พัฒนาทักษะ AI แรงงาน นายจ้างVSรัฐบาล ใครลงทุน?
“สัตยา นาเดลลา” ซีอีโอไมโครซอฟท์เดินทางมาไทย พร้อมประกาศแผนลงทุนด้านคลาวด์และ AI ในไทย รวมถึงจัดตั้ง “ดาต้าเซ็นเตอร์” คำถามคือเราจะสามารถใช้ Data and AI Center ทำให้ประเทศไทยเป็น Digital Economy Hub ของภูมิภาคได้หรือไม่
คาดหมายว่าการที่ “สัตยา นาเดลลา” ซีอีโอไมโครซอฟท์เดินทางมาไทย พร้อมประกาศแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้าน Cloud และ AI ในไทยครอบคลุมถึงการจัดตั้ง “ดาต้าเซ็นเตอร์” ระดับภูมิภาคแห่งใหม่ ในงาน Microsoft Build: AI Day เวทีพบปะชุมชนนักพัฒนา ผู้นำธุรกิจ และผู้สร้างสรรค์นวัตกรรม ที่กรุงเทพฯ วานนี้ (1 พ.ค.) เป็นการต่อยอดการทำงานจากบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ที่ได้ลงนามกับรัฐบาลไทยให้ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมดิจิทัลและ AI ระยะแรกจะช่วยยกระดับความสามารถ ด้าน AI ให้กับคนไทยกว่า 100,000 คน
โดยหลังจากนี้ ไมโครซอฟท์จะทำงานร่วมกับรัฐบาลไทยอย่างใกล้ชิดในการสนับสนุนนโยบาย “Cloud First” ของภาครัฐ ด้วยโครงการพัฒนาทักษะด้าน AI สำหรับข้าราชการและนักพัฒนาที่ทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ นับว่าเป็นโอกาสที่ดีของประเทศไทย เพราะไมโครซอฟท์เป็นหนึ่งในบริษัทที่ทรงพลังที่สุดในศตวรรษ นี้ และ AI คืออนาคตที่สามารถเปลี่ยนแปลง ทั้งวิถีชีวิต สถานที่ทำงาน และวิธีการดำเนินธุรกิจ
คำถามคือเราจะสามารถใช้ Data and AI Center ทำให้ประเทศไทยเป็น Digital Economy Hub ของภูมิภาคได้หรือไม่ เพราะไม่แน่ใจว่าปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐและบริษัทเอกชนมีการลงทุนพัฒนาแรงงานให้มีทักษะ AI มากน้อยแค่ไหน รวมทั้งสถาบันการศึกษามีคณาจารย์ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญจำนวนมากพอ สำหรับการผลิตกำลังคนที่มีทักษะด้าน AI และดิจิทัลให้แก่นักศึกษา มีการจัดตั้งศูนย์วิจัย AI เพื่อเตรียมตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี
แม้ว่า AI อาจไม่สามารถทดแทนคนได้ 100% แต่ก็ได้ยินมานานว่า AI จะเข้ามาดิสรัปต์การทำงานของแรงงาน ซึ่งมีหลายอาชีพอาจะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี และมีความเสี่ยงตกงานในอนาคต
สภาที่ปรึกษาแรงงานแห่งชาติ กระทรวงแรงงานระบุว่า กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน, อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์, ธนาคารพาณิชย์, ธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่ง เริ่มนำร่องใช้หุ่นยนต์ทดแทนแรงงานได้เฉลี่ย 20-30% ของการจ้างงาน และนายจ้างกลุ่มนี้มีการลดการรับพนักงานเพิ่มชัดเจน รวมทั้งที่ผ่านมา องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ได้ออกแถลงการณ์เตือนแรงงานในกลุ่มอาเซียนว่า แรงงานภาคการผลิต และบริการมีโอกาสถูกกระทบจากการเข้ามาของเทคโนโลยี ทั้งยังคาดการณ์ว่าในระยะเวลา 10 ปีจากนี้ไป แรงงานกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ ก็มีโอกาสจะถูกทดแทนด้วยเช่นกัน
นาทีนี้การนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในธุรกิจเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงจำเป็นต้องพัฒนาทักษะ AI ให้กับกลุ่มแรงงานให้พร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลง ในส่วนของภาคธุรกิจ ที่จำเป็นต้องปรับตัว “นายจ้าง” ที่มองเห็นโอกาส จะลงทุนพัฒนาทักษะให้กับ “พนักงาน” ส่วนรัฐบาลต้องลงทุนสร้างโอกาสในการเติมเต็มทักษะของโลกใหม่ให้กับทรัพยากรของประเทศ เพื่อให้มีความพร้อมในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง ขณะเดียวกัน “แรงงาน” ทุกคนต้องพัฒนาและให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ตลอดชีวิต จึงจะทำให้มีความสามารถที่เหมาะสมกับงานที่จะเกิดขึ้นได้ในอนาคต