โค้งสุดท้าย มหกรรมวิทย์ฯ ระดมกิจกรรมสร้างแรงบันดาลใจเยาวชน
เหลืออีก 2 วันเท่านั้นกับงานมหกรรมวิทย์ฯ 2565 ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีให้แก่เยาวชนไทย มีบูธกิจกรรมมากถึง 136 หน่วยงาน จาก 10 ประเทศ มุ่งเตรียมคนไทยแห่งศตวรรษที่ 21 รับมือการเปลี่ยนแปลงของโลก
งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2565 ภายใต้แนวคิด “ศิลปะ วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม เพื่อสังคมที่ยั่งยืน” (Art – Science –Innovation for Sustainable Society) กำหนดจัดขึ้น 2 แห่ง
ได้แก่ มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ จัดขึ้น ณ อาคาร 9-10 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ระหว่างวันที่ 13 – 21 สิงหาคม 2565 และงาน NST Fair Science Carnival Bangkok ในรูปแบบ Science Carnival จัดขึ้นที่สามย่านมิตรทาวน์ ระหว่างวันที่ 17 – 21 สิงหาคม 2565
วว.โชว์“มหัศจรรย์โลกจุลินทรีย์”
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กำหนดแนวนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG ด้วยการใช้ประโยชน์จากกลุ่มจุลินทรีย์ เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจให้ผู้ประกอบการภายในประเทศทุกระดับชั้น และขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากด้านการเกษตร อาหาร อาหารสุขภาพ การแพทย์ พลังงานและสิ่งแวดล้อม
เพื่อผลักดันและต่อยอดงานวิจัยพัฒนา (Translational Research) ในระดับห้องปฏิบัติการ (Lab scale) สู่การบ่มเพาะเทคโนโลยีในระดับโรงงานนำทาง ด้วยกระบวนการทางวิศวกรรมไปสู่ระดับอุตสาหกรรม (Industrial/Commercial scale)
เพื่อให้เกิดการ Spin-off ของธุรกิจนวัตกรรม และการวางรากฐานของประเทศสู่กลไกการขับเคลื่อนด้วยอุตสาหกรรมชีวภาพ อันจะส่งผลให้อุตสาหกรรมไทยมีผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าและคุณค่าสูง (Value Creation) สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก
วว. นำผลงานวิจัยและพัฒนาความเชี่ยวชาญด้านจุลินทรีย์ครบวงจร ได้แก่ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ (ICPIM 2) และศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพ (ศูนย์จุลินทรีย์ ICPIM 1 และ ALEC) เข้าร่วมจัดแสดงนิทรรศการและกิจกรรม ภายใต้แนวคิด TISTR : The Wonders of Microbe World มหัศจรรย์โลกจุลินทรีย์ วว. แสดงผลงานผ่าน 3 โซนกิจกรรม ดังนี้
โซนที่ 1 เปิดโลกจุลินทรีย์ วว. นำเสนอนิทรรศการเชิงวิชาการตลอดห่วงโซ่อุปทานในการนำจุลินทรีย์มาใช้ประโยชน์ เพื่อให้ความรู้ และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันให้แก่เยาวชน พร้อมชี้ช่องทางการประกอบธุรกิจ ให้แก่ ผู้ประกอบการ และประชาชนทั่วไป ในด้านอาหาร/ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร/เครื่องสำอาง ด้านการเกษตร พลังงานและสิ่งแวดล้อม
โซนที่ 2 TISTR Virtual Tour นำเสนอการเยี่ยมชมโครงสร้างพื้นฐานด้านจุลินทรีย์ของ วว. ในรูปแบบเสมือนจริงผ่านระบบออนไลน์ (360 องศา) เยี่ยมชมได้ที่ https://www.tistr-virtualtour.com/ ดังนี้
ศูนย์นวัตกรรมผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรมอาหาร 1 ( Innovative Center for Production Industry used Microorganisms : ICPIM 1) ศูนย์กลางการให้บริการเทคโนโลยีจุลินทรีย์ครบวงจรแห่งเดียวในประเทศไทย ที่มีห้องปฏิบัติการที่ทันสมัยได้มาตรฐานสากล และยังเป็นที่ตั้งของธนาคารสายพันธุ์โพรไบโอติกที่มีคุณสมบัติครบถ้วน
