เราพร้อมเข้าสู่ยุคของ AI Economy แล้วหรือยัง

เราพร้อมเข้าสู่ยุคของ AI Economy แล้วหรือยัง

ตอนที่เราเริ่มรู้จักคำว่า “เศรษฐกิจดิจิทัล” (Digital Economy) ใหม่ๆ จากหนังสือของ Don Tapscott ชื่อ The Digital Economy : Promise and Peril in the Age of Networked Intelligence ในปี 2538 โดยนิยามเศรษฐกิจดิจิทัล คือ “ระบบเศรษฐกิจที่มีการใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีในกิจกรรมต่างๆ”

กระทั่งการมาถึงของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) ที่กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด จากการเอาชนะอุปสรรคต่างๆ ในการพัฒนา neural network รวมถึงการมีโครงสร้างพื้นฐานของ AI อย่าง GPU ที่กว้างขวางเพียงพอ และประการสำคัญคือการมีปริมาณข้อมูลดิจิทัลจำนวนมหาศาลที่ใช้ในการสอนระบบ AI

ดังนั้น จึงเป็นที่มาของคำถามว่า เราพร้อมจะเข้าสู่ยุค AI Economy แล้วหรือยัง ถ้าใช้นิยามที่คล้ายกัน AI Economy ก็คือ “ระบบเศรษฐกิจที่มีการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในกิจกรรมต่างๆ” โดยยังมีเรื่องที่น่าคิดตามมาคือ AI Divide ว่าจะเกิดขึ้นเหมือนกับ Digital Divide หรือไม่

จากเอกสารอ้างอิงของ IMF กล่าวว่า “AI Will Transform the Global Economy. Let’s Make Sure It Benefits Humanity.” โดยคาดว่า AI จะส่งผลกระทบเกือบ 40% ต่อตำแหน่งงานต่างๆ ทั่วโลก ผลกระทบนั้นจะเกิดจากการนำ AI ไปทดแทนงานบางหน้าที่ แต่ในขณะเดียวกันก็จะมีการสร้างงานใหม่ๆ เกิดขึ้นด้วยเช่นกัน

IMF แนะนำว่าเราจะต้องสร้างนโยบายที่สมดุลอย่างระมัดระวังเพื่อดึงประโยชน์ของ AI มาใช้ให้ได้ผลลัพธ์สุทธิเป็นบวกต่อเศรษฐกิจและต่อมนุษยชาติ ผลกระทบทางบวกที่แน่นอนคือ การเพิ่มผลิตภาพของกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและยกระดับรายได้

ส่วนผลกระทบทางลบ คือเกิดความไม่เท่าเทียมกันของผู้ที่สามารถประยุกต์ใช้ AI และผู้ที่ถูกทอดทิ้งไว้เบื้องหลัง (AI Divide) ทั้งนี้ผลลัพธ์สุทธิอาจจะยากในการพยากรณ์ เพราะการประยุกต์ใช้ AI ที่จะกระจายตัวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจะมีความซับซ้อนมาก จึงเป็นที่มาของคำแนะนำของ IMF ที่ควรมีการสร้างชุดนโยบายเพื่อให้เกิดความมั่นใจได้ว่า AI จะเกิดประโยชน์ต่อมนุษยชาติเป็นสำคัญ

หากลองดูตัวอย่างแนวคิดการประยุกต์ใช้ AI ในด้านต่างๆ เพื่อให้เห็นแนวทางที่ AI จะส่งผลต่อกิจกรรมต่างๆ ในระบบเศรษฐกิจที่บางส่วนเราก็ได้พบเห็นอยู่แล้วในปัจจุบัน พอเป็นสังเขปได้ดังนี้

1.อุตสาหกรรมยานยนต์ เช่น การพัฒนาระบบการขับเคลื่อนโดยอัตโนมัติ (self-driving car) เพื่อลดอุบัติเหตุทางท้องถนน แต่ปัจจุบันยังไม่ไปถึงจุดที่มั่นใจได้ โดยในอนาคตจะมีการพัฒนาระบบสื่อสารระหว่างรถยนต์ด้วย 5G/6G ทำให้รถแต่ละคันติดต่อเชื่อมถึงกันโดยมีการระบุตำแหน่งกันและในที่สุดจะป้องกันอุบัติเหตุได้อย่างถาวร

