ญี่ปุ่นใช้ AI แปลมังงะเป็นภาษาอังกฤษ ตั้งเป้า 5 หมื่นเรื่องภายใน 5 ปี
คออนิเมะว่าไง? เหล่าสำนักพิมพ์ในญี่ปุ่นระดมทุนราว 7 ร้อยล้านบาท ให้กับสตาร์ตอัป Orange เพื่อนำเอไอเข้ามาช่วยแปลมังงะเป็นภาษาอังกฤษ ตั้งเป้า 50,000 เรื่อง ภายใน 5 ปี
Orange สตาร์ตอัปผู้เชี่ยวชาญการแปลด้วยเอไอจากกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ร่วมมือกับกลุ่มนักลงทุนจากภาครัฐและเอกชน ตั้งเป้าแปลมังงะฉบับภาษาอังกฤษ จำนวน 50,000 เรื่อง ภายในระยะเวลา 5 ปี ซึ่งถือเป็นจำนวนมากกว่า 3 เท่าของมังงะภาษาอังกฤษที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยการแปลจะนำเทคโนโลยีเอไอเข้ามาช่วย
สำนักข่าว Nikkei Asia ระบุว่า นักลงทุนกว่า 10 ราย ร่วมระดมทุนมูลค่า 2.92 พันล้านเยน (ราว 696,047,947 บาท) หนึ่งในนั้นเป็นสำนักพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นอย่าง Shogakukan และกองทุน JIC Venture Growth Investments ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนของ Japan Investment Corp. (JIC) องค์กรภายใต้กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น
โดยยังมี Mizuho Capital, Mitsubishi UFJ Capital และ SBI Investment ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการลงทุนพัฒนาเอไอเพื่อแปลมังงะในครั้งนี้
Orange ก่อตั้งปี 2564 ทีมผู้พัฒนามีประสบการณ์สร้างเกมยอดนิยมจากบริษัท Colopl ประกอบไปด้วย บรรณาธิการมังงะ วิศวกรเอไอ และนักแปล
บริษัทอธิบายว่า มังงะถือเป็นสื่อที่แปลได้ยากกว่าเอกสารทั่วไป เพราะบริบทของเรื่องราวประกอบไปด้วยศิลปะทางคำพูด เซ้นส์ ลีลาการรับส่งมุกตลก และอารมณ์ขัน การแปลมังงะ 1 เล่ม แบบดั้งเดิมอาจใช้เวลานานราว 1 เดือน แต่เอไอของ Orange สามารถลดเวลาในการแปลเหลือเพียงแค่ไม่กี่วัน และยังช่วยลดต้นทุนการแปลถึง 90%
กระบวนการแปลของ Orange ขั้นแรกให้เอไออ่านมังงะทั้งหมด เพื่อวิเคราะห์ภาพ จดจำตัวอักษร จากนั้นจะแปลคำศัพท์ในมังงะแต่ละคำให้เป็นภาษาที่ต้องการ เช่น อังกฤษ จีน และภาษาอื่นๆ
เอไอถูกเทรนมาช่วยเรื่องการแปลโดยเฉพาะ สามารถแปลได้ทั้งสำนวน บทกวี และวลีซับซ้อน ซึ่งมีความแม่นยำกว่าการแปลด้วยเอไอธรรมดา เมื่อเอไอแปลต้นฉบับเสร็จทั้งหมดแล้วจะถูกส่งให้กองบรรณาธิการที่เป็นมนุษย์ตรวจสอบและขัดเกลาคำอีกครั้ง ทั้งหมดนี้ ทีมผู้พัฒนากล่าวว่าใช้เวลาเพียงแค่ 2 วัน
Orange ร่วมมือกับสำนักพิมพ์ญี่ปุ่นหลายแห่งแปลมังงะ 500 เรื่องต่อเดือน โดยวางแผนจัดจำหน่ายมังงะหลายประเภทเพื่อครอบคลุมผู้อ่านทุกเพศทุกวัย มังงะที่แปลจาก Orange จะจำหน่ายบนแพลตฟอร์มอีบุ๊คของสำนักพิมพ์อื่นๆ อีกด้วย
นอกจากนี้ บริษัทยังเตรียมเปิดตัวแอปพลิเคชัน emaqi สำหรับคอมังงะในสหรัฐฯ และตั้งเป้าที่จะขยายธุรกิจไปยังประเทศที่ใช้ภาษาสเปนและอินเดียเพิ่มเติม
รายงานจาก Humanmedia บริษัทวิจัยตลาดสื่อสารในโตเกียว ระบุว่า ปี 2565 อุตสาหกรรมคอนเทนต์ของญี่ปุ่น ส่งออกสินค้ามูลค่า 4.7 ล้านล้านเยน ซึ่งใกล้เคียงกับมูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ มังงะและสิ่งพิมพ์อื่นๆ มีส่วนช่วยสร้างรายได้ 320,000 ล้านเยน
ตัวแทนจาก JIC กล่าวว่า การลงทุนใน Orange จะเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมญี่ปุ่น นอกจากนี้ เงินทุนที่ได้รับยังมีส่วนช่วยต่อต้านการละเมิดลิขสิทธิ์ของสมาคม Content Overseas Distribution Association ในญี่ปุ่น ที่สร้างความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ญี่ปุ่น มูลค่าระหว่าง 395.2 พันล้านเยน ถึง 831.1 พันล้านเยน
“ก่อนหน้านี้มักมีผลงานที่ถูกเผยแพร่ออกไปโดยไม่ได้รับอนุญาตจากทางสำนักพิมพ์ ถือว่าละเมิดลิขสิทธ์ เพราะยังไม่ได้แปลอย่างเป็นทางการ ซึ่งการแปลด้วยเอไอจะทำให้สำนักพิมพ์แปลต้นฉบับและเผยแพร่ผลงานได้เร็วขึ้น กล่าวได้ว่า มันสามารถป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ในส่วนนี้ได้”
อ้างอิง: Nikkei Asia