เปิด ‘ดัชนีดิจิทัล’ !! ชี้ ‘คนไทย’ ต้องการ ‘อินเทอร์เน็ตฟรี’ มากสุด!!
ผลสำรวจดัชนีดิจิทัลพบคนไทยเข้าถึงการใช้งานอินเทอร์เน็ต 85% แต่ต้องการนโยบายฟรีอินเตอร์เน็ตมากที่สุด ขณะที่สัดส่วนของมูลค่าเพิ่มที่เกิดจากภาคธุรกิจดิจิทัลโตไม่ถึง 1% มูลค่าการลงทุนในอุตสาหกรรมไอซีทีต่อจีดีพีคิดเป็น 3.32%
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ผลการศึกษาโครงการศึกษา Thailand Digital Outlook ประจำปี พ.ศ.2565 พบว่า การใช้งานอินเทอร์เน็ตของคนไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 85% โดยกลุ่มผู้ใช้งานหลัก ได้แก่ ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ พนักงานเอกชน นักศึกษา
แม้ว่าความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่นโยบายที่ประชาชนต้องการมากที่สุด คือ
- บริการอินเทอร์เน็ตที่ไม่มีค่าใช้จ่าย
- การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มการเข้าถึง
- การสนับสนุนอุปกรณ์สำหรับเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต
ขณะเดียวกันพบว่า 78.83 % ของธุรกิจไทยมีการขายสินค้าและบริการผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้น เริ่มบุกตลาดต่างประเทศมากขึ้น ส่วนหน่วยงานบริการปฐมภูมิทั่วประเทศ เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล มีการใช้งานและติดตั้งอินเทอร์เน็ต สำหรับใช้งานในองค์กร ติดต่อสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสาร และให้บริการออนไลน์ 95.17%
สำหรับโครงการศึกษา Thailand Digital Outlook ได้ศึกษาตัวชี้วัดด้านดิจิทัลของประเทศ อ้างอิงตามกรอบมาตรฐานสากลที่องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือองค์การ OECD (The Organisation for Economic Co-operation and Development) กำหนดไว้ จำนวน 85 ตัวชี้วัด ครอบคลุม 8 มิติเชิงนโยบาย และดำเนินการจัดเก็บรวบรวมข้อมูลตัวชี้วัดดังกล่าว ผ่านการสำรวจด้วยแบบสอบถาม 3 กลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ ได้แก่ ภาคประชาชน ภาคธุรกิจเอกชน และหน่วยงานบริการปฐมภูมิ เช่น โรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข
การสำรวจพบว่า ตัวชี้วัดด้านดิจิทัลของประเทศส่วนใหญ่ดีขึ้นในทุกมิติ ได้แก่
- มิติการเข้าถึง การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของครัวเรือนไทย อยู่ที่ 88.0 % เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่มีการเข้าถึง 85.2%
- มิติการใช้งาน สัดส่วนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตของไทย 85.0% เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา (84.3%)
- มิติสังคม สัดส่วนการใช้งานอินเทอร์เน็ตของผู้สูงอายุ ช่วง 55-74 ปี ในปี พ.ศ. 2565 คิดเป็น 63.1% เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ซึ่งอยู่แค่เพียง 48.8 %
- มิติความน่าเชื่อถือ พบว่า ผู้ประสบปัญหาถูกละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล/ความเป็นส่วนตัว เท่ากับ 3.4% ดีขึ้น จากปี 2564 ซึ่งเคยมีค่าอยู่ที่ 6.3%
- มิติการเปิดเสรีของตลาด สัดส่วนผู้ประกอบการที่มีการจำหน่ายสินค้า/บริการผ่านทางออนไลน์ไปตลาดต่างประเทศ ปี 2565 สูงถึง 26.3% เทียบกับปี 2564 ที่อยู่แค่ 3.2 %
- มิติการเติบโตและสภาพความเป็นอยู่ สัดส่วนของมูลค่าเพิ่มที่เกิดขึ้นในภาคธุรกิจดิจิทัล ปี 2564 คิดเป็น 50.90 % ของภาคอุตสาหกรรม ค่อนข้างใกล้เคียงกับปี 2563 ที่มีตัวเลขเท่ากับ 50.86%
โดยตัวชี้วัดปี 2564 ที่มีค่าคงที่เท่ากับปี 2563 ได้แก่
- มิติด้านนวัตกรรม มูลค่าการลงทุนในอุตสาหกรรมไอซีทีต่อ จีดีพี คิดเป็น 3.32%
- มิติอาชีพ สัดส่วนการจ้างงานของธุรกิจดิจิทัลต่อการจ้างงานทั้งหมดในประเทศไทย คิดเป็น 34.4%