สมาคมเมตาเวิร์สผนึก ‘จีน-ญี่ปุ่น-เกาหลี’ ดันผู้ประกอบการไทยสู่ตลาดโลก
สมาคมเมตาเวิร์สจับมือ ‘จีน ญี่ปุ่น เกาหลี’ แลกเปลี่ยนเทคโนโลยีด้านเมตาเวิร์ส เชื่อมผู้ประกอบการไทยกับแหล่งทุน คาด เมตาเวิร์สจะโตถึง 1,000 ล้านดอลลาร์ ใน 4 ปีนี้
กระแสเมตาเวิร์สยังคงมีแรงกระเพื่อมอย่างต่อเนื่อง นที เทพโภชน์ นายกสมาคมเมตาเวิร์สไทย คาดการณ์ว่า อุตสาหกรรมเมตาเวิร์สจะสามารถเติบโตได้ถึง 1,000 ล้านดอลลาร์ ภายใน 4 ปีนี้ ทางสมาคมฯ จึงต้องการที่จะขับเคลื่อนบุคลากรภายในประเทศไทยให้มีความสามารถและเตรียมตัวเข้าสู่แพลตฟอร์มในยุค Web 3.0
ล่าสุด สมาคมเมตาเวิร์สได้เชื่อมโยงเครือข่าย สร้างพันธมิตรกับ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี เพื่อทำธุรกิจด้านเมตาเวิร์สและถ่ายทอดเทคโนโลยีร่วมกัน โดยอาสาที่จะเป็นตัวกลางนำพาคนไทยให้สามารถผลิตโซลูชั่นออกสู่ตลาดต่างประเทศ เพิ่มมูลค่าทางธุรกิจได้
นที เทพโภชน์
- บทบาทของสมาคมเมตาเวิร์ส
นที ให้สัมภาษณ์กับทางกรุงเทพธุรกิจว่า สมาคมเมตาเวิร์สเกิดจากบุคคลที่มีความชอบด้านเทคโนโลยีเสมือน (AR) ด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) ด้านเกม ด้านสินทรัพย์ดิจิทัล ไม่ว่าเป็นคริปโทเคอเรนซี โทเคน ตลอดจน NFT (Non Fungible Tokens) มาทำงานร่วมกัน
เพื่อเป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อผู้ประกอบการไทย ภาคเอกชน ภาครัฐ สถาบันการศึกษา ตลอดจนประชาชนผู้ที่สนใจในเทคโนโลยี “เมตาเวิร์ส (Metaverse)” ให้สามารถใช้ประโยชน์กับอุตสาหกรรมใหม่ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล
นอกจากนี้ก็ยังต้องการพัฒนาอุตสาหกรรมเมตาเวิร์สในประเทศไทยให้มีมาตฐานเดียวกัน และคอยป้องกันกลุ่มมิจฉาชีพที่จะนำเรื่องของเมตาเวิร์สมาใช้แอบอ้าง เพื่อหลอกลวงให้ลงทุน ที่สำคัญคือ สมาคมฯ จะสนับสนุนให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเมตาเวิร์สไทยมีการถ่ายทอดความรู้ สร้างให้เกิด Synergy เชื่อมโยงกับผู้ประกอบการเมตาเวิร์สต่างประเทศ
ขณะนี้มีโครงการที่จะแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีกับ 3 ประเทศคือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี และได้ทำงานร่วมกันกับภาครัฐอย่าง สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อเชื่อมโยงผู้ประกอบการไทยให้เกิดการสร้างเครือข่าย เชื่อมโยงนักธุรกิจเพื่อสร้างโมเดลธุรกิจที่ชัดเจน และเป็นตัวช่วยในการหาแหล่งทุน ทั้งในและต่างประเทศ
ทางสมาคมฯ แบ่งสมาชิกออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
- สมาชิกสามัญ คือ ประชาชนทั่วไปที่ต้องการเข้ามาเรียนรู้เทคโนโลยีเมตาเวิร์ส
