‘สมอลวอท’ อิงเทคโนฯ ดาวเทียม ติดตาม ‘แหล่งน้ำชุมชน’ รับมือภัยแล้ง
สมอล-วอท (SMORWAT) ระบบติดตามปริมาณแหล่งน้ำขนาดเล็กจากดาวเทียมธีออส-2 ช่วยเตือนภัยอันตรายที่เกิดจากน้ำ ให้ข้อมูลพื้นที่น้ำล้นตลิ่งหาบริเวณแหล่งน้ำใหม่ๆ สร้างวิถีชุมชนใหม่ให้กับคนไทย
สมอล-วอท (SMORWAT) ระบบติดตามปริมาณแหล่งน้ำขนาดเล็กจากดาวเทียม หนึ่งในโครงการใช้ประโยชน์จากดาวเทียมธีออส-2 พัฒนาโดย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) สามารถเตือนภัยอันตรายที่เกิดจากน้ำ ให้ข้อมูลพื้นที่น้ำล้นตลิ่ง ตลอดจนนำไปใช้กับการหาบริเวณแหล่งน้ำใหม่ๆ เพื่อทำเกษตรและสร้างวิถีชุมชนใหม่ให้กับคนไทย
รู้ทันเรื่องน้ำในทุกมิติ
สยาม ลววิโรจน์วงศ์ ผู้อำนวยการสำนักประยุกต์และบริหารภูมิสารสนเทศ กล่าวว่า แหล่งน้ำขนาดเล็กมีความเกี่ยวข้องและผูกพันกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศไทย หากขาดการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ก็จะส่งผลให้เกิดผลเสียหลายด้านที่ตามมา เช่น ความแห้งแล้ง น้ำท่วม
จิสด้าจึงได้ริเริ่มโครงการระบบติดตามสถานการณ์แหล่งน้ำขนาดเล็ก โดยใช้ข้อมูลจากดาวเทียมธีออส-2 และกลุ่มดาวเทียมรายละเอียดปานกลาง ร่วมกับข้อมูลจากเซนเซอร์ภาคพื้นดิน เข้ามาช่วยในการวิเคราะห์และคาดการณ์ปริมาณน้ำ ทั้งในเชิงตำแหน่ง ขนาด รูปร่าง และปริมาณของน้ำในแหล่งน้ำขนาดเล็กแต่ละแห่ง ทำให้สามารถติดตามการเปลี่ยนแปลงปริมาณน้ำในแต่ละพื้นที่
สมอล-วอท จะให้บริการประชาชนทั้งบนเว็บไซต์ water.gistda.or.th และแอปพลิเคชันในสมาร์ตโฟนทั้ง Android และ IOS ที่มีชื่อว่า “Geo Caching” หรือ “Wat Rec” ในส่วนเว็บไซต์จะรายงานปริมาณน้ำในแหล่งน้ำขนาดเล็กทั้งในระดับภูมิภาค ลุ่มน้ำ จังหวัด อำเภอ ตำบล ย่อยไปจนถึงแหล่งน้ำแต่ละแห่ง โดยอัปเดตข้อมูลทุกๆ 2 สัปดาห์
พร้อมกันนี้ก็มีฟังก์ชันสรุปปริมาตรน้ำทุกภูมิภาค แสดงสถานะของแหล่งน้ำขนาดเล็กทั้งแหล่งน้ำเก่าและแหล่งน้ำที่เกิดขึ้นใหม่ และยังสรุปพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจที่พบในประเทศ รวบรวมแหล่งน้ำทั้งประเทศไทยมาไว้ในที่เดียว ทำให้มีความสะดวกต่อการใช้งาน ส่วนทางแอปพลิเคชันสำหรับให้เจ้าหน้าที่และประชาชนสำรวจและจัดทำแผนที่แหล่งน้ำขนาดเล็กในพื้นที่ของตน
ข้อมูลจากการสำรวจนี้จะเป็นการเชื่อมฐานข้อมูลจากดาวเทียม การสำรวจในพื้นที่ และเซนเซอร์ภาคพื้นดินเข้าด้วยกัน จึงแสดงตำแหน่งแหล่งน้ำได้แม่นยำ ภายในแอปยังประกอบไปด้วยฟังก์ชันต่างๆ เช่น เมนูน้ำท่วม เมนูเช็กกลุ่มฝน เมนูคาดการณ์ เมนูปีมหาอุทกภัย 2554 เป็นต้น
“สมอล-วอทยังมีประโยชน์ในเรื่องของการวางแผนน้ำให้เพียงพอต่อการอุปโภค บริโภค และลดความเสียหายในภาคการเกษตรเมื่อเกิดภัยแล้งได้ สามารถทราบได้ว่าพื้นที่ตรงไหนเป็นแหล่งเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ข้าว ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง ในรูปแบบของภาพรวมไร่ทั้งหมดภายในประเทศ” สยาม กล่าว
