เมืองไทยก็มี!! โชว์รูมนวัตกรรม "ยานยนต์ไฟฟ้า" เมดอินไทยแลนด์
หนึ่งในเทคโนโลยีที่เป็นทอล์คออฟเดอะทาวน์ปีนี้ต้องยกให้กับ "รถยนต์ไฟฟ้า" หรือ EV ซึ่งจะเห็นได้จากยอดจองยานยนต์ไฟฟ้าพุ่งสูงขึ้นจากปีก่อน ๆ
โดยมีผลพวงจากไลฟ์สไตล์ของคนทั่วโลกที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง และยังเป็นยุคแห่งการเปลี่ยนถ่ายพลังงานฟอสซิลมาสู่พลังงานทางเลือกใหม่ ๆ
เมกะเทรนด์นี้มีบทพิสูจน์ทั้งจากยอดขายรถ EV ทั่วโลกที่พุ่งสูงอย่างต่อเนื่องจาก 3.1 ล้านคันในปี 2563 เป็น 6.5 ล้านคันในปี 2564 10.2 ล้านคันในปี 2565 และกว่า 14 ล้านคันในปี 2023 รวมถึงการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในการก้าวขึ้นมาเป็นแบรนด์ยานยนต์ที่มูลค่าสูงสุดในโลก จากผู้พัฒนาเทคโนโลยีชั้นนำอย่าง "เทสล่า"
ส่วนประเทศไทยเองก็ไม่น้อยหน้า ซึ่งล่าสุดพบว่ายอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดจาก 570 คันในปี 2562 เป็นกว่า 66,000 คันในปี 2566 และล่าสุดในงานมหกรรมยานยนต์ชื่อดังมียอดจองรถกว่า 53,248 คัน เป็นรถ EV มากกว่า 20,400 คันเลยทีเดียว
"ศูนย์กลางการผลิต EV" โอกาสใหม่ที่ไทยต้องรีบคว้า
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ส่องโอกาสการเติบโตของธุรกิจนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย จากข้อมูลเบื้องต้นพบว่าปัจจุบันประเทศไทยเป็นหนึ่งในฐานการผลิตรถยนต์ที่สำคัญของโลก รัฐบาลจึงวางเป้าหมายในการส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของภูมิภาคเอเชีย
ทั้งได้ตั้งเป้าการผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ว่า ภายในปี 2573 จะต้องมีรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์คิดเป็นร้อยละ 30 ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด รวมถึงมีการวางแผนระยะยาวผ่านแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13
ซึ่งไม่ใช่แค่การส่งเสริมการผลิตและการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเตรียมความพร้อมระบบนิเวศสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะการส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า
จากโอกาสและศักยภาพการเติบโตของอุตสาหรรมกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีที่เกี่ยวเนื่อง NIA จึงได้เลือกให้เป็นหนึ่งในสาขาของโครงการนวัตกรรมด้านเศรษฐกิจ เพื่อรับทุนสนับสนุนธุรกิจนวัตกรรมที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ
"Mandatory Innovation Business Platform" ที่สนับสนุนผ่าน "เงินทุนให้เปล่า" วงเงินสูงสุดไม่เกินโครงการละ 5 ล้านบาท ครอบคลุมทั้งการทดสอบตลาด การปรับปรุงผลิตภัณฑ์ การทดสอบมาตรฐานและการขยายผลนวัตกรรมสู่เชิงพาณิชย์
จากการสนับสนุนและเปิดรับข้อเสนอโครงการในปีที่ผ่านมาพบว่า มีผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมให้ความสนใจขอรับการสนับสนุนกว่า 100 ราย โดย NIA ยังพร้อมช่วยสร้างโอกาสและเชื่อมโยงไปสู่ตลาดที่เกี่ยวข้อง เช่น การท่องเที่ยว การคมนาคม อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า การระดมทุน
