ก้าวต่อไปของ AIP แพลตฟอร์มสนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบายภาครัฐในทุกระดับ
“แพลตฟอร์ม AIP” เครื่องมือสนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบายภาครัฐในทุกระดับ เป็นผลมาจากโครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนาดาวเทียม THEOS-2 ด้วยความร่วมมือระหว่าง GISTDA กับบริษัท AIRBUS
ด้วยความมุ่งมั่นของ GISTDA ที่ต้องการนำเทคโนโลยีอวกาศมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์กับคนในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด “แพลตฟอร์ม AIP” หรือ “Actionable Intelligence Policy” จึงเกิดขึ้น พร้อมๆ กับ โครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา THEOS-2
AIP เครื่องมือช่วยสนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบายในทุกระดับ โดยใช้กระบวนการประยุกต์ใช้ข้อมูลอย่างชาญฉลาด ช่วยในการสังเคราะห์ข้อมูลให้ผู้กำหนดนโยบาย มองเห็นสถานการณ์ มิติของปัญหา วิธีการแก้ไขปัญหาได้อย่างครบถ้วนและรอบด้าน ซึ่งจะนำไปสู่การกำหนดนโยบายที่เหมาะสมและนำไปปฏิบัติได้จริง
กว่า 6 ปี แพลตฟอร์ม AIP ได้มีการเริ่มต้น และพัฒนาให้เหมาะสมกับการใช้งานในประเทศไทย ผ่านการนำร่องใช้งานในพื้นที่ต้นแบบ ทั้งในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ที่มีการทดสอบนโยบายการจัดการน้ำ เพื่อให้มีเพียงพอต่อความต้องการในภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม ภาคครัวเรือน และกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
และในพื้นที่จังหวัดน่าน ที่ใช้ AIP เพื่อประเมินความเหมาะสมของการใช้ที่ดิน และความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อวางแผนการจัดการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ การหาพื้นที่และแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมในการประกอบอาชีพ เพื่อดำรงชีพร่วมกับทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน
จากโมเดลนำร่องใน 2 พื้นที่ดังกล่าว มีการขยายผลไปสู่การใช้งานแพลตฟอร์ม AIP ในด้านอื่น ๆ ทั้งเรื่องของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change ) ที่จังหวัดนครราชสีมา และการปล่อยก๊าซมีเทนในข้าวที่จังหวัดชัยนาท
รวมถึงการต่อยอดระบบบริหารจัดการน้ำกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ที่กำลังจะขยายผลการใช้งานไปสู่พื้นที่อื่น ๆ และเป็นการวางแผนคาดการณ์กับนโยบายที่เห็นผลในระยะสั้นมากขึ้น
ผลตอบรับจากการดำเนินงานที่ผ่านมา “ดร.ดิชพงษ์ ภูมิเกียรติศักดิ์” หัวหน้าฝ่ายพัฒนาระบบนวัตกรรมนโยบายเชิงพื้นที่ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA กล่าวว่า การนำแพลตฟอร์ม AIP ไปประยุกต์ใช้ในด้านต่างๆ ปัจจุบันได้รับความสนใจจากหน่วยงานภาครัฐมากขึ้น
โดยมีทั้งการขยายผลความร่วมมือกับพันธมิตรอย่างต่อเนื่อง เช่น เรื่องการบริหารจัดการน้ำ การเกษตร และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ขณะเดียวกันในเรื่องใหม่ๆ ก็มีหน่วยงานภาครัฐให้ความสนใจในการนำหลักการของ AIP ไปใช้ในมิติอื่น ๆ อย่างเช่น การบริหารจัดการเมือง ที่จำเป็นต้องมีการวางแผนรองรับการขยายตัวของเมือง การจัดการที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาที่จะตามมาจากจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคต
อย่างไรก็ดี การทำ AIP เพื่อสนับสนุนการกำหนดนโยบาย จำเป็นที่จะต้องเกี่ยวข้องกับปัจจัยในมิติต่าง ๆมากกว่า 1 ด้าน และมีการเชื่อมโยงประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เห็นภาพ สถานการณ์ตั้งแต่อดีต ปัจจุบันและจำลองเหตุการณ์เพื่อคาดการณ์ไปถึงอนาคต…
ด้วยเป้าหมายของ AIP คือ การเป็นเครื่องมือของหน่วยงานภาครัฐ ให้สามารถกำหนดนโยบายได้ตรงเป้าหมายมากขึ้น โดยใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ โดยเฉพาะ “ข้อมูลจากดาวเทียม” ที่ถือเป็นจุดแข็งของ GISTDA
ภาพแสดงข้อมูลการปล่อยก๊าซมีเทนในนาข้าว
ซึ่งที่ผ่านมาเทคโนโลยีดาวเทียมของ GISTDA นอกจากจะสร้างแผนที่พื้นฐานที่มีความละเอียดและแม่นยำสูงแล้วยังมีการสร้างโซลูชั่นที่หลากหลาย เช่น ข้อมูลพื้นที่น้ำท่วมทุกปีที่สามารถดูย้อนหลักไปได้เป็น 10 ปี ข้อมูลจุดความร้อนที่มาจากไฟป่า ข้อมูล PM 2.5 ข้อมูลพื้นที่การเกษตรที่มีการอัพเดททุก 15 วัน รวมถึงเรื่องพื้นที่ป่า พื้นที่สีเขียว และการปลดปล่อยคาร์บอน
“โซลูชั่นเหล่านี้ GISTDA ได้ดำเนินการมายาวนาน เรียกได้ว่า..เป็นองค์ความรู้ เป็นฐานข้อมูลเชิงพื้นที่ ที่ GISTDA เก็บสะสมมาและยังทำอยู่ รอวันที่จะประกอบร่างเป็น AIP เพี่อตอบคำถามเชิงนโยบาย
ซึ่งเมื่อรวมกับข้อมูลสารสนเทศจากแหล่งอื่น ๆ รวมถึงโซลูชั่นใหม่ ๆ ที่จะพัฒนาเพิ่มเติมเข้ามา ทำให้แพลตฟอร์ม AIP มีข้อมูลที่หลากหลายมิติ และครอบคลุมรอบด้านมากขึ้น”
แพลตฟอร์ม AIP ในขณะนี้ ถือว่าดำเนินการแล้วเสร็จในระยะแรก สำหรับระยะต่อไป GISTDA มีแผนที่จะทำ AIP ในโจทย์ใหม่ๆ ตามความต้องการของหน่วยงานภายนอกมากขึ้น รวมถึงการทำ AIP ในโจทย์ที่เป็นประเด็นสำคัญ อย่างเช่น Climate Change
ซึ่งในปีงบประมาณ 2568 GISTDA ได้มีการตั้งงบสำหรับดำเนินการในโจทย์เรื่องดังกล่าว และตั้งเป้าในการทำ AIP อย่างน้อยปีละ 1 เรื่อง ไม่รวมความต้องการเร่งด่วนหรือโจทย์อื่นๆ ที่มาจากความต้องการใช้บริการของหน่วยงานภายนอก
ปัจจุบัน GISTDA ยังคงมุ่งเน้นการให้บริการแพลตฟอร์ม AIP กับหน่วยงานภาครัฐเป็นหลัก ทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่น โดยเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อสร้างโซลูชั่นในการแก้ไขปัญหาเฉพาะด้านเชิงลึก ไม่ว่าจะเป็นการจัดการน้ำ แบบองค์รวม การจัดการเมืองและเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจ การจัดการภัยพิบัติ การจัดการเกษตรและอาหาร และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศ
ทั้งนี้ AIP ได้ดำเนินการสร้างนโยบายที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ ผ่านหลักการของ 5M ได้แก่
- Mapping ทำข้อมูลเชิงพื้นที่
- Monitoring ติดตามการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่นั้น
- Modeling การทำแบบจำลองเพื่อคาดการณ์ผลลัพธ์ในอนาคต
- Measurement การวัดผลลัพธ์ที่ได้ เพื่อเลือกการดำเนินงานที่เหมาะสมที่สุด
- Managing การบริหารจัดการ ที่นำเอาความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกระดับที่มีต่อ “นโยบาย” มาวิเคราะห์ เพื่อนำไปสู่แนวทางการปฏิบัติงานได้จริง
อนาคต ...ทีมพัฒนาคาดหวังว่า การให้บริการแพลตฟอร์ม AIP จะกลายเป็นธุรกิจใหม่ที่มีการเติบโตสูงของ GISTDA เพราะการใช้ประโยชน์จากการมีเทคโนโลยีดาวเทียมไม่ได้มีเพียงการขายภาพถ่ายทางอากาศ.