ศูนย์ความเป็นเลิศด้านสาหร่าย (Algal Excellent Center : ALEC) รวบรวมและเก็บรักษาสายพันธุ์สาหร่ายน้ำจืดขนาดเล็ก (freshwater microalgae) และสาหร่ายน้ำเค็มขนาดเล็ก (marine microalgae) จากแหล่งต่างๆ ทั่วประเทศ
พร้อมจัดทำฐานข้อมูลกว่า 1,000 สายพันธุ์ มีห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยง วิเคราะห์ และทดสอบ มีระบบการเพาะเลี้ยงสาหร่ายระดับขยายกลางแจ้งต้นแบบ ตั้งแต่ขนาด 100-400,000 ลิตร อย่างครบวงจร เพื่อการผลิตชีวมวลสาหร่ายสำหรับใช้ประโยชน์ด้านเกษตร อาหาร เภสัชภัณฑ์ สิ่งแวดล้อม และพลังงาน
ศูนย์จุลินทรีย์ (TISTR Culture Collection) แหล่งกลางรวบรวมเก็บรักษาสายพันธุ์จุลินทรีย์นอกถิ่นกำเนิดที่มีประโยชน์ในการเกษตร อุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อม ภายใต้มาตรฐาน ISO 9001 : 2008 นอกจากนี้ยังเป็นหน่วยบริการด้านจุลินทรีย์ (service culture collection) แห่งเดียวในประเทศไทย ที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นโดย UNESCO เมื่อปี 2519
ศูนย์นวัตกรรมผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรมอาหาร 2 ( Innovative Center for Production Industry used Microorganisms : ICPIM 2) ให้บริการครบวงจรทั้งในด้านการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์จุลินทรีย์ใหม่ๆ ในระดับห้องปฏิบัติการ และเป็นโรงงานต้นแบบในการพัฒนา ทดสอบกระบวนการผลิตจุลินทรีย์ระดับกึ่งอุตสาหกรรม โดยมีกำลังการผลิต 115,000 ลิตรต่อปี
โซนที่ 3 กิจกรรมสันทนาการ เน้นการมีส่วนร่วมในกิจกรรมของผู้เข้าชมบูธนิทรรศการทั้ง On-ground และ On–line ผ่านกิจกรรมเสริมความรู้ สร้างแรงบันดาลใจให้แก่น้องๆ เยาวชนของไทย
วช.โชว์ “NRCT Woodland ดินแดนแห่งป่า”
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ระดมองค์ความรู้ ไม้มีค่าชูแนวคิด “NRCT Woodland ดินแดนแห่งป่า” ให้ความรู้ไม้มีค่าทางเศรษฐกิจที่น่าสนใจของประเทศไทย และการวิจัยเพื่อสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืน เพื่อขับเคลื่อนชุมชนไม้มีค่าของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมเกมให้ความรู้และของที่ระลึกมากมาย
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า จากการที่รัฐบาลกำหนดให้ต้นไม้ยืนต้น มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ เป็นทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันทางธุรกิจได้
รัฐบาลมีนโยบาย “ขยายผลชุมชนไม้มีค่าเพื่อเกษตรกรไทย” และได้มอบหมายให้ วช. และหน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนชุมชนไม้มีค่า ร่วมผลักดันกลไกการดำเนินงานที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในเรื่อง การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจฐานรากด้วยการสร้างความมั่นคงทางอาชีพให้กับประชาชน และเพื่อเป็นการปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ได้ตระหนักถึงความสำคัญของต้นไม้ ป่าไม้ รู้จักไม้มีค่า ทั้งในแง่ของการอนุรักษ์และมูลค่าที่เกิดขึ้น
บูธที่ วช. นำมาจัดจะเป็นการจำลองสภาพป่า มีทั้งภาคนิทรรศการที่ให้ความรู้ การเล่นเกม และกิจกรรมให้ลงมือทำ พร้อมกับการแจกของที่ระลึกสำหรับผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรม โดยจะแบ่งพื้นที่ออกเป็น 5 โซน คือ ป่าไม้ของเรา ต้นไม้ของเรา ประโยชน์ของไม้มีค่า โซนนั่งเล่นให้ความรู้เรื่องโครงการชุมชนไม้มีค่า