ตลอดจนสะท้อนถึงความพร้อมและความก้าวหน้าอุตสาหกรรมดังกล่าว ที่ครอบคลุมและไมได้จำกัดแค่กลุ่มรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเท่านั้น
Winnonie (วินโนหนี้) – วินรักษ์โลกที่ใครใช้ก็วิน สะท้อนพี่วินยุคใหม่ใส่ใจโลก
Winnonie หรือ วินโนหนี้ สตาร์ทอัพรายแรกของประเทศไทยที่บุกเบิกให้บริการแพลตฟอร์มรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า และเครือข่ายสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่อัตโนมัติ ที่จะมาช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของกลุ่มวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการประกอบอาชีพ และตอบโจทย์การส่งเสริมพลังงานสะอาด ลดมลภาวะทางอากาศ
โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากปัญหาของกลุ่มวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่มีค่าใช้จ่ายในการประกอบอาชีพสูง ซึ่งกว่าร้อยละ 60 เป็นค่าใช้จ่ายในการผ่อนรถและค่าน้ำมัน จึงคิดหาวิธีช่วยลดต้นทุน เพิ่มรายได้ จึงได้ริเริ่มแพลตฟอร์มให้บริการเช่ารถจักรยานยนต์ไฟฟ้า (E-Motorbike)
ซึ่งประกอบด้วยเทคโนโลยีหลัก 3 ส่วน ได้แก่
1) รถจักรยานยนต์ไฟฟ้านำเข้า ขนาดเครื่องยนต์เทียบเท่ารถน้ำมันขนาด 125 ซีซี ใช้แบตเตอรี่สองลูกใช้งานได้ 80 - 100 กิโลเมตรความเร็วสูงสุด 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
2) แบตเตอรี่พร้อมใช้งานและสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ และ
3) แอปพลิเคชัน โดยคิดอัตราค่าเช่าเป็นรายเดือน เริ่มต้นที่ 4,200 บาท หรือประมาณ 140 บาท/วัน ซึ่งรวมค่าบริการในการบำรุงรักษา พร้อมบริการสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่อัตโนมัติ (Automatic Battery Swapping Station) ที่ไม่ต้องเสียเวลารอชาร์จไฟฟ้า สามารถเข้ามาสับเปลี่ยนได้ทันทีใช้เวลาไม่เกิน 2 นาที ช่วยลดค่าใช้จ่ายได้มากกว่าร้อยละ 50
นับตั้งแต่เริ่มต้นโครงการจนถึงปัจจุบัน Winnonie มีผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าและบริการสับเปลี่ยนแบตเตอร์รี่ ณ สิ้นปี 2566 กว่า 1,000 ราย มีสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ให้บริการแล้ว 120 สถานี ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล
โดยตั้งเป้าจะเพิ่มส่วนแบ่งตลาดให้ได้ร้อยละ 10 ภายในปี พ.ศ.2569 จากกลุ่มผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างและกลุ่มไรเดอร์ซึ่งมีจำนวนมากถึง 500,000 คัน และจากตลาดผู้ใช้รถจักรยานยนต์จำนวน 4 ล้านคันในกรุงเทพฯ
หากโครงการประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลดโลกร้อน และลดมลภาวะทางเสียง ตอบโจทย์ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมตามนโยบาย Net Zero และ ด้านเศรษฐกิจ BCG ช่วยให้เกิดการเติบโตของ GDP
