ทะยานสำเร็จแล้ว!! ดาวเทียม THEOS-2 ขึ้นสู่อวกาศ 8.36 น.วันนี้
9 ต.ค. 66 เวลา 8.36 น. เป็นวันที่น่าจดจำกับภารกิจด้านกิจการอวกาศอีกวันหนึ่ง ในการนำส่งดาวเทียมสำรวจโลก THEOS-2 ขึ้นสู่วงโคจร จากท่าอวกาศยานเฟรนช์เกียนา
สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA Live Streaming การนำส่งดาวเทียม THEOS-2 ครั้งที่ 2 ออกจากฐานปล่อยจรวด ท่าอวกาศยานเฟรนช์เกียนา (Guiana Space Center) ฝรั่งเศส วันจันทร์ที่ 9 ตุลาคม 2566 เวลา 8.36 น.(ตามเวลาในประเทศไทย) ได้อย่างประสบความสำเร็จ
จากนั้นจะใช้เวลาอีก 2-3 ในการติดต่อกับดาวเทียม เพื่อปรับระดับความสูงตามที่กำหนดไว้ประมาณ 650 กิโลเมตรจากพื้นโลก เพื่อให้ดาวเทียมเข้าสู่วงโคจรที่แท้จริง และจะใช้เวลาอีกประมาณ 6 เดือนที่จะทดสอบระบบต่างๆ เช่น คุณภาพการถ่ายภาพ ทดสอบประสิทธิภาพของกล้อง ซึ่งใช้เวลา 1-2 เดือน ก่อนเปิดให้บริการ
ธีออส-2 เป็นดาวเทียมสำรวจโลก หรือ Earth observation satellite มีศักยภาพถ่ายภาพและผลิตภาพสีรายละเอียดสูงมากในระดับ 50 เซนติเมตร สามารถถ่ายภาพและส่งข้อมูลกลับมายังสถานีภาคพื้นดินได้ไม่ต่ำกว่า 74,000 ตารางกิโลเมตรต่อวัน
วัสดุหลัก 3 ประเภทที่ใช้ทำดาวเทียม คือ อะลูมิเนียม (Aluminium) เกรดพิเศษ แผ่นผนังรังผึ้งคาร์บอนไฟเบอร์ที่เน้นให้มีน้ำหนักเบา และแข็งแรงเพียงพอต่อการใช้งาน
ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า การที่ประเทศไทยมีดาวเทียมธีออส-2 จะเป็นการตอบโจทย์การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ข้อมูลจากดาวเทียมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในมิติต่างๆ
โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ เพราะ “เศรษฐกิจ” คือปากท้องของประชาชน จะเป็นกลไกหลักที่สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