สตรีมไร้คนจริง? อินฟลูฯ จีนใช้ AI ปลอมเป็นตัวเองไลฟ์ทำคอนเทนต์
วงการสตรีมสะเทือน เหล่าคนดังหันใช้โคลนเอไอไลฟ์แทนตัวจริง IDC คาด นักไลฟ์ชาวจีนจะสามารถสร้างยอดขายราว 689 พันล้านดอลลาร์ในปี 2023 คิดเป็นสัดส่วนกว่า 11% ของภาคอีคอมเมิร์ซทั้งหมด
หลิว รัน (Liu Run) อินฟลูเอนเซอร์ชาวจีนบนแพลตฟอร์ม Douyin ผู้ติดตามมากกว่า 1 ล้านคน ใช้เอไอสร้างร่างโคลนดิจิทัลของตนขึ้นมาไลฟ์แนะนำเคล็ดลับสำหรับผู้บริหาร แชร์ข้อมูลเชิงธุรกิจ และเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการเป็นผู้ประกอบการ
หลิวระบุว่า มีผู้ชมเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่สามารถแยกระหว่างร่างโคลนเอไอและตัวจริงของเขาได้
ร่างโคลนเอไอไลฟ์สตรีมและดีฟเฟกที่ระบาดในจีนทำให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตบางคนไม่พอใจ ยกตัวอย่างเช่น ผู้ใช้ Weibo แอคเคาท์ @bachuanxiaoji แสดงความคิดเห็นว่า “ตอนนี้เหล่าคนดังสามารถนอนอยู่เฉยๆ ก็หาเงินได้”
อย่างไรก็ตาม ยังมีดีฟเฟกของศิลปินชื่อดังอย่าง เฉิน อี้หรู (Calvin Chen) อดีตสมาชิกวงบอยแบนด์ ฟาเรนไฮต์ (Fahrenheit) นั่งไลฟ์รับประทานตีนไก่ติดต่อกันนาน 15 ชั่วโมง ให้กับผู้ติดตาม 9 ล้านคนของเขา หลังบริษัทเปิดเผยว่าการถ่ายทอดสดดังกล่าวเป็นเอไอ ไม่ใช่ตัวจริง ทำให้เฉินสูญเสียผู้ติดตาม 7,000 คน ภายในเวลาสามวัน
โคลนเอไอกับผลกระทบต่อแบรนด์
การนำดีฟเฟกและร่างโคลนเอไอมาใช้กับวงการอีคอมเมิร์ซและไลฟ์สตรีมของจีน ถือเป็นการพัฒนาครั้งใหญ่ด้านกลยุทธ์การตลาด ซึ่งมีผลกระทบต่อแบรนด์ในหลายแง่มุม
ร่างโคลนเอไอช่วยให้แบรนด์สามารถควบคุมข้อความที่ต้องการสื่อสารได้อย่างแม่นยำ สร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้มีความสม่ำเสมอ และลดต้นทุนกับการทำงานร่วมกับอินฟลูเอนเซอร์ตัวจริง ซึ่งอาจแปลว่าแบรนด์ประหยัดเงินและลดความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการทำงานกับคนจริงๆ
ด้านความน่าเชื่อถือยังคงเป็นอุปสรรค เพราะผู้บริโภคในปัจจุบันต้องการอินฟลูเอนเซอร์ที่จริงใจ เขาต้องการโต้ตอบกับอินฟลูด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง เป็นประโยชน์ ไม่แฝงอคติ และเน้นประสบการณ์จริง เช่น กรณีของ เฉิน อี้หรู จะเห็นได้เลยว่า มีคนไม่พอใจกับการใช้เอไอไลฟ์สตรีม และเลิกติดตามในที่สุด
นอกจากนี้ ก็ยังส่งผลต่อภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่อาจถูกมองว่า “ขาดความพยายาม” หรือ “ขาดความคิดสร้างสรรค์” ดังนั้น แบรนด์ต่างๆ จำเป็นต้องสร้างสมดุลระหว่างการใช้เอไอ กับการมีส่วนร่วมของมนุษย์อย่างระมัดระวัง เพื่อรักษาความไว้วางใจของผู้บริโภค
ด้านกฎหมายดีฟเฟก การใช้เอไอ ยังคงถูกจับตามองอย่างเข้มงวด หน่วยงานกำกับดูแลของจีนออกข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการใช้เอไอเพื่อสร้างสรรค์เนื้อหา โดยระเบียบร่างดังกล่าวกำหนดให้ การนำข้อมูลชีวภาพไปใช้สร้างเป็นดีฟเฟก ต้องได้รับการยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากบุคคลจริงเสียก่อน
อย่างไรก็ตาม แนวทางดังกล่าวยังคลุมเครือในประเด็นที่ว่า เนื้อหาเหล่านี้ควรถูกระบุและนำเสนอต่อสาธารณชนอย่างไร ยังมีข้อมูลเพิ่มเติมว่า แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย Douyin ได้ออกมาตรการห้ามถ่ายทอดสดที่ดำเนินการโดยเอไอเพียงอย่างเดียวอีกด้วย
อนาคตตลาดมนุษย์ดิจิทัลจีน
เอไอทำให้การสร้างโคลนเอไอหรือดีฟเฟกเข้าถึงผู้คนได้ง่ายขึ้น เทคโนโลยีนี้มีราคาถูกเทียบเท่ากับแอปพลิเคชันบนมือถือ ใช้เพียงแค่ฟุตเทจวิดีโอ 60 วินาที ก็สามารถเริ่มต้นฝึกฝนเพื่อสร้างแฝดเสมือนสำหรับไลฟ์สตรีมได้แล้ว
ส่วนโซลูชันขั้นสูงที่สร้างภาพลักษณ์เลียนแบบอินฟลูเอนเซอร์เป๊ะๆ จะมีราคาหลายพันดอลลาร์ การมีปริมาณฟุตเทจวิดีโอเยอะ เช่น วิดีโอบน TilTok จะทำให้สร้างได้ง่ายกว่าเดิมยิ่งขึ้น
ตามการคาดการณ์ของ IDC ตลาดมนุษย์ดิจิทัลของจีนมีแนวโน้มขยายตัวถึง 1.5 พันล้านดอลลาร์ภายในปี 2026 โดยนักไลฟ์สตรีมชาวจีนคาดว่าจะสามารถสร้างยอดขายได้ประมาณ 689 พันล้านดอลลาร์ในปี 2023 คิดเป็นสัดส่วนกว่า 11% ของภาคอีคอมเมิร์ซทั้งหมด
บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Baidu, Tencent และ Alibaba กำลังสร้างสรรค์เทคโนโลยีการโคลนนิ่งด้วยเอไอ แม้แต่ Xiaoice แชตบอตแยกตัวจากไมโครซอฟท์สำหรับใช้ในจีน ก็ได้ประกาศโปรแกรมที่ดูเหมือนว่าจะมุ่งเป้าไปที่การโคลนนิ่งด้วยเอไอ สำหรับเหล่าอินฟลูเอนเซอร์และคนดัง
ชิว อี้อู (Qiu Yiwu) นักธุรกิจชาวจีนเชื่อว่า การนำมนุษย์ดิจิทัลที่สร้างจากเอไอมาใช้เชิงพาณิชย์เป็นเทรนด์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
“โดยพื้นฐานแล้ว นี่คือการอนุญาตสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของเศรษฐกิจเสมือนจริง และเป็นการนำคนเข้าสู่ระบบดิจิทัล” ชิว กล่าวผ่านบล็อกจีน ShenRan Qiu
อ้างอิง: Jing Daily และ The Guardian