- สมาชิกวิสามัญ คือ กลุ่มผู้ประกอบการ นักธุรกิจ ที่ต้องการเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจให้กับองค์กรของตนเอง
Cr.obsessar
ปัจจุบันมีผู้ประกอบการชาวไทยที่เป็นผู้สร้างเมตาเวิร์สจำนวน 14 องค์กร และมีผู้ที่เกี่ยวข้องรวมกันมากกว่า 100 องค์กร โดยยังคงมองหาผู้ประกอบการหน้าใหม่ ที่ต้องการเข้ามาพัฒนาและเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีร่วมกัน
“ประชาชนทั่วไปก็สามารถเข้ามาเป็นสมาชิกร่วมกับเราได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นนักธุรกิจ แค่คุณสนใจในเมตาเวิร์ส ก็สามารถเข้ามาสร้างมาตรฐานเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มที่ไปในทางทิศทางเดียวกันอย่างที่ต่างประเทศหลาย ๆ แห่งทำ” นที กล่าว
- โอกาสการเติบโตของเมตาเวิร์ส
ตัวเลขคาดการณ์จากตลาดหลักทรัพย์สหรัฐอเมริกา (NASDAQ) เปิดเผยว่ามูลค่าทางธุรกิจของอุตสาหกรรมเมตาเวิร์สทั่วโลกมีโอกาสแตะถึง 3 ล้านล้านดอลลาร์ ขณะที่ดูไบตั้งเป้าจะสร้างมูลค่าเศรษฐกิจจากเมตาเวิร์สให้ถึง 4,000 ล้านดอลลาร์
ส่วนประเทศไทยในปี 2565 คาดว่ามูลค่าธุรกิจจะอยู่ที่ 30,000 ดอลลาร์ และภายใน 4 ปีข้างหน้าจะมีมูลค่าถึง 1,000 ล้านดอลลาร์ โดยจะเกิดอุตสาหกรรมเศรษฐกิจดิจิทัลไทยที่มีผู้มีส่วนร่วมใน Ecosystem ที่หลากหลาย
นที กล่าวว่า การที่ “มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก” นักธุรกิจผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์ม Facebook ออกมาเปลี่ยนชื่อจาก Facebook เป็น Meta สิ่งนี้มันสร้างผลกระทบในระดับ Global ที่ผ่านมาธุรกิจคริปโทเคอเรนซีมีการแผ่วลง แต่เมตาเวิร์สยังคงเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ เพราะมันสามารถแตกแขนงไปได้หลากหลายทาง จนสุดท้ายมันจะกลายเป็นแพลตฟอร์มที่แทนตัวตนของคน ๆ นั้น เพียงแค่อาศัยการเข้าไปอยู่ในเว็บบราวเซอร์
นอกจากนี้ เมตาเวิร์สจะถูกนำมาประยุกต์ใช้ในธุรกิจดั้งเดิมและธุรกิจเกิดใหม่ มันสามารถพัฒนาบริการด้านสุขภาพ บริการด้านการเงินและธนาคาร การท่องเที่ยว การเกษตร ทำให้ไทยสามารถนำเอาเทคโลโลยีมาเสริมจุดแข็งของประเทศ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวหรือกลุ่มเป้าหมายในช่วงก่อนที่จะเดินทางมาเห็นพื้นที่ให้บริการจริง
“อยากให้มองเมตาเวิร์สเป็นแอคเคาท์บนโซเชียลมีเดียที่เราใช้กันในปัจจุบัน เมตาเวิร์สมันต่างจากเกมตรงที่ เกมไม่สามารถยืนยันตัวตนเราได้ เกมไม่มีความเชื่อมโยงถึงกันระหว่างผู้คน เกมขาดความเป็นคอมมูนิตี้ เมื่อถอดปลั๊ก ปิดคอม ประวัติการใช้งานของเกมมันก็หาย แต่เมตาเวิร์ส เมื่อคุณปิดคอมไปแล้วตัวตนบนโลกดิจิทัลของคุณก็ยังคงอยู่ ที่สำคัญคือ เราสามารถซื้อขายหรือทำธุรกิจร่วมกันได้ด้วย” นที ชี้จุดสรุป