2025 Turning Point: ปรับธุรกิจสู่จุดเปลี่ยนนวัตกรรม | ต้องหทัย กุวานนท์
ปี 2024 เป็นปีแห่งการปรับตัวสู่ความท้าทายใหม่ในโลกเทคโนโลยีและนวัตกรรม Generative AI ได้กลายเป็นตัวขับเคลื่อนหลักในอุตสาหกรรม ขณะที่ Green Tech และ Sustainability ได้กลายมาเป็นหัวใจของธุรกิจที่ต้องการสร้างคุณค่าในระยะยาว
ตลาด Health Tech และ Food Tech มีแรงดึงดูดด้านการลงทุนเพื่อตอบโจทย์ความต้องการด้านสุขภาพและการบริโภคอย่างยั่งยืน
บริษัทที่เน้นการผลิตโปรตีนจากพืช (Plant-Based Protein) อย่าง Impossible Foods และ Beyond Meat ยังคงได้รับความสนใจ ในทางกลับกัน Web3 และ Metaverse ที่ครั้งหนึ่งเคยถูกมองว่าเป็นอนาคต กลับต้องเผชิญกับความท้าทายในการสร้างความน่าเชื่อถือและการยอมรับในตลาด การลงทุนใน E-commerce ที่เคยพุ่งแรงก็เริ่มชะลอตัวเนื่องจากตลาดที่เริ่มอิ่มตัวและการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้นักลงทุนหันไปหาธุรกิจอื่นที่มีโอกาสเติบโตมากกว่า
ปีที่ใกล้จะผ่านไปนี้เนี้เต็มไปด้วยตัวอย่างของความสำเร็จและความล้มเหลว ในกลุ่มเฮลธ์แคร์ Doctor Anywhere สตาร์ตอัปจากสิงคโปร์ สามารถระดมทุนและขยายธุรกิจครอบคลุมไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ OpenAI อย่าง ChatGPT กลายเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้ AI ถูกใช้อย่างแพร่หลาย ช่วยให้องค์กรขนาดใหญ่สามารถปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ส่วนกลุ่มที่ไปต่อไม่ได้และสะท้อนถึงปัญหาการบริหารจัดการที่ไม่ลงตัว เช่น AhaMove ในเวียดนามซึ่งเป็น บริษัทให้บริการจัดส่งที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วแต่ล้มเหลวในการจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ต้องปิดตัว
อีกตัวอย่างที่น่าสนใจคือ WeWork ที่แม้จะมีความพยายามในการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ แต่ยังคงไม่สามารถฟื้นตัวได้เต็มที่ สาเหตุหลักคือโมเดลธุรกิจที่ไม่ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของตลาดหลังโควิด-19 และการขาดการบริหารจัดการที่ยั่งยืน
อนาคตปี 2025
คาดว่าจะเป็นปีที่เทคโนโลยี AI ขั้นสูง (Advanced AI) จะมีบทบาทมากขึ้นในหลายอุตสาหกรรม ตั้งแต่การวิเคราะห์แนวโน้มตลาด การพัฒนาสินค้าเฉพาะบุคคล ไปจนถึงการสร้างระบบที่มีประสิทธิภาพสูง
นอกจากนี้ Deep Tech อย่าง Quantum Computing และ Biotech จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น การเงิน การแพทย์ และโลจิสติกส์ Sustainability-Driven Technologies จะยังคงเป็นจุดสนใจ โดยมีแนวโน้มการลงทุนในเทคโนโลยีกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture) การจัดการขยะพลาสติก และพลังงานหมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง
ตัวอย่างเช่น Northvolt บริษัทแบตเตอรี่จากสวีเดน ซึ่งมุ่งเน้นการผลิตที่ลดการปล่อยคาร์บอน ได้รับเงินทุนสนับสนุนอย่างมหาศาลจากนักลงทุนทั้งเอกชนและภาครัฐ สำหรับสตาร์ทอัพ การสร้างพันธมิตรและการพัฒนานวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาจริงในอุตสาหกรรม จะกลายเป็นปัจจัยหลักให้อยู่รอดได้ในตลาดที่มีการแข่งขันสูง
บทบาทของไทยสู่ระบบนิเวศนวัตกรรมที่ยั่งยืน ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะเป็นผู้นำนวัตกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ต้องเน้นเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม เช่น เขตนวัตกรรมพิเศษ การลดข้อจำกัดทางกฎหมาย หยุดการพึ่งพาการลงทุนจากต่างประเทศโดยไม่เสริมสร้างศักยภาพในประเทศ และต้องสานต่อ
ความพยายามในการผลักดัน ESG ให้เกิดการขยายความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เช่น การสนับสนุนสตาร์ทอัพด้าน Green Tech โดยสร้างระบบนิเวศที่เชื่อมโยงสตาร์ทอัพกับองค์กรใหญ่และตลาดต่างประเทศ
ทุกการเปลี่ยนแปลงหมายถึงโอกาส ประเทศไทยต้องพร้อมรับมือและเป็นผู้นำในเกมของนวัตกรรมที่กำลังเปลี่ยนไป ทุกองค์กรควรถามตัวเองว่า "จะเริ่มอะไรใหม่? จะหยุดอะไร? และจะต่อยอดสิ่งไหน?" ไม่ใช่เพียงแค่เพื่อความอยู่รอด แต่เพื่อไขว่คว้าโอกาสการเติบโตอย่างยั่งยืนบนเวทีโลก