เนื่องจากมีการจ้างงานและเพิ่มการพัฒนานวัตกรรมในประเทศ มีการผลิตทั้งสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ และ Software ฯลฯ อาจต่อยอดไปถึงธุรกิจการผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ในอนาคต รวมถึงด้านสังคมและคุณภาพชีวิต ทำให้ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างมีรายจ่ายคงที่ มีรายได้เพิ่มขึ้น และได้ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น
"มูฟมี" ผู้เปลี่ยนตุ๊กตุ๊ก ไทยแลนด์ ซอฟต์พาวเวอร์ "เที่ยว – เดินทาง" ด้วยการ "แชร์" สิ่งดี ๆ ให้เพื่อนร่วมทาง
MuvMi :มูฟมี ตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าสัญชาติไทย คลี่คลายปัญหารถติดด้วยนวัตกรรมสุดล้ำและระบบ Ride Sharing เพิ่มทางเลือกใหม่ในการเดินทางให้คนกรุงเทพฯ ที่ทั้งประหยัด ปลอดภัย ไม่ก่อมลพิษ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมส่งเสริมภาพลักษณ์ "Soft Power" ไทย ให้ประทับใจชาวต่างชาติ
มูฟมีเป็นบริการขนส่งสาธารณะในรูปแบบ "รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า" ซึ่งมีจุดเด่นที่ขนาดเล็กกะทัดรัด สามารถลัดเลาะเข้าตามตรอก ซอกซอยได้อย่างคล่องตัว และขนส่งผู้โดยสารได้หลายคนต่อเที่ยว จึงกลายมาเป็นนวัตกรรมรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า MuvMi ที่มาในรูปลักษณ์ใหม่ที่แตกต่างจากรถตุ๊กตุ๊กแบบเดิม
ไม่ว่าจะเป็นดีไซน์ที่ทันสมัย โปร่ง นั่งสบาย เงียบ โครงสร้างที่แข็งแรง จุดศูนย์ถ่วงต่ำ โอกาสพลิกคว่ำมีน้อย ปลอดภัย ใช้พลังงานไฟฟ้า หมดปัญหาเรื่องกลิ่นหรือเสียงดัง และไม่ปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม
ยิ่งไปกว่านั้น MuvMi ยังมีจุดเด่นในด้านการให้บริการผ่านแอปพลิเคชัน 'MuvMi' ที่เพิ่มความสะดวกสบายให้ทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ทั้งบอกข้อมูลเส้นทางการเดินทาง ปริมาณแบตเตอรี่ และตำแหน่งสถานีชาร์จ พร้อมบริการเรียกรถ
โดยคิดค่าโดยสารตามระยะทางจริง ช่วยลดปัญหาเรื่องราคาค่าโดยสารไม่แน่นอน การเรียกเก็บค่าโดยสารเกินจริง หรือแม้แต่การเจรจาต่อรองในกรณีที่ผู้โดยสารเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติพูดภาษาไทยไม่ได้
ยิ่งไปกว่านั้นยังมีระบบ Ride Sharing ที่ผู้โดยสารสามารถเลือกได้ว่าจะเดินทางเพียงคนเดียวในราคาเหมาจ่าย หรือเปิดให้แชร์ที่นั่งได้ โดยแชร์ได้สูงสุดถึง 6 คน มีค่าโดยสารเริ่มต้นเพียง 10 บาท
ตั้งแต่เปิดตัวครั้งแรกในปี 2561 จนถึงปัจจุบัน MuvMi รองรับผู้โดยสารไปแล้วมากกว่า 3.7 ล้านเที่ยวมีรถตุ๊กตุ๊กให้บริการ 350 คัน มีจุดรับ 1,000 จุด กระจายอยู่ใน 12 พื้นที่ในกรุงเทพฯ และมีเป้าหมายจะเพิ่มเป็น1,000 คัน พร้อมทั้งขยายพื้นที่บริการ ไปสู่หัวเมืองหลักอื่นๆและเมืองท่องเที่ยว เช่น เชียงใหม่ และภูเก็ต ในอนาคต
กอล์ฟดิกก์ นวัตกรรมชูอิมเมจสนามกอล์ฟไทยท็อป 5 โลก
กอล์ฟดิกก์ สตาร์ทอัพที่มองการณ์ไกล โดยใช้นวัตกรรมมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการและยกระดับคุณภาพการบริการในสนามกอล์ฟ เพื่อใช้เป็นจุดขายดึงนักท่องเที่ยวกำลังซื้อสูงจากทั่วโลก หวังจุดประกายให้สนามกอล์ฟในไทยเห็นความสำคัญของ Sustainable energy solution
