สร้างมูลค่าเพิ่ม โอกาสในอุตสาหกรรมอาหาร

สร้างมูลค่าเพิ่ม โอกาสในอุตสาหกรรมอาหาร

อุตสาหกรรมอาหารตามแนวทาง “ครัวของโลก” เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญกับประเทศเกษตรกรรมอย่างเรา ที่ยังคงมีประชากรส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร เม็ดเงินคาดการณ์ปี 2566 คือส่งออก 1.55 ล้านล้านบาท โตขึ้น 5.5%

ส่วนแบ่งตลาดส่งออกโลกของเราอยู่ที่ 2.47% เพิ่มขึ้นจาก 2.25% ทำให้เราขึ้นเป็น “ผู้ส่งออกอันดับ 12 ของโลก” จากอันดับ 15 ในปีก่อน

เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันการยกระดับผลิตภาพ (Productivity) ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างต่อเนื่อง คือปัจจัยสำคัญ เพื่อเป็นกระดานสปริงของการเติบโตของธุรกิจต่อไปครับ

ผลิตภาพ

หลักการของผลิตภาพคือการมอง Input => Process => Output ทรัพยากรหรือปัจจัยการผลิตใส่เข้าไปในกระบวนการ เพื่อสร้างผลผลิตที่เป็นสินค้า (Goods) และบริการ (Service) 

ยกตัวอย่างอุตสาหกรรมปลากระป๋อง ผลิตภาพการใช้ปลา บอกเราว่า ทุกๆ หนึ่งกิโลกรัมของปลาวัตถุดิบ สามารถผลิตเป็นปลากระป๋องได้จำนวนเท่าใด

มูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรม เกิดจาก 2 ปัจจัย คือ Input และ Output ดังนั้น 2 แนวทางที่ทำได้คือ ลดความสูญเสีย/ต้นทุน (Waste/Cost Reduction) และสร้างมูลค่า (Value Creation)

 

ลดความสูญเสีย/ต้นทุน

วิธีลดต้นทุนคือ การใช้ Input ให้น้อยลง ด้วยการหาว่ามีความสูญเสียอยู่ที่ใดบ้าง ปลาทุกตัว ทุกกิโลกรัมไม่ได้ถูกบรรจุเข้าไปเป็นปลากระป๋อง เป็นการสูญเสียวัตถุดิบ

เช่น ขนาดไม่ได้ตามกำหนด เก็บไว้นานเกินไป วางทับกันจนช้ำ เป็นปลาที่ไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน นอกจากนั้นยังต้องมีการตัดส่วนที่ไม่ต้องการออก เช่น ก้าง ไส้ปลา

กระป๋องที่โรงงานผลิตจำนวนมาก เป็นของที่ไม่ได้คุณภาพไม่สามารถนำเข้าใช้ในกระบวนการบรรจุต่อไปได้ เกิดต้นทุนเพิ่มที่ไม่จำเป็น กับการทำลายหรือการ Recycle

 ความสูญเสียยังเกิดขึ้นในระหว่างกระบวนการผลิต การขนส่ง รวมไปถึงการผลิตที่เกินความต้องการลูกค้า ทำให้ต้องมาลดราคาขายเพื่อระบาย Stock

เมื่อขยายขอบเขตมุมมองมากขึ้นตามแนวคิดระบบ Lean จะทำให้เราเห็นความสูญเสียในอีกหลายมิติ ทรัพยากรสำคัญที่สุดขององค์กรคือคน คือเวลาที่เสียไปโดยเปล่าประโยชน์ และในแง่ศักยภาพ ที่พนักงานไม่ได้ทำงานเต็มกำลังความสามารถของตนเอง 

ความสูญเสียเช่นนี้เกิดกับทั้งแรงงานทางตรงในสายการผลิต และสายงานสนับสนุนอื่นๆ เช่น แผนกซ่อมบำรุง แผนกวิศวกรรม แผนกคลังสินค้า แผนกควบคุมคุณภาพ วางแผนการผลิต จัดซื้อ

ทรัพยากรสำคัญถัดไปคือเครื่องจักร ที่มักจะมองแต่เรื่องเครื่องจักรเสีย ซึ่งเป็นมุมมองอย่างแคบของความสูญเสียจากเครื่องจักร หากปรับมุมมองใหม่เป็นต้นทุนการเสียโอกาส จะมีอีกหลายเรื่องที่ถูกมองข้ามไป เช่น การเสียเวลาปรับตั้งปรับแต่ง, การสูญเสียขณะ เปิด-ปิด-พักเครื่อง, ความเร็วตกทำให้ได้งานน้อยกว่ามาตรฐาน

