พฤติกรรม “คน” ที่เปลี่ยนไป ในยุค AI Economy

พฤติกรรม “คน” ที่เปลี่ยนไป ในยุค AI Economy

พัฒนาการของ AI กำลังไล่ส่งผลกระทบไปทีละอุตสาหกรรม โดยการเปลี่ยนมาตรฐานของสิ่งที่เรียกว่า “ประสิทธิภาพ” ไปจากยุคสมัยเดิมอย่างสิ้นเชิง ซึ่งส่งผลให้ภูมิทัศน์ด้านต่างๆ ทั้งตลาดแรงงานและการลงทุนเปลี่ยนตาม

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ

“AI จะช่วยให้คนรวยขึ้น” Jensen Huang ผู้ร่วมก่อตั้งและ CEO ของ Nvidia ผู้ครอบครองตลาดผลิตชิป AI อันดับ 1 ของโลกกล่าวไว้ ซึ่งแน่นอนว่าตัวเขาเองรวยขึ้นจากการพัฒนาของเทคโนโลยี AI อย่างก้าวกระโดดในช่วงปีที่ผ่านมา

พัฒนาการของ AI กำลังไล่ส่งผลกระทบไปทีละอุตสาหกรรม โดยการเปลี่ยนมาตรฐานของสิ่งที่เรียกว่า “ประสิทธิภาพ” ไปจากยุคสมัยเดิมอย่างสิ้นเชิง ซึ่งส่งผลให้ภูมิทัศน์ด้านต่างๆ ทั้งตลาดแรงงานและการลงทุนเปลี่ยนตาม

การลงทุนใน AI กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วจากทั้งนักลงทุนองค์กรและภาครัฐ Bank of America คาดว่า AI จะสร้างรายได้ทั่วโลกถึง 900 พันล้านดอลลาร์ภายในปี 2026 และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจทั่วโลกถึง 15.7 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2030 โดยสหรัฐอเมริกาและจีน ซึ่งเป็นสองประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก จะได้รับประโยชน์มากที่สุดจาก AI ด้วยสัดส่วนถึง 70% ของผลกระทบทางเศรษฐกิจทั่วโลกที่เกิดจาก AI โดยอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศจะได้รับประโยชน์สูงสุด ซึ่งรวมถึงการพัฒนาซอฟต์แวร์ เซมิคอนดักเตอร์ ศูนย์ข้อมูล และความปลอดภัยทางไซเบอร์

ผลกระทบต่อพฤติกรรมผู้บริโภค

ปัจจุบันมีบริษัทที่ให้บริการทางการเงินใช้ AI เพื่อให้บริการลูกค้าและตรวจจับการฉ้อโกงได้ดีขึ้น บริการด้านการแพทย์ที่ใช้ AI เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการวินิจฉัยความเจ็บป่วย ผู้ผลิตที่ใช้ AI เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องจักรในโรงงาน และหน่วยงานรัฐที่ใช้ AI แก้ไขปัญหาของเมือง เช่น การจราจร มลภาวะ อาชญากรรม บริการสาธารณะต่างๆ ฯลฯ จากการที่ AI กำลังฝังตัวอยู่ในชีวิตประจำวันมากขึ้น ไม่เพียงเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ แต่ยังส่งผลต่อสังคม พลเมือง และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เริ่มเปลี่ยนไป

จากการที่ระบบ Automation และ AI กำลังถูกนำมาใช้กับกระบวนการบริการที่เคยต้องพึ่งพาคนมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ผู้บริโภคจะเริ่มยกระดับการคาดหวังในการได้รับบริการ เช่น การใช้ AI Chatbot ในการตอบคำถามและให้บริการที่พบบ่อยกับลูกค้า ซึ่งพบว่าสามารถลดเวลาที่เคยใช้ในการบริการจากหลายชั่วโมง หรือที่เคยต้องรอเป็นวันเพราะต้องรอเวลาเริ่มทำงานตอนเช้าวันถัดไปหรือข้ามวันสุดสัปดาห์ เหลือเฉลี่ยเพียง 5 นาทีกว่าๆ ตลอด 24 ชั่วโมง

ผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในมนุษย์ด้วยกันเอง

วันนี้ มีผลการศึกษาที่บ่งชี้ว่า มนุษย์เริ่มมีความเชื่อมั่นในการตัดสินใจที่มาจากการใช้ AI ร่วมกับมนุษย์ มากกว่าการตัดสินใจที่มาจากมนุษย์เพียงอย่างเดียว โดย KPMG พบว่าสัดส่วนการทำงานของ “AI:มนุษย์” ที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับมนุษย์ด้วยกันเองนี้ อยู่ที่ระดับ 25%:75% ถึง 50%:50% หรือกล่าวคือมี AI มาช่วยงานมนุษย์ประมาณหนึ่งในสี่จนถึงครึ่งหนึ่งของกระบวนการ (ยังดีนะครับ ที่คนเรายังต้องการ AI ไม่เกิน 50% ถึงจะเชื่อมั่น!)

ซึ่งนี่อาจส่งผลถึงความเชื่อมั่นที่มีต่อความโปร่งใสและความยุติธรรมในมาตรฐานการตัดสินใจโดยมนุษย์เพียงลำพัง เทียบกับมนุษย์ที่มี AI ร่วมด้วยในอนาคต!

การศึกษาคือพื้นฐานสำคัญของ AI Economy

อัตราความเชื่อมั่นในระบบ AI มีความแตกต่างกันในประชากรแต่ละประเทศ เช่น จีน เชื่อมั่นในระดับ 87% ในขณะที่ สหรัฐอเมริกา เชื่อมั่นในระดับ 56% อย่างไรก็ตาม พบว่ากลุ่มคนที่มีการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยขึ้นไป มีแนวโน้มมีความไว้ใจ AI มีความรู้สึกว่า AI จะเข้ามาสร้างงานมากกว่าทำลายงาน และรู้สึกสบายใจในการใช้งาน AI มากกว่ากลุ่มคนที่ไม่มีการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย

มีมุมมองที่ทั้งเป็นบวกกับเทคโนโลยีนี้ โดยมองว่า AI จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา นักเรียนจะเข้าถึงเนื้อหาการศึกษาได้ง่ายขึ้น ด้วยต้นทุนถูกขึ้น ทั้งด้านราคา เวลา และสถานที่ ในขณะที่ครูคนหนึ่งจะสามารถวิเคราะห์และปรับปรุงหลักสูตรการสอนได้ดีขึ้น วัดผลและประเมินผลการเรียนรู้ได้แม่นยำขึ้น สร้างสื่อการสอนได้รวดเร็วขึ้น จนไปถึงสามารถพัฒนาเนื้อหาการเรียนการสอนให้เหมาะสมแบบเฉพาะเจาะจงกับผู้เรียน (Personalized Learning) ในขณะที่อีกมุมก็มีความเป็นห่วงพื้นที่ที่ขาดอุปกรณ์หรือความพร้อมที่จำเป็นในการปรับตัวว่าจะถูกทิ้งห่างไปเรื่อยๆ

คุณค่าของคนที่เหลือ

นับวันที่ผมเริ่มเห็นการใช้ AI ค่อยๆ แทนที่งานที่ผมและทีมงานทำอยู่มากขึ้นไปทีละงานสองงาน เทรนด์คุณค่าที่น่าจะเหลืออยู่ของมนุษย์ในยุค AI นี้ก็เริ่มชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ คือ ความเข้าใจในคุณค่าของสังคมหรือความฉลาดทางสังคม (Social intelligence) ความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) และจริยธรรม (Ethics) ซึ่งผมมองว่ามนุษย์ที่มีทั้ง 3 ข้อนี้ครบถ้วนในระดับที่สูง (บวกกับมีทักษะที่ยังจำเป็นอยู่สำหรับการทำงานนั้นๆ) จะเป็นที่ต้องการและถูกมองเห็นเด่นชัดในอนาคตอันใกล้