ส่องแผน “กองทุน ววน.” ฉบับใหม่ สร้างโอกาสในการแข่งขันให้กับประเทศ

ส่องแผน “กองทุน ววน.” ฉบับใหม่ สร้างโอกาสในการแข่งขันให้กับประเทศ

ส่องแผนการเดินหน้า “กองทุน ววน.” ฉบับใหม่ กลไกสร้างประเทศให้ก้าวหน้า กับหัวเรือใหญ่ สกสว. การปรับโฉมครั้งสำคัญที่ “วิจัย วิทยาศาสตร์ นวัตกรรม” จะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมให้ล้ำยิ่งขึ้น

การพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นกลไกสำคัญขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ในเชิงการแข่งขันทางเศรษฐกิจ การพัฒนาทรัพยากรบุคคลทักษะสูง การยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ทำให้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 เป็นต้นมา รัฐบาลจึงมีการปฏิรูประบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ ววน. ของประเทศขึ้นมาใหม่ ผ่านการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.)

เพื่อให้การสนับสนุนงบประมาณด้านการวิจัยของประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ลดความซ้ำซ้อน และส่งเสริมให้เกิดการนำผลงานวิจัยที่เกิดขึ้นไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม 

รัฐบาลยังได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หรือ สกสว.เป็นฝ่ายเลขานุการของกองทุน ววน. ทำหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน และขับเคลื่อนระบบ ววน. ใน 5 ด้านสำคัญ ได้แก่

1. การจัดทำแผน

2. การจัดสรรงบประมาณของกองทุน ววน.

3. การส่งเสริมกลไกการพัฒนาระบบ

4. สร้างระบบการนำผลงานไปใช้ประโยชน์ และ

5.การติดตามประเมินผลการดำเนินงาน ซึ่งการปฏิรูประบบ ววน. ของประเทศกำลังเดินทางเข้าสู่ปีที่ 5 กับแผนด้าน ววน. ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570)

 ทั้งนี้ เพื่อฉายภาพความสำคัญของระบบ ววน. ให้มากยิ่งขึ้น รศ.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. จึงมีแนวทางการเดินหน้างานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศให้เข้มแข็ง และถูกนำไปใช้อย่างตรงกับความต้องการในหลากหลายด้าน

ตลอดจนฉายภาพความท้าทายในปี 2567 ที่จะทำให้วิจัย นวัตกรรม และวิทยาศาสตร์ถูกนำไปใช้ได้ตรงกับทุกบริบท

ส่องแผน “กองทุน ววน.” ฉบับใหม่ สร้างโอกาสในการแข่งขันให้กับประเทศ

186 หน่วยงาน กับการสานต่องบประมาณด้าน ววน.  

หลังปฏิรูปฯ การจัดสรรงบประมาณด้าน ววน. ของประเทศผ่านกองทุน ววน. ซึ่งแบ่งงบประมาณออกเป็น 2 ส่วนหลัก คือ งบประมาณในการสนับสนุนการวิจัยขั้นพื้นฐานและเสริมสร้างศักยภาพการวิจัยให้กับหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกกระทรวง อว. (Fundamental Fund, FF)

ณ ปัจจุบันมีหน่วยงานที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ รวม 186 หน่วยงาน และงบประมาณในการสนับสนุนความจำเป็นเร่งด่วนสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ (Strategic Fund, SF) ผ่านหน่วยบริหารและจัดการทุนทั้ง 9 หน่วยงาน ประกอบด้วย

1. สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) 2. สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) 3. สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร องค์การมหาชน (สวก.) 4. สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) 5. หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)

6. หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัย และสร้างนวัตกรรม (บพค.) 7. หน่วยบริหารจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) 8. ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) และ 9. สถาบันวัคซีนแห่งชาติ (NVI)

ส่องแผน “กองทุน ววน.” ฉบับใหม่ สร้างโอกาสในการแข่งขันให้กับประเทศ

ขณะที่แผนด้าน ววน. ฉบับที่ 2 นี้มีการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมอีก 2 ส่วน คือ งบประมาณส่งเสริมการนำผลงานไปใช้ประโยชน์ (Research Utilization, RU) มุ่งเน้นการใช้ผลงานวิจัยเพื่อประโยชน์เชิงพาณิชย์และเชิงสาธารณะทั้งในระดับพื้นที่และระดับประเทศ แบบบูรณาการทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถานศึกษา และภาคประชาสังคม ภายใต้ พ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564

และงบประมาณส่งเสริมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Science and Technology, ST) มุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และโครงสร้างพื้นฐานคุณภาพสนับสนุนระบบนิเวศของการขับเคลื่อนวิทยาการใหม่