และโซนที่ 5 บ้านของเรา ให้ความรู้เรื่องการเริ่มปลูกต้นไม้ การขอพันธุ์กล้าไม้ และอื่นๆ พร้อมด้วยกิจกรรมประดิษฐ์บ้านไม้จิ๋ว โดยวิทยากร เพื่อเรียนรู้ทักษะพื้นฐานด้านงานไม้ การนำไม้เหลือใช้มาสร้างมูลค่าเพิ่ม ด้วยศิลปะการออกแบบตกแต่งงานไม้สำหรับเป็นของใช้หรือของแต่งบ้าน
ซินโครตรอนแลนด์ แดนมหัศจรรย์
สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาขน) เข้าร่วมจัดงานในรูปแบบ Synchrotron Land แดนมหัศจรรย์ ลุ้นและท้าทายไปกับกิจกรรมมากมาย อาทิ ไขปริศนา อะไรอยู่ในกล่อง จิตรกรน้อยซินโครตรอน มาร่วมกันระบายสีน้องแสงจ้า มาสคอตประจำสถาบันให้มีสีสันไปด้วยกัน และแสงจ้าชวนประดิษฐ์กล้องสลับลาย และมาทำความรู้จักแสงซินโครตรอนผ่านเกมซินโครตรอนบิงโก และมาร่วมกิจกรรมชิงของรางวัลอย่างมากมาย
ปส. ชวนน้อง ๆ ร่วมสนุกและเรียนรู้ “นิวเคลียร์-รังสี”
สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ร่วมจัดแสดงนิทรรศการผ่านแนวคิด “Atoms for Peace” มีการจัดโชว์สินค้าอุปโภคบริโภคต่าง ๆ ซึ่งมีส่วนผสมของวัสดุกัมมันตรังสี เช่น เครื่องตรวจจับควันชนิดไอออไนเซชัน พวงกุญแจเรืองแสง ไส้ตะเกียงเจ้าพายุเลนส์กล้องถ่ายรูป
พร้อมกันนี้ยังจัดแสดงนิทรรศการพร้อมอุปกรณ์ในการกำกับดูแลความปลอดภัยทางรังสี เช่น หุ่นยนต์ประเมินผลกระทบทางรังสี พร้อมแขนกลในการเก็บกู้วัสดุกัมมันตรังสี, อากาศยานไร้คนขับประเมินผลกระทบทางรังสี, เครื่องมือวัดทางรังสี และชุดป้องกันการเปรอะเปื้อนทางรังสี เป็นต้น
สอวช. ร่วมแสดงนิทรรศการ Eco Playground
นางสาวรติมา เอื้อธรรมาภิมุข รองผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กล่าวว่า งานในปีนี้จัดในรูปแบบ On-Site Event สอวช. ได้เข้าร่วมจัดแสดงนิทรรศการในบูธที่มีชื่อว่า “Eco Playground” นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับ BCG Economy
โดยยกขบวนความสนุกแฝงความรู้มาให้ได้ประลองฝีมือผ่านเกม “ขยะแปลงร่าง (The Upcycling Trash)” เกมแข่งขันไหวพริบและแฝงความรู้เรื่องการสร้างมูลค่าจากขยะหรือวัสดุเหลือใช้โดยกระบวนการ Upcycling เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ให้มีคุณค่ามากกว่าเดิม พร้อมมีโซนกิจกรรมเทคโนโลยี AR ที่ให้น้องๆ ได้เห็นภาพของการเพิ่มมูลค่าจากขยะหรือสิ่งของเหลือใช้ผ่านการสแกนภาพวัสดุ
ไปจนถึงการแสดงผลิตภัณฑ์ตัวอย่างที่มาจากการ Upcycling เช่น กระดาษนามบัตรจากฟางข้าว กล่องข้าวจากฟางข้าวสาลี สมุดที่พิมพ์ด้วยหมึกถั่วเหลือง (Soy Ink) เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีโซนความรู้เกี่ยวกับประโยชน์ของหลัก 7R (Reduce, Reuse, Refill, Return, Repair, Replace, Recycle) และการเล่นเกม ตอบคำถามชิงของรางวัลภายใต้แนวคิด Circular Economy อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม นอกจากบูธ สอวช. แล้ว ภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ยังได้เนรมิตโลกวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี มาให้กับเยาวชน และประชาชนไทยได้รับชมกันอย่างจุใจ ซึ่งเป็นงานที่จะเนรมิตแรงบันดาลใจของเด็ก ๆ ด้วยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีอย่างอลังการ
พร้อมรับชมการถ่ายทอดนิทรรศการ และกิจกรรมตลอดวัน ในรูปแบบ Online Event บนช่องทางออนไลน์ อาทิ Facebook, YouTube และ Web Platform ในชื่อ NSTFair และพบกับการ LIVE สด หรือสามารถดูรายละเอียดภาพรวมของงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติประจำปี 2565 เพิ่มเติมได้ที่ http://thailandnstfair.com/index.php/home/