธุ์ข้าวศักยภาพสูงที่พร้อมให้หน่วยงานวิจัยนำไปพัฒนาต่อยอด

วิจัยช่วยต้นข้าวปรับตัว

วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค สวทช.) กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องปรับปรุงพันธุ์ข้าวเนื่องจากภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง จึงจำเป็นต้องมีข้าวสายพันธุ์ใหม่ทั้งข้าวเหนียวและข้าวเจ้า ที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน 

“ยีนของสายพันธุ์จะมีความสูงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อก่อนจะมีแค่ 1-2 ลักษณะ แต่ปัจจุบันมีถึง 4-5 ลักษณะเข้ามาอยู่ในพันธุ์เดียว เช่น ทนร้อน ทนแล้ง ทนโรค 1-2 โรค ใบน้ำตาล ต้นเตี้ย-สูง เป็นต้น”

พันธุ์ข้าวใหม่ที่ปรับปรุงมีลักษณะพิเศษ ที่ต่อไปจะพัฒนาไปจนถึงการแปรรูปจะไม่ใช่แค่การปลูกข้าวธรรมดา แต่เป็นการเพิ่มมูลค่าโดยนำไปใช้ประโยชน์ให้ครบวงจรมากขึ้น เช่น เมล็ดข้าวไปสกัดให้ได้สารมูลค่าสูง ใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องสำอางและการแพทย์  ส่วนเศษเหลือจากกระบวนการปลูกอย่างฟางข้าวก็สามารถนำไปแปรรูป ตลอดจนทำการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ในนาข้าว

สำหรับแหล่งปลูกข้าวสำคัญของไทยอยู่ที่ภาคกลาง ภาคเหนือและภาคอีสาน อยากให้เกษตรกรได้ตัดสินใจเลือกสายพันธุ์ข้าวที่สอดคล้องกับลักษณะของความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ จึงอยากฝากรัฐบาล ผู้ประกอบการ นักวิชาการ รวมทั้งเกษตรกรต้องร่วมกันทำงานเป็นทีม เพื่อให้เกิดความสำเร็จเรื่องการแก้ไขปัญหาพันธุ์ข้าวในระยะยาว

‘พันธุ์ข้าว’ รับมือโลกรวน ส่งตรงจากแล็บถึงท้องนา

นวัตกรรมตัดแต่งพันธุกรรม

ข้าวที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์นั้นได้ถูกพัฒนาในห้องแล็บและลงพื้นที่นาจริง ร่วมกับเกษตรกร โดยได้ใช้เทคโนโลยีชีวภาพพืชและการเกษตรแบบแม่นยำ เพื่อตัดแต่งพันธุกรรมให้ได้ตรงตามความต้องการของเกษตรกรในแต่ละภูมิภาค ตลอดจนตรงตามความต้องการของตลาดโลก

ด้าน ผศ.นิคม แหลมสัก รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและกิจการเพื่อสังคม ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ไบโอเทคร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน มีความพร้อมด้านบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ อุปกรณ์และเครื่องมือสำหรับงานวิจัยด้านชีวโมเลกุล โรงเรือนปลูกพืชทดลองสำหรับงานประเมินลักษณะต่างๆ ห้องเย็นเก็บเมล็ดพันธุ์และแปลงทดลองขนาดเล็กสำหรับงานคัดเลือกไปจนถึงแปลงขนาดใหญ่สำหรับผลิตเมล็ดพันธุ์

ที่ผ่านมาได้สร้างองค์ความรู้ในการสืบหาและระบุยีนที่มีความสำคัญในการพัฒนาพันธุ์ข้าว และระบบปรับปรุงพันธุ์ข้าว Rice Breeding Platform รวมทั้งพัฒนาสายพันธุ์ให้มีคุณสมบัติตามความต้องการได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ และเป็นศูนย์กลางของการใช้เทคโนโลยีด้าน Marker Assisted Selection (MAS) ในระดับประเทศและภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

ทั้งนี้ ทีมวิจัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีชีวภาพพืชและการเกษตรแบบแม่นยำ และศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าวมีบริการวิชาการ AgriOmics ในหลายส่วน เช่น ห้องปฏิบัติการดีเอ็นเอเทคโนโลยี ให้บริการตรวจสอบความบริสุทธิ์ของพันธุ์ข้าวหอมมะลิและพันธุ์ข้าวต่างๆ เพื่อการส่งออกและรองรับการวิจัย การให้บริการตรวจสอบการปลอมปนของสิ่งมีชีวิตตัดแต่งพันธุกรรม รวมถึงบริการใหม่ด้านการวิเคราะห์จีโนมพืช เพื่อการสนับสนุนงานวิจัยพื้นฐานที่ครอบคลุมด้าน Agri-genomics (พันธุศาสตร์พืช)

RiceFit แนะนำพันธุ์ข้าวที่เหมาะสม

ระบบการคัดเลือกพันธุ์ข้าวให้เหมาะสมต่อสภาพพื้นที่ (RiceFit) เป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มที่ทีมวิจัยได้พัฒนาขึ้นมาช่วยเหลือเกษตรกร โดยศึกษาการใช้น้ำของข้าวและ greenhouse gas emission ในนาข้าวของประเทศ รวมถึงชีวภัณฑ์ต่างๆ ที่สามารถนำมาใช้ในระบบการผลิตข้าวอินทรีย์และเกษตรปลอดภัย

ระบบดังกล่าวสามารถใช้งานผ่านไลน์และเว็บแดชบอร์ด ผู้ใช้งานเพียงแค่ป้อนข้อมูลพิกัดแปลง วันที่เริ่มต้นการเพาะปลูก รวมทั้งเลือกพันธุ์ข้าวที่ต้องการปลูก แล้วระบบ RiceFit จะประเมินความเสี่ยงเป็นรายเดือนของช่วงเวลาที่เพาะปลูกและแจกแจงตามปัจจัยเสี่ยง (โรคต่างๆ) ให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่นาปลูก

“แม้ว่าสภาพอากาศจะมีการเปลี่ยนแปลง แต่ขณะเดียวกันเทคโนโลยีก็ไม่หยุดนิ่ง เกษตรกรสามารถเลือกใช้เครื่องมือต่างๆ (Tools) ที่นักวิจัยได้พัฒนาขึ้นเพื่อนำพันธุ์ข้าวมาปลูกในแปลงตนเองได้อย่างเหมาะสม และสามารถขายออกสู่ตลาดในราคาที่เป็นเหตุเป็นผลได้” ผศ.นิคม กล่าว