พร้อมกับสร้างโอกาสในการแข่งขันให้กับประเทศ อีกทั้งยังเป็นการแก้ไขข้อจำกัดในการสนับสนุนงบประมาณโครงสร้างพื้นฐานและครุภัณฑ์ของหน่วยงานที่ให้บริการด้านวิทยาศาสตร์    

“วิจัย” ที่สอดคล้องกับความจำเป็นของประเทศ 

จากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว สภาพภูมิอากาศ และความไม่แน่นอนของสถานการณ์ทางการเมืองของแต่ละภูมิภาคในโลก ประเทศไทยจำเป็นต้องมีความยืดหยุ่นเพื่อพร้อมรับมือกับบริบทโลกเหล่านี้

ส่องแผน “กองทุน ววน.” ฉบับใหม่ สร้างโอกาสในการแข่งขันให้กับประเทศ

เช่นเดียวกัน แผนด้าน ววน. จึงต้องสอดคล้องกับความต้องการของประเทศอย่างทันเหตุการณ์ ทำให้ต้องมีการทบทวนแผนด้าน ววน. ตัวชี้วัดและค่าเป้าหมาย ให้เหมาะสม

เช่น การให้ความสำคัญกับการสนับสนุน ววน. ด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์และซอฟต์พาวเวอร์ ความเป็นกลางทางคาร์บอน การแก้ปัญหาความยากจน และการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ และมีความยืดหยุ่นในการจัดสรรงบประมาณมากขึ้น

เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงและนโยบายที่สำคัญของประเทศ โดยให้ความสำคัญกับการจัดสรรงบประมาณแบบผูกพันงบประมาณมากกว่า 1 ปี (Multi-year Promised Grant) เพื่อให้เกิดการดำเนินงานที่ต่อเนื่อง โดยในปี 2566-2567 ได้สนับสนุนจำนวน 4 โครงการ ได้แก่

1) โครงการ “การวิจัยทางคลินิกและการขึ้นทะเบียนวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิด NDV-HXP-S” โดย NVI เป้าหมายคือ การผลิตวัคซีนโควิด-19 ชนิด NDV-HXP-S แบบ Full License ซึ่งคลอบคลุมสำหรับกลุ่มอายุ 3 ปีขึ้นไป รวมถึงในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ เสร็จสมบูรณ์ในปี 2570 และสามารถใช้ได้จริงในการให้บริการ และมีความพร้อมในการให้บริการทั้งในและต่างประเทศ  

ส่องแผน “กองทุน ววน.” ฉบับใหม่ สร้างโอกาสในการแข่งขันให้กับประเทศ

2) โครงการ “การพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์และแบตเตอรี่แพ็คที่มีคุณภาพและราคาที่เหมาะสมตอบสนองความต้องการเฉพาะด้านและแข่งขันได้กับสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ” โดย บพข.

เป้าหมายคือ 1) ผลิตแบตเตอรี่แพ็คที่ร่วมกันออกแบบและพัฒนาต่อยอดการประกอบแบตเตอรี่โดยคนไทย โดยการนำเข้าชิ้นส่วนหลักที่สำคัญจากต่างประเทศ และใช้ชิ้นส่วนสนับสนุน (Suppliers) ในประเทศ (Local Content) อย่างน้อย 20% ให้ผลิตได้ในเชิงพาณิชย์ และผ่านการทดสอบมาตรฐานความปลอดภัยเทียบเท่าระดับสากล พร้อมขายออกสู่ตลาด และ

2) ยานยนต์ไฟฟ้าที่ร่วมกันออกแบบและพัฒนาต่อยอดระบบการประกอบ (System Integration) โดยคนไทย โดยการนำเข้าชิ้นส่วนหลักที่สำคัญจากต่างประเทศ และใช้ชิ้นส่วนสนับสนุน (Suppliers) ในประเทศ (Local Content) อย่างน้อย 20% ให้ผลิตได้ในเชิงพาณิชย์ และผ่านการทดสอบมาตรฐานความปลอดภัยเทียบเท่าระดับสากล พร้อมขายออกสู่ตลาด

3) โครงการ “การพัฒนาแพลตฟอร์มแก้ไขปัญหาและขจัดความยากจนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำแบบบูรณาการใน 5 จังหวัดเป้าหมาย” โดย บพท.

เป้าหมายคือ แพลตฟอร์มขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำระดับจังหวัด (Provincial Poverty Alleviation Platform: PPAP) ซึ่งพื้นที่วิจัยเชิงยุทธศาสตร์ 7 จังหวัด นำไปใช้ในการขับเคลื่อนงานขจัดความยากจนในพื้นที่

4)  โครงการ “การพัฒนาแพลตฟอร์มธุรกิจชุมชนบนฐานทุนทางทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น และการจัดการทุนทางวัฒนธรรมชุมชน เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานรากและแก้หนี้ระดับธุรกิจและครัวเรือน” โดย บพท.