จากการที่อยู่ในแวดวงธุรกิจสนามกอล์ฟมาก่อน ทำให้กอล์ฟดิกก์มองเห็นทั้ง "ศักยภาพ"และ "จุดอ่อน" ของธุรกิจสนามกอล์ฟไทยซึ่งเป็นทั้งกีฬาและการท่องเที่ยวที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพที่มีกำลังซื้อสูงทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติได้ปีละกว่า 1,000,000 คน มีมูลค่าตลาดประมาณ 30,000 ล้านบาทต่อปี
ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทาง TOP 5 ของนักกอล์ฟจากทั่วโลก และนักกอล์ฟมากกว่าร้อยละ 70 ใช้รถกอล์ฟ แต่กลับพบปัญหาว่ากว่าร้อยละ 90 ของรถกอล์ฟในสนามใช้แบตเตอรี่แบบตะกั่วกรด (Lead Acid Battery) ซึ่งมีอายุการใช้งานสั้นแค่ประมาณ 2 ปี และมีค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนสูงเฉลี่ย 25,000 บาท/คัน/ครั้ง อีกทั้งยังไม่สะดวกในการใช้งาน
เนื่องจากการชาร์จแบตเตอรี่แต่ละครั้งต้องจอดรถทิ้งไว้นานถึง 8 ชั่วโมง และมีโอกาสที่แบตจะหมดระหว่างใช้งานโดยไม่มีการแจ้งเตือนล่วงหน้าซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ยิ่งไปกว่านั้นหากชาร์จไฟทิ้งไว้ในเวลากลางคืนโดยไม่มีระบบป้องกันที่ดีพอก็มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดไฟไหม้ นอกจากนี้ ยังมีความยุ่งยากในขั้นตอนการบำรุงรักษา
"กอล์ฟดิกก์" เป็นระบบบริหารจัดการรถกอล์ฟให้มีประสิทธิภาพ และการใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างยั่งยืนที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาทั้งในเรื่องแบตเตอรี่และการบริหารจัดการ โดยให้รถกอล์ฟเปลี่ยนมาใช้ Lithium Ion NMC ที่มีความสามารถในการกักเก็บพลังงานได้มากกว่าแบตเตอรี่แบบเดิมถึงร้อยละ 50 น้ำหนักเบากว่าถึง 5 เท่า ไม่ต้องเสียเวลาจอดชาร์จทิ้งไว้นานถึง 8 ชั่วโมง
ควบคู่กับการพัฒนาระบบบริหารจัดการรถกอล์ฟในรูปแบบ Online fleet management system ที่ช่วยให้ทราบสถานะและติดตามการทำงานของรถกอล์ฟได้แบบ Real-time ทำให้สามารถวางแผนและบริหารจัดการการใช้งานรถกอล์ฟได้อย่างมีประสิทธิภาพมีรถกอล์ฟใช้งานอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา
นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาสถานีสำหรับการสลับแบตเตอรี่ ทำหน้าที่ในการชาร์จแบตเตอรี่ พร้อมระบบบริหารจัดการเลือกใช้พลังงานจากแหล่งที่เหมาะสมที่สุดในขณะนั้น และมีการเชื่อมต่อกับ "GM - POWERWALL" ที่มีการนำแบตเตอรี่กลับมาใช้ใหม่สำหรับกักเก็บพลังงานที่เหลือใช้ (Second Life Battery)
ปัจจุบัน กอล์ฟดิกก์ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นโครงการ และให้บริการรถกอล์ฟภายในสนามกอล์ฟในประเทศไทยเท่านั้น แต่ก็ถือเป็นการจุดประกายให้หลายสนามกอล์ฟในไทยเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของความยั่งยืน และยอมลงทุนกับประเด็นดังกล่าวมากขึ้น
และในอนาคตกอล์ฟดิกก์ได้ตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนานวัตกรรมนี้ไปใช้กับรถกอล์ฟนอกสนามกอล์ฟกว่า 200,000 คันในประเทศไทย และมากกว่า 1,000,000 คัน ทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกทั้งมีแผนที่จะต่อยอดไปยังรถอื่นๆ เช่น รถตัดหญ้า หรือรถแทรกเตอร์เพื่อการเกษตรอีกด้วย.