ฟูจิฟิล์ม เปิดตัวเทคโนโลยีคัดกรองมะเร็งตับขั้นสูงจากญี่ปุ่น ลดการสูญเสีย
ฟูจิฟิล์ม เผยสถิติผู้ป่วยมะเร็งตับในไทย พร้อมเปิดตัวเทคโนโลยีคัดกรองขั้นสูงจากญี่ปุ่น เพื่อให้สามารถตรวจคัดกรองโรคตั้งแต่ระยะเริ่มต้น และรักษาได้อย่างทันท่วงที
สถานการณ์ มะเร็งตับ ในประเทศไทยทวีความรุนแรงมากขึ้น จากรายงานทะเบียนมะเร็งของไทย โดย สถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 400 รายต่อวัน หรือ 140,000 รายต่อปี โดยมะเร็งตับเป็นมะเร็งอันดับหนึ่งที่พบในชายไทย คิดเป็น 33.2 % ของมะเร็งที่พบบ่อยสุด 5 อันดับแรก ขณะที่ผู้หญิงอยู่ในอันดับ 3 ที่ตัวเลข 12.2% ซึ่งผู้ชายเสี่ยงกว่าผู้หญิงเกือบ 3 เท่า
ในปี 2020 มีผู้ป่วยทั่วโลกที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งตับถึง 905,677 ราย และคร่าชีวิตผู้คนถึง 830,180 ราย ทำให้มะเร็งตับยังคงติดอันดับสามในสาเหตุการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งจนถึงปี 2566 เนื่องจากมะเร็งตับระยะแรกมักจะไม่แสดงอาการ ส่งผลให้ตรวจพบมะเร็งล่าช้า การตรวจคัดกรองตั้งแต่ระยะเริ่มต้นเพื่อการรักษาอย่างทันท่วงทีจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง
นางสาวสุภัทรา สุภรัมย์ ผู้จัดการฝ่ายขายและการตลาดระดับภูมิภาค (ผลิตภัณฑ์เพื่อการวินิจฉัยภายนอกร่างกาย) แผนกธุรกิจระบบทางการแพทย์ บริษัท ฟูจิฟิล์ม (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การเฝ้าระวังมะเร็งตับปฐมภูมิชนิด hepatocellular carcinoma (HCC) โดยทั่วไปในประเทศไทยมักจะใช้การอัลตราซาวนด์ร่วมกับการตรวจเลือด เพื่อหาสารบ่งชี้มะเร็งชนิด AFP (alpha-fetoprotein) แต่วิธีการเหล่านี้ก็มีข้อจำกัด เนื่องจากการใช้อัลตราซาวนด์และการตรวจเลือดโดยวิธีใช้สารบ่งชี้มะเร็ง AFP ไม่สามารถบ่งชี้มะเร็งตับชนิด HCC ในระยะแรก เพราะไม่สามารถบ่งชี้มะเร็งได้ในระยะแรกได้อย่างแม่นยำ รวมถึงต้องอาศัยความชำนาญการของนักรังสีวิทยา อีกทั้งในโรงพยาบาลรัฐและพื้นที่ห่างไกลอาจไม่มีอุปกรณ์ที่ให้ผลตรวจที่แม่นยำ ข้อจำกัดเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นในการยกระดับการตรวจคัดกรองในประเทศไทย เพื่อให้สามารถตรวจเจอมะเร็งตับชนิด HCC ได้ตั้งแต่ระยะแรกและรักษาผู้ป่วยได้ทันท่วงที
กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (METI) ร่วมกับสมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย (THASL) และฟูจิฟิล์ม ดำเนินโครงการเพื่อประยุกต์แนวทางการตรวจคัดกรอง มะเร็งตับ ชนิด HCC ของประเทศญี่ปุ่น ในการศึกษาวิจัย ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมุ่งเน้นการใช้อัลตราซาวนด์ร่วมกับ AFP-L3, AFP และ Protein induced by vitamin K absence or antagonist-II (PIVKA-II) สำหรับการ ตรวจคัดกรองมะเร็งตับ ชนิด HCC ในประเทศไทยเพื่อลดอัตราการเสียชีวิตจาก โรคมะเร็งตับ ชนิดดังกล่าว
นายโคสุเกะ คิจิมะ Asia Pacific & India, Overseas Sales & Marketing Specialist (In Vitro Diagnostics Division จาก FUJIFILM Corporation) กล่าวว่า เกณฑ์ทางการแพทย์ของ สมาคมโรคตับแห่งประเทศญี่ปุ่น (JSH) ในปี 2021 แนะนำให้ใช้สาร AFP, PIVKA-II และ AFP-L3 ร่วมกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการ ตรวจคัดกรองมะเร็งตับ โดยสาร AFP-L3 ซึ่งมีระดับสูงขึ้นในเลือดตั้งแต่ระยะเริ่มต้นของการเกิดเนื้องอก ที่จะช่วยในการตรวจหามะเร็งตับชนิด HCC ที่อาจตรวจไม่พบด้วยอัลตราซาวนด์ ซึ่งการตรวจคัดกรองตั้งแต่ระยะแรกเป็นหัวใจสำคัญในการต่อสู้กับ มะเร็งตับ โดยการใช้นวัตกรรมนี้นอกจากจะช่วยวินิจฉัยโดยโซลูชันทางการแพทย์แล้วยังถือเป็นกุญแจดอกสำคัญในการปูทางสู่การรักษาอย่างทันท่วงทีเพื่อช่วยชีวิตผู้คน สอดคล้องกับแผนเชิงคุณค่าแห่งความยั่งยืน 2030 (SVP2030) ของ ฟูจิฟิล์ม เพื่อยกระดับวงการสาธารณสุขทั่วโลก ในฐานะผู้นำระดับโลกด้าน One-stop, Total Healthcare Solution