พลังงานเป็นอีกปัจจัยที่จะทวีความสำคัญขึ้นจากปรากฏการณ์โลกเดือดในปัจจุบัน ทำให้ต้องใส่ใจกับกระแสโลกสีเขียว ทั้งการลดการใช้พลังงาน ลดการสร้างก๊าซเรือนกระจก และเลือกแหล่งพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการใช้น้ำอย่างคุ้มค่าด้วย

สร้างมูลค่าด้วยเทคโนโลยี

อีกกลยุทธ์คือการทำให้ Output (ผลิตภัณฑ์/บริการ) มีมูลค่ามากขึ้น โดยทรัพยากรเท่าเดิม หรือมีการลงทุนก็ได้ โดยเราได้ Output กลับมาคุ้มค่ากว่า เกิดขึ้นได้ทั้งจาก “จำนวน” ที่มากขึ้น หรือ “คุณค่า” ที่มากขึ้น

โอกาสสำคัญในโลกปัจจุบัน คือความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของ “เทคโนโลยี” สวนทางกับต้นทุนที่มีแนวโน้มถูกลงเรื่อยๆ “จุดคุ้มทุน” ในการใช้เทคโนโลยีจึงง่ายขึ้น 

ธุรกิจต้องหา “จุดสมดุล” เพื่อออกแบบกระบวนการว่าควรทำโดยแรงงาน (Manual) ทำโดยระบบการผลิตอัตโนมัติ หุ่นยนต์ หรือใช้เป็นลูกผสม (Semi-Automation)

ข้อได้เปรียบของเครื่องจักรเมื่อเทียบกับแรงงาน คือการลดความเสี่ยงการปนเปื้อน ทำงานได้ 24 ชั่วโมง ด้วยการบำรุงรักษาที่เหมาะสม ในขณะที่คนทำงานกะเดียว ขาดลามาสายได้

 แต่สิ่งที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากเครื่องจักร คือความคิดสร้างสรรค์เพื่อการพัฒนา ปรับปรุงให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตามแนวคิด Kaizen

กระบวนการสร้างมูลค่าโดยเทคโนโลยีนี้ ครอบคลุมกระบวนการทางกายภาพตั้งแต่ การรับวัตถุดิบ การแปรรูป การบรรจุหีบห่อ การขนย้ายภายในโรงงาน การจัดการคลังสินค้าทั้งขาเข้าและขาออก จนถึงการส่งมอบ 

ยังมีเทคโนโลยีการจัดการระบบข้อมูล การจัดเก็บ วิเคราะห์ ประมวลผล แสดงผล ผ่านระบบ IT ในองค์กร ผ่านจอมอนิเตอร์เป็น Dash Board หรือ ส่งไปยังโทรศัพท์มือถือหรืออุปกรณ์สื่อสารอื่น

เทคโนโลยีที่เป็นโอกาสในปัจจุบัน เช่น ระบบหุ่นยนต์การผลิตอัตโนมัติ Internet of Things (IoT) และ Sensor วัดค่าต่างๆ ทำให้ได้ข้อมูลแบบเรียลไทม์, RFID Tag เพื่อติดตามสถานะตลอดทั้งซัพพลายเชน,

ระบบ AI เพื่อตรวจสอบคุณภาพ, ระบบคลาวด์ แทนการลงทุน IT ด้วยตนเอง, Block Chain เพื่อตรวจสอบย้อนกลับ, การพิมพ์ 3 มิติ เพื่อตอบสนองความต้องการลูกค้ารายบุคคล

การสร้างคุณค่าทำได้จากฟังก์ชัน คุณลักษณะของตัวผลิตภัณฑ์ หรือมาจาก Perception ความรู้สึก การรับรู้ ของผู้บริโภคที่เป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกก็ได้

โอกาสของการพัฒนาคุณค่าใหม่ๆ ให้ผลิตภัณฑ์ เช่น เทคโนโลยีบรรจุหีบห่อ อาหารตามไลฟ์สไตล์ผู้บริโภค อาหารเพื่อผู้สูงอายุเพื่อสุขภาพ อาหารเป็นยา อาหารเป็นของขวัญ เนื้อสัตว์ Plant Based 

ความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมอาหาร ต้องมาจากการปรับปรุง “ผลิตภาพ” อย่างต่อเนื่อง ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่ม ที่ทำได้ทั้งสองขา คือการลดความสูญเสียและสร้างมูลค่าที่มากขึ้น

แนวทางทำได้ด้วยการจัดการทรัพยากร กระบวนการ ข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ ผ่านการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาประยุกต์ใช้ และ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามความต้องการของลูกค้าครับ.