สวทช.-สมาคมทีคอส ดันธุรกิจ ‘สุขภาพ-ความงาม’ สร้างโอกาสแก่ผู้ประกอบการไทย
สวทช. ร่วมกับ สมาคมทีคอส (TCOS) ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสุขภาพและความงาม นำวิจัยและแพลตฟอร์ม FoodSERP เสริมศักยภาพแก่ผู้ประกอบการและสตาร์ตอัปไทย ร่วมสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีความโดดเด่นและมีมาตรฐานการผลิตส่งออก
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) บันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา ร่วมกับ สมาคมการค้าคลัสเตอร์เครื่องสำอางไทย หรือ TCOS (Thai Cosmetic Cluster) ในเรื่อง การพัฒนากระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์เวชสำอาง
เพื่อสร้างความเข้มแข็งและเสริมศักยภาพให้กับผู้ประกอบการไทยในกลุ่มอุตสาหกรรมสุขภาพและความงาม ด้วยการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยของประเทศและบริการโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีตามหลักมาตรฐานสากล สู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ซึ่งทางสมาคมฯ ประมาณมูลค่าทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นไว้ราว 500 ล้านบาท
นางลักษณ์สุภา ประภาวัต นายกสมาคมการค้าคลัสเตอร์เครื่องสำอางไทย กล่าวว่า ความร่วมมือกับสวทช. ช่วยสร้างเครือข่ายความร่วมมือ การแบ่งปันข้อมูล การเข้าถึงแหล่งทุนวิจัยและทรัพยากร ผลักดันการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมการผลิต รวมทั้งช่องทางการจัดจำหน่ายตลอดทั้งห่วงโซ่อุปสงค์อุปทาน โดยช่วยเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมเครื่องสำอางให้สามารถแข่งขันและพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบเครื่องสำอางไทยไปสู่ระดับโลกได้
“อุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทย ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข 3 ด้านหลักๆ คือ 1.การแข่งขันกับผู้ผลิตเครื่องสำอางต่างประเทศที่มีเทคโนโลยีและการตลาดที่ดีกว่า 2.การปฏิบัติตามมาตรฐานและข้อกำหนดของตลาดเป้าหมายที่แตกต่างกัน และ 3.การจัดการกับการเปลี่ยนแปลงของความต้องการและความชอบของผู้บริโภคและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
ซึ่งสมาคมฯ เชื่อว่าในอนาคตอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทยจะต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายใหม่ เช่น การใช้ประโยชน์จาก Big Data และ AI ในการวิเคราะห์พฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภค การประยุกต์ใช้ไบโอเทคโนโลยี เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรม มีประสิทธิภาพและความปลอดภัย และการประยุกต์ใช้นาโนเทคโนโลยี เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติพิเศษ” นายกสมาคม TCOS กล่าวทิ้งท้าย
ทางด้าน ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจํานงค์ ผู้อํานวยการ สวทช. กล่าวว่า สวทช. มีบริการที่เรียกว่า ฟู้ดเซิร์ป (FoodSERP) แพลตฟอร์มผลิตอาหารและส่วนผสมฟังก์ชันที่ใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ที่ช่วยส่งเสริมผู้ประกอบการในการพัฒนานวัตกรรมกระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์ด้วยเทคโนโลยีกระบวนการทางชีวภาพ และนาโนเทคโนโลยี ในรูปแบบ One-stop service
ตั้งแต่การผลิต วิเคราะห์ทดสอบ สร้างต้นแบบผลิตภัณฑ์สำหรับทดสอบตลาด บริการขยายขนาดการผลิต และขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มโอกาสในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย ภายใต้แนวคิดโมเดลเศรษฐกิจ BCG และ Speedy Economy ให้มีศักยภาพการผลิตที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในมิติต่างๆ ตลอดห่วงโซ่การผลิต
"ปัจจุบันอุตสาหกรรมสุขภาพและความงามมีการพัฒนา และตลาดมีความต้องการที่หลากหลายยิ่งขึ้น ดังนั้น เพื่อเตรียมความพร้อม และตอบสนองความต้องการของตลาดได้ทันท่วงที ความร่วมมือครั้งนี้ จึงเป็นการสร้างความร่วมมือและผลักดันองค์ความรู้เทคโนโลยีนำผลงานวิจัยไปสู่การนำไปใช้ประโยชน์แก่ผู้ประกอบการหรือภาคเอกชน"