Investment Drought ทุนถอย นวัตกรรมสะดุด | ต้องหทัย กุวานนท์
ปีนี้สตาร์ตอัปในอาเซียนกำลังเผชิญวิกฤติการลงทุนที่ลดลงอย่างน่าเป็นห่วง ไตรมาสที่สองของปีมีตัวเลขการระดมทุนเพียง 227 ล้านดอลลาร์ ซึ่งลดลงถึง 69% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
สถานการณ์นี้นอกจากจะเป็นความท้าทายของสตาร์ตอัปแล้ว ยังทำให้เกิด “ภาวะหยุดชะงัก” ในการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ออกสู่ตลาด
การขาดแคลนเงินทุนส่งผลกระทบกับการพัฒนาเทคโนโลยีที่สำคัญ เช่น ฟินเทค อีคอมเมิร์ซ และ deep tech โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มที่กำลังต้องการทุนสนับสนุนเพื่อการขยายตลาดและเข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่
ธุรกิจกลุ่มฟินเทคและอีคอมเมิร์ซ เป็นกลุ่มที่เผชิญปัญหาการระดมทุนมากที่สุด โดยฟินเทคมีมูลค่าการลงทุนลดลงถึง 58% ในขณะที่อีคอมเมิร์ซลดลงกว่า 45% สตาร์ตอัปด้าน AI และ Cybersecurity ที่เคยร้อนแรงและมีความสามารถที่จะเข้ามาปฏิวัติอุตสาหกรรมจำเป็นต้องชะลอการพัฒนาเทคโนโลยีลง เพราะทรัพยากรไม่เพียงพอ
การถดถอยของเงินลงทุนทำให้การพัฒนานวัตกรรมในบางอุตสาหกรรมเกิดการหยุดชะงัก ทำให้เสียโอกาสที่จะนำโซลูชันใหม่ๆ มาตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
แต่อย่างไรก็ดี สตาร์ตอัปบางกลุ่มก็สามารถเติบโตสวนทางภาวะทุนถดถอย เช่น กลุ่ม Digital Health ที่ยังคงยืนหยัดได้ดี เม็ดเงินลงทุนเพิ่มขึ้นถึง 72% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 เนื่องจากดีมานด์ในด้านสุขภาพยังคงเป็นธุรกิจที่เติบโตได้อีก
ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ Doctor Anywhere แพลตฟอร์ม Telemedicine ในสิงคโปร์ ประสบความสำเร็จในการระดมทุนจาก VC ในขณะที่แพลตฟอร์ม B2C อย่าง GoTo Group ก็เพิ่งได้รับการสนับสนุนจากนักลงทุนรายใหญ่ เช่น SoftBank และ Alibaba ทำให้ GoTo สามารถปรับตัวและขยายบริการทั้งด้าน Marketplace และ Payment เพื่อตอบโจทย์ลูกค้า
ในสภาวะทุนถดถอย สตาร์ตอัปและองค์กรใหญ่จำเป็นต้องพัฒนากลยุทธ์เพื่อความอยู่รอดและการเติบโตในระยะยาว สตาร์ตอัปที่พัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงอาจต้องมองหาความร่วมมือจากองค์กรขนาดใหญ่เพื่อลดการใช้งบประมาณลง องค์กรใหญ่หลายแห่ง
เช่น Sea Group ได้ปรับกลยุทธ์โดยลดการลงทุนภายนอกและหันมาลงทุนใน Innovation Labs ภายในองค์กร เช่น การก่อตั้ง Sea AI Labs (SAIL) เพื่อพัฒนานวัตกรรมและเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านการวิจัย AI
การลงทุนภายในนี้ช่วยให้ Sea Group สามารถปรับตัวตอบสนองต่อความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและสร้างมูลค่าในระยะยาว นอกจากนั้นการมุ่งเน้นไปที่นวัตกรรมภายในยังช่วยให้บริษัทสามารถจัดการทรัพยากรได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น พร้อมสร้างความยืดหยุ่นในการรับมือกับภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนที่มีความไม่แน่นอน
แนวโน้มการลงทุนปี 2568 ของกลุ่มอาเซียนน่าจะอยู่ที่กลุ่มเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืนอย่างมีนัยสำคัญ นักลงทุนจะมองหาธุรกิจที่สร้างผลกระทบเชิงบวกและแก้ปัญหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อมได้จริง นอกจากนี้ เทคโนโลยีที่ช่วยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัล เช่น AI และ Blockchain ก็จะยังคงเป็นจุดสนใจของการลงทุน
การฟื้นตัวของการลงทุนในปีหน้าอาจไม่ใช่การระดมทุนในวงกว้าง แต่จะมุ่งเน้นไปที่ธุรกิจที่มีโมเดลยั่งยืนและสามารถแก้ปัญหาได้จริง วิกฤติทุนถดถอยนี้เป็นสัญญาณให้ธุรกิจเร่งปรับตัวและพัฒนาความแข็งแกร่งจากภายใน การสร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ตลาดและสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนจะเป็นกุญแจสู่การเติบโตในระยะยาว
ธุรกิจที่พร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงและยืนหยัดได้ภายใต้ภาวะวิกฤติ จะกลายเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต