โทรศัพท์มือถือ แหล่งกำเนิดผู้เชี่ยวชาญ?
เป็นที่รับรู้ว่าโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ตโฟนถือกำเนิดขึ้นเมื่อ IBM ประกาศเปิดตัวสมาร์ตโฟนในปี 2535 หรือ 35 ปีที่แล้ว (วางจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ในปี 2537) จากนั้นมาสมาร์ตโฟนก็ได้มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของคนมากขึ้นเรื่อยๆ
ในอดีตหน้าที่หลักของโทรศัพท์มือถือ คือ “เครื่องมือสื่อสาร” จากนั้นก็พัฒนาต่อมาเป็น “เครื่องมือสร้างความบันเทิง” ปัจจุบัน นอกจากสื่อสารและบันเทิงแล้ว โทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ตโฟนยังทำหน้าที่ในการเป็นแหล่งเรียนรู้และสร้างผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ออกมาด้วย
โทรศัพท์มือถือได้ทำให้คนจำนวนไม่น้อยกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญ หรือเป็นนัก... ในด้านต่างๆ จำนวนมาก (คำว่า นัก... มักจะเป็นคำนำหน้า ที่แสดงถึงคนที่มีอาชีพหรือผู้ที่มีความชำนาญในด้านนั้นๆ) ท่านผู้อ่านลองสังเกตจากตนเองหรือรอบตัวแล้วจะพบว่าหลายคนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ อันเนื่องมาจากโทรศัพท์มือถือ
อาทิ นักพยากรณ์อากาศ ที่ปัจจุบันเพียงแค่เหลือบมองมือถือก็จะสามารถบอกได้ว่าฝนจะตกในอีกกี่ชั่วโมง หรืออากาศและฝุ่นเป็นอย่างไร หรือนักซื้อที่สามารถเอฟทุกอย่างที่อยากได้ เมื่อเกิดความต้องการในสินค้าใดก็สามารถตรวจสอบราคาและสั่งซื้อสินค้านั้นได้ทันที หรือนักเดินทาง ที่รอบรู้และเชี่ยวชาญในสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ แม้จะเป็นประเทศที่ไม่เคยไปมาก่อน
หรือนักการเงินที่ทุกคนสามารถกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและการลงทุน หรือนักข่าว ที่สามารถสืบหาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องราวและบุคคลต่างๆ ทั้งอดีตและปัจจุบันได้อย่างรวดเร็ว หรือนักบริหาร ที่จะคอยสั่งงาน แก้ไขปัญหาและประสานงานกับผู้อื่น และดูวุ่นวายอยู่กับมือถืออยู่ตลอดเวลา เป็นต้น
โทรศัพท์มือถือสร้างผู้เชี่ยวชาญขึ้นมาได้ เนื่องจากคนใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อค้นหาข้อมูลหรือเรียนรู้ในเรื่องต่างๆ สำหรับในประเทศไทยนั้น
ข้อมูลจาก Statista ของปี 2566 ระบุว่าเมื่อเรียงลำดับสาเหตุที่คนไทยใช้โทรศัพท์มือถือเข้าอินเทอร์เน็ตนั้น สาเหตุอันแรกคือการค้นหาข้อมูล ตามด้วยการติดตามข่าวสาร ตามด้วยการดูคลิป หนัง วิดีโอ ตามด้วยการหาไอเดียและแนวคิดใหม่ๆ และ ตามด้วยการวิจัยเพื่อหาทางแก้ปัญหาหรือทำบางสิ้น
จะเห็นได้ว่าใน 5 อันดับแรกของการใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อเข้าเน็ตนั้น ก็จะเป็นเรื่องของการค้นหาข้อมูลและเรียนรู้เป็นหลัก โทรศัพท์มือถือสามารถทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลที่มีอยู่ทั่วโลกอย่างมากมายด้วยเวลาอันรวดเร็ว
ขณะเดียวกัน บรรดาแอปพลิเคชันต่างๆ ก็ช่วยทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลที่ผ่านการวิเคราะห์ได้ง่ายขึ้น รวมทั้งมีแอปที่ช่วยในการเรียนรู้และจำลองสถานการณ์ อีกทั้งการมีชุมชนที่สนใจในเรื่องเดียวกันบนโลกออนไลน์ ยังทำให้เกิดการเรียนรู้และสร้างความเชี่ยวชาญได้ง่ายขึ้น
ข้อดีของการเรียนรู้และเป็นผู้เชี่ยวชาญผ่านทางโทรศัพท์มือถือนั้นคือความสะดวก สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย ประหยัดค่าใช้จ่าย อีกทั้งเป็นการเรียนรู้ส่วนบุคคลที่จำเพาะเจาะจงสำหรับแต่ละคน แต่ก็มีข้อจำกัดเช่นเดียวกัน
เช่น เป็นการเรียนรู้แบบผิวเผิน สิ่งที่เรียนรู้นั้นจะมีความรู้ที่สั้นและกระจัดกระจาย อาจจะตอบสนองความต้องการได้เฉพาะเรื่อง อีกทั้งการขาดประสบการณ์จริง เพราะเป็นการเรียนรู้ผ่านทางประสบการณ์ของผู้อื่น และจากความง่ายในการเข้าถึงข้อมูลนั้น ทำให้เชื่อถือในข้อมูลที่เข้าถึงและลดความสำคัญกับการคิดอย่างมีวิจารณญาณว่าข้อมูลเหล่านั้นจริงหรือไม่
ทำให้มีประเด็นที่น่าคิดว่าจริงๆ แล้วผู้เชี่ยวชาญจากมือถือนั้น เป็นผู้เชี่ยวชาญจริง หรือผู้เชี่ยวชาญที่ผิวเผินเท่านั้น? ผู้เชี่ยวชาญจริงจะมีความเข้าใจในเนื้อหาอย่างลึกซึ้งและสามารถนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในทางปฏิบัติจริง
ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญที่ผิวเผินจะไม่ได้มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งและในกระบวนการเรียนรู้นั้นก็เป็นเพียงการเรียนรู้ที่กระจัดกระจายจากหลายแหล่ง ขาดการศึกษาและสำรวจอย่างลึกซึ้ง เป็นความเชี่ยวชาญที่เกิดขึ้นจากการอ่านและฟังมาอีกที และเป็นการอ่านและฟังในสิ่งที่เข้าถึงได้ง่ายและรวดเร็ว
ดังนั้น จะเห็นว่าถึงแม้ว่าโทรศัพท์มือถือจะเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้และสร้างผู้เชี่ยวชาญได้ง่าย และเป็นเครื่องมือที่เปลี่ยนโลกของการเรียนรู้และหาข้อมูล แต่ผู้เชี่ยวชาญที่ถือกำเนิดขึ้นจากโทรศัพท์มือถือ เป็นผู้เชี่ยวชาญที่ไม่ได้มีความรู้ในเชิงลึก
ยิ่งในยุคที่ AI ได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของโทรศัพท์มือถือแล้ว การเรียนรู้และหาข้อมูลผ่านทาง AI ยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้นว่านอกจากจะเป็นผู้เชี่ยวชาญอย่างผิวเผินแล้ว ยังเป็นผู้เชี่ยวชาญอย่างผิวเผินที่ผิดอีกด้วย