ความแม่นยำของดาวเทียม
ฐิตวดี สุวัจนานนท์ นักภูมิสารสนเทศ กล่าวว่า การนำเทคโนโลยีดาวเทียมมาใช้กับคาดการณ์สถานการณ์น้ำเป็นเรื่องที่สำคัญ ยกตัวอย่างในแต่ละปีที่ผ่านมา มีชาวบ้านได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก หากมีแอปพลิเคชันคอยแจ้งเตือนก่อนเกิดน้ำล้นเหล่านั้น ทำให้พี่น้องในพื้นที่สามารถตั้งรับมือได้ทัน และช่วยลดความเสียหายจากน้ำท่วมได้
การทำงานของสมอล-วอท เป็นการทำงานแบบใช้ข้อมูลที่ใกล้เคียงเวลาจริง (Near-Realtime) มาวิเคราะห์และเชื่อมต่อโดยตรงกับฐานข้อมูล ทำให้ข้อมูลที่ปรากฏบนแอปพลิเคชันเป็นข้อมูลที่ได้รับการวิเคราะห์อย่างต่อเนื่อง
เช่น สถานะของระดับน้ำของน้ำในแม่น้ำที่เชื่อมต่อกับฐานข้อมูลของสถานีตรวจวัดระดับน้ำจากหน่วยงานภาครัฐต่างๆ โดยมีรอบการอัปเดตทุก 10 นาที ข้อมูลกลุ่มเมฆฝน เชื่อมต่อโดยตรงกับฐานข้อมูลดาวเทียม GSMap ดาวเทียมสัญชาติญี่ปุ่น ที่อัปเดตทุกๆ 30-45 นาที เป็นต้น
ทั้งนี้ แหล่งน้ำขนาดเล็กหรือแหล่งน้ำที่มีขนาดมากกว่า 2 ไร่ และมีความจุไม่เกิน 2 ล้านลูกบาศก์เมตร กระจายอยู่ทั่วประเทศเป็นจำนวนมาก ซึ่งการสำรวจไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพื่อได้ข้อมูลแหล่งน้ำขนาดเล็กทุกแห่งมาครบถ้วน ดังนั้น การใช้ประโยชน์จากดาวเทียมจึงสามารถแก้ไขปัญหาความคลาดเคลื่อนของการคาดการณ์สถานการณ์น้ำได้
ดาวเทียมธีออส-2 เป็นดาวเทียมที่มีความแม่นยำสูง มีความละเอียด 50 เซนติเมตร จึงสามารถตรวจจับแหล่งน้ำที่มีวัชพืชหนาแน่น เช่น ผักตบชวา การบริหารจัดการน้ำทุ่งและการบริหารจัดการน้ำภาคอุตสาหกรรม เมื่อใช้ความแม่นยำจากข้อมูลสารสนเทศ และการออกแบบแอปพลิเคชันให้ใช้งานง่ายจะสามารถบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติได้อย่างทันท่วงที
ไทยต้องเพิ่มแหล่งน้ำขนาดเล็กของชุมชน
ก่อนหน้านี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดเสวนา “การจัดการน้ำภายใต้ปรากฏการณ์เอลนีโญ 2566-2570” โดย รศ.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ประธานแผนงานวิจัยเข็มมุ่งด้านบริหารจัดการน้ำ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า ประเทศไทยจะพบกับวัฏจักรน้ำท่วมน้ำแล้งไปตลอด จึงต้องใช้การจัดการความเสี่ยงเชิงระบบและระยะยาวมากขึ้น ใช้ข้อมูลข่าวสารที่พยากรณ์ให้เป็นประโยชน์
นอกจากนี้ควรมีมาตรการเพิ่มแหล่งน้ำขนาดเล็กของชุมชนเพื่อเป็นแหล่งน้ำสำรอง โดยพัฒนาทีมงานในระดับพื้นที่ร่วมกับ อปท. ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณและทรัพยากรจากจังหวัดและหน่วยงานเทคนิค
ทั้งนี้ การจัดการภัยแล้งแบบบูรณาการ ต้องติดตาม พยากรณ์ และแจ้งเตือน ประเมินความเปราะบางและผลกระทบ มีมาตรการช่วยเหลือเพื่อลดผลกระทบ และการจัดการเชิงรุกตามความเสี่ยงของพื้นที่