ระบบช่วยขับ ช่วยตรวจจับจุดอับสายตาและหยุดรถอัตโนมัติป้องกันอุบัติเหตุ ระบบ adaptive cruise control รวมถึงระบบช่วยจอดรถ เป็นต้น ทั้งนี้ในอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์นั้นมีการใช้หุ่นยนต์อุตสาหกรรมในสายการผลิตมานานแล้ว

2.อุตสาหกรรมสื่อสารโทรคมนาคม เช่น ระบบ predictive maintenance เพื่อทำให้โครงข่ายโทรคมนาคมมีเสถียรภาพและใช้งานได้ตลอดเวลา ระบบพยากรณ์การใช้งานแบบเวลาจริง เพื่อจัดสรรทรัพยากร (network slicing) ให้รองรับการใช้งานได้ตามคุณภาพการบริการที่ให้สัญญาไว้ ระบบการบริการลูกค้าด้วย digital assistant ที่สร้างเสริมประสบการณ์ที่ดีของลูกค้า

3.อุตสาหกรรมการเงินและประกันภัย เช่น การบริหารความเสี่ยงในการรับลูกค้าในการกู้เงิน หรือรับประกันภัยจากการวิเคราะห์และสร้าง profile ลูกค้าตามระดับความเสี่ยง รวมถึงการสร้างระบบ fraud prevention ป้องกันการฟอกเงิน เป็นต้น

4.อุตสาหกรรมบริการสุขภาพ เช่น ผู้ช่วยแพทย์วิเคราะห์ภาพถ่ายทางการแพทย์เช่น X-Ray, MRI ตลอดจนการวิเคราะห์สุขภาพของคนไข้ในรูปแบบแพทย์ทางไกล (telemedicine) และแจ้งเตือนแพทย์หากมีแนวโน้มทางลบ

5.หน่วยงานของรัฐ เช่น การป้องกันอาชญากรรม (predictive policing) โดยทำงานร่วมกับระบบกล้องวงจรปิดเพื่อตรวจจับพฤติกรรมของคนที่มีแนวโน้มจะก่อเหตุ หรือระบบป้องกันอุบัติภัยทางธรรมชาติอย่างน้ำท่วมจากการวิเคราะห์สิ่งบอกเหตุ (precursor) ต่างๆ เป็นต้น

6.อุตสาหกรรมอื่นๆ
ตัวอย่างการประยุกต์ใช้ข้างต้นอาจจะพอให้เห็นภาพว่า AI จะสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในด้านต่างๆ มากมายและหลากหลายอุตสาหกรรม อย่างไรก็ดี IMF สำรวจวิเคราะห์ผลกระทบของ AI ต่อการจ้างงานไว้ว่า สำหรับเศรษฐกิจที่พัฒนาก้าวหน้าแล้ว ผลกระทบต่อการจ้างงานจะมีสูงถึง 60% ด้วยอัตราค่าจ้างที่สูงเป็นทุนเดิม ที่การประยุกต์ใช้ AI จะคุ้มค่าและช่วยลดทั้งอัตราจ้างและค่าจ้างลง

ส่วนระบบเศรษฐกิจเกิดใหม่ (อย่างไทย) และระบบเศรษฐกิจฐานรายได้ต่ำ ผลกระทบของ AI ต่อการจ้างงานจะเป็น 40% และ 26% ตามลำดับ อย่างไรก็ดี AI จะส่งผลให้ช่องว่างของรายได้และความมั่งคั่งกว้างมากยิ่งขึ้น ตรงไปตรงมาก็คือ พนักงานที่สามารถใช้ AI มาช่วยในการทำงานจะมีผลิตภาพสูงขึ้นและได้ค่าจ้างมากขึ้น ส่วนคนที่ไม่เรียนรู้และไม่สามารถใช้ AI ได้จะถูกทิ้งไว้ข้างหลังนั่นเอง (AI Divide)

ทั้งนี้ IMF ได้ศึกษาและพัฒนา AI Preparedness Index เพื่อช่วยให้แต่ละประเทศเขตเศรษฐกิจต่างๆ นำไปใช้ในการวางนโยบายเพื่อลดผลกระทบทางลบของ AI ต่อตลาดแรงงานและลดช่องว่างของรายได้และความมั่งคั่งของประชนชนลง

อ้างอิง AI will transform the global economy. let’s make sure it benefits humanity. (2024, January 14). IMF