เป้าหมายคือ การพัฒนาระบบการจัดการทุนทางวัฒนธรรม และการพัฒนาระบบจัดการธุรกิจชุมชนบนฐานทุนทางทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น (Local Enterprise) เพื่อการสร้างรายได้ให้กับชุมชน กระจายรายได้ให้กับชุมชน และหนี้ระดับธุรกิจและครัวเรือนกลุ่มเป้าหมายลดลง

ส่องแผน “กองทุน ววน.” ฉบับใหม่ สร้างโอกาสในการแข่งขันให้กับประเทศ

กองทุนววน.สอดรับความต้องการด้วยการประเมินผล

เพื่อให้สามารถระบุปัญหาและช่องว่างของการพัฒนาระบบ ววน. จึงได้จัดทำการทบทวนและประเมินผลการดำเนินงาน โดยมีการทบทวนความสอดคล้องระหว่างศักยภาพของ PMU และหน่วยงานที่ทำวิจัยกับงบประมาณที่จัดสรรให้

ทั้งในด้านการดำเนินงานตามแผน ด้านประสิทธิภาพและประสิทธิผล (Past Performance) ด้านกระบวนการบริหารจัดการ รวมถึงการประเมินความสำเร็จของกองทุน ววน. ที่สามารถสร้างผลลัพธ์ผลกระทบ ตลอดจนนำข้อมูลในอดีตมาวิเคราะห์สู่การปรับปรุง

พร้อมกันนี้เพื่อสร้างความเข้าใจและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สกสว. จึงมีการจัดการอบรมพัฒนาเครือข่ายเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงของระบบ ววน. ให้ผู้บริหารระดับสูงและเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการของหน่วยงาน

ไม่ว่าจะเป็น โครงการพัฒนาผู้จัดการงานวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม โครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรระดับปฏิบัติการด้านการบริหารจัดการงานวิจัยและนวัตกรรม  ส่งเสริมให้เกิดการออกแบบงานวิจัยอย่างมีประสิทธิภาพ เล็งเห็นเป้าหมายปลายทางของการวิจัย นำมาซึ่งผลผลิต ผลลัพธ์ และผลกระทบ ขับเคลื่อนไปสู่การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน หรือ one ววน. 

ส่องแผน “กองทุน ววน.” ฉบับใหม่ สร้างโอกาสในการแข่งขันให้กับประเทศ

ปี พ.ศ. 2567 ปีแห่งความท้าทาย  

นอกจากการส่งเสริมระบบ ววน. ตามพันธกิจแล้ว การตอบสนองนโยบายของรัฐบาลใหม่ก็เป็นสิ่งที่ สกสว. ให้ความสำคัญและเตรียมพร้อม โดยมองว่าในช่วง 6 เดือนข้างหน้า มีประเด็นท้าทายไม่ว่าจะเป็น

1. การศึกษาแนวทางในการจัดตั้งกองทุนร่วมลงทุนในสตาร์ทอัพ ผ่านการร่วมทุนกับนักลงทุนมืออาชีพ เพื่อสร้างผู้ประกอบการใหม่ที่มีสินค้าและบริการจากงานวิจัย

2.การพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจร่วมกับสภาพัฒน์ด้วยแนวทางเอกชนนำ รัฐสนับสนุน เพื่อให้เกิดการลงทุนและยกระดับกำลังคนให้มีทักษะสูง

3.การแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 แบบครบวงจร นำร่องในพื้นที่ภาคเหนือ

4.การนำงานวิจัยมายกระดับภาคการเกษตร เพื่อลดต้นทุนและสร้างรายได้สู่การเกษตรมูลค่าสูง

5. แผนการลงทุนด้าน ววน. ในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และดิจิทัล AI

6. การเปิดใช้งาน open data ของกองทุน ววน. ให้กับสาธารณะ เพื่อใช้ในการหาข้อมูลงานวิจัย เทคโนโลยีที่พร้อมใช้ และโครงการพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ที่พร้อมให้บริการในแต่ละพื้นที่ และ

7.การเร่งวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสีเขียว เทคโนโลยีกักเก็บก๊าซเรือนกระจกรวมถึงการนำไปใช้ เพื่อสนับสนุนเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศ

ที่กล่าวมานี้ ต้องอาศัยการบูรณาการข้ามศาสตร์ ข้ามหน่วยงาน ลดช่องว่างของอุปสรรคการทำงานร่วมกัน โดย สกสว. เองพร้อมให้การสนับสนุนในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เพื่อให้ประเทศไทยก้าวสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างยั่งยืน.