Tech Migration จับตาดีพเทคย้ายฐาน | ต้องหทัย กุวานนท์
ระบบนิเวศของดีพเทคสตาร์ทอัพในเอเชีย เริ่มสั่นสะเทือนเมื่อสตาร์ทอัพระดับหัวกระทิหลายรายในอุตสาหกรรมอนาคตอย่าง BioTech, FoodTech, และ HealthTech กำลังเบนเข็มไปตั้งสำนักงานใหญ่ในยุโรปและสหรัฐอเมริกา
ในปีที่ผ่านมา Sophie’s Bionutrients สตาร์ทอัพสาย FoodTech ในสิงคโปร์ที่พัฒนาโปรตีนจากสาหร่าย ย้ายไปตั้งสำนักงานใหญ่ที่เนเธอร์แลนด์เพราะประสบกับปัญหาการสรรหาทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญด้าน BioTech
ส่วน Turtle Tree สตาร์ทอัพที่พัฒนาผลิตภัณฑ์นมจากการเพาะเลี้ยงเซลล์ ก็ตัดสินใจย้ายแลปและทีมงาน R&D ไปอยู่ที่แคลิฟอร์เนีย ด้วยเหตุผลเรื่องความพร้อมทางด้านระบบสนับสนุนต่างๆ ตั้งแต่เรื่องของถังหมักชีวภาพไปจนถึงค่าใช้จ่ายทางด้านพลังงานที่ต่ำกว่าในสิงคโปร์
ในประเทศจีนข้อมูลการวิเคราะห์จากแพลตฟอร์ม Maimai ที่เป็นเสมือน Linkedin ของจีนระบุว่า บริษัทเทคยักษ์ใหญ่อย่าง Baidu, Alibaba, และ Tencent กำลังเสียพนักงานระดับท็อปในสายเทคโนโลยีให้กับบริษัทข้ามชาติในอุตสาหกรรมใหม่ด้าน AI, BioTech, EV และ ClimateTech
นี่เป็นแค่บางตัวอย่างที่เป็นสัญญาณเตือนว่า เอเชียกำลังสูญเสียความสามารถทางการแข่งขันในอุตสาหกรรมอนาคตอย่างไม่ทันรู้ตัว
ข้อมูลล่าสุดของ Startup Genome ที่จัดลำดับระบบนิเวศของสตาร์ทอัพในโลก มีหกเมืองในเอเชียที่ติดกลุ่ม 20 อันดับแรกนั่นคือ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ โซล ญี่ปุ่น เสิ่นเจิ้นและสิงคโปร์ จากเกณฑ์การให้คะแนนที่ดูทั้งด้านผลลัพธ์ทางธุรกิจ โอกาสในการได้รับทุน การเข้าถึงช่องทางทางการตลาด หรือ การ Exit
ดูเหมือนว่าเมืองหลักๆ ในเอเชียจะยังมีความสามารถในการแข่งขันที่ค่อนข้างดีอยู่ แต่พอไปดูข้อมูลในเชิงลึก ปัจจัยหลักที่เป็นจุดอ่อนที่น่ากังวลและเป็นสาเหตุใหญ่ ที่ทำให้สตาร์ทอัพหลายรายต้องตัดสินใจย้ายฐานที่ตั้งของบริษัทไปอยู่ในยุโรปและสหรัฐอเมริกา
นั่นคือ ข้อจำกัดในการสรรหาบุคลากรที่มีความชำนาญเฉพาะทาง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มชีววิทยาและเทคโนโลยีชีวภาพ) และต้นทุนด้านพลังงาน
กลุ่มอุตสาหกรรมอนาคตที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของโลกอย่างเช่น อุตสาหกรรมอาหารสำหรับอนาคต อุตสาหกรรมยาชีววัตถุ และ อุตสาหกรรมเกษตร เป็นอุตสาหกรรมที่หลายประเทศในโลกตั้งเป้าหมายที่จะเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาเทคโนยีและนวัตกรรม
เช่น เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่ผลักดันเทคโนโลยีด้าน Plant-Based จนได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้นำด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืช บอสตันกำลังเป็นเมืองหลวงของโลกในการพัฒนาเทคโนโลยีไบโอเทคและยาชีววัตถุ
อิสราเอลก้าวสู่ความเป็นผู้นำด้านการผลิตอาหารจากการเพาะเลี้ยงเซลล์เนื้อเยื่อ
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์กำลังลงทุนเกือบสองหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อทำให้ดูไบกลายเป็นศูนย์กลางแห่งการพัฒนาเทคโนโลยีอาหารและเครื่องดื่มของโลก
ด้วยปัจจัยแวดล้อมที่เป็นตัวเร่งทั้งเรื่องของการสร้างความมั่นคงทางอาหารและการต่อสู้กับผลกระทบจากโลกร้อน ประเทศที่มีศักยภาพเพียงพอในการพัฒนาความแข็งแกร่งของระบบนิเวศสตาร์ทอัพกำลังทุ่มสุดแรง ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน
เพื่อทำให้มีมาตรการที่จะสามารถดึงดูดสตาร์ทอัพจากภูมิภาคอื่นๆ เข้าไปตั้งถิ่นฐาน เพื่อผลักดันให้เกิดนวัตกรรมใหม่และเชื่อมต่อกับภาคอุตสาหกรรมเพื่อทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
สำหรับประเทศไทย สิ่งที่เราต้องการมากที่สุดในวันนี้ นอกเหนือจากการเร่งพัฒนาบุคลากรในสาขาที่สอดคล้องกับอุตสาหกรรมอนาคตแล้ว การพัฒนาระบบนิเวศสตาร์ทอัพเพื่อทำให้สตาร์ทอัพที่มีนวัตกรรมเชิงลึกมีแรงสนับสนุนและมีจูงใจเพียงพอ ที่จะสเกลอัพธุรกิจในเมืองไทย อาจเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่เปลี่ยนอนาคตประเทศในอีกสิบปีข้างหน้า!
คอลัมน์ Business Transform: Corporate Future
ต้องหทัย กุวานนท์
หนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัทเอมสไปร์ Startup Mentor
บริษัทที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ธุรกิจและการบริหารนวัตกรรม