จีนจับไอดอลมาเล่นหนัง Propaganda
จีนเปลี่ยนแนวทาง หันไปจับไอดอลมาเล่นหนัง propaganda เพื่อดึงดูดคนหนุ่มสาวให้หันมาสนใจหนังประเภทนี้มากขึ้น
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา เป็นวันครบรอบ 90 ปีการก่อตั้ง กองทัพปลดแอกประชาชนจีน (พีแอลเอ) รัฐบาลปักกิ่งจึงสั่งการให้สร้างภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการปลุกใจให้รักชาติขึ้นเพื่อประชาสัมพันธ์การทำงานของกองทัพ
ผลปรากฏว่าภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวที่มีชื่อว่า The Founding of an Army ประสบความสำเร็จเกินคาด นอกจากจะกวาดรายได้ถล่มทลายแล้วยังได้ฐานคนดูที่เป็นคนรุ่นใหม่มาแบบไม่คาดฝันอีกด้วย นั่นก็เพราะภาพยนตร์ Propaganda เรื่องนี้ได้ดึงเอานักร้องนักแสดงที่เป็นไอดอลมารวมกันไว้เพียบ จนทำให้เด็กวัยรุ่นแห่ซื้อตั๋วเข้าไปดูศิลปินคนโปรดของพวกเขากันคนละรอบสองรอบ
ดาราวัยรุ่นที่ถูกดึงตัวมาเล่นเป็นผู้นำกองทัพปลดแอกประชาชนที่ถือว่าเป็นวีรบุรุษของประเทศจีนมีตั้งแต่ หลี่ อี้เฟิง นักร้องนักแสดงชื่อดังจากซีรีส์ The Lost Tomb หรือ บันทึกจอมโจรแห่งสุสาน จาง อี้ชิง สมาชิกวง EXO บอยแบนด์ชื่อดังของเกาหลี หลิว ฮ่าวหราน ดาราไอดอลคนดัง ลู่ หาน อดีตสมาชิกวง EXO ไปจนถึง หม่า เทียนอวี่ นักร้องนักแสดงที่โด่งดังมาจากซีรีส์เรื่องปู้ปู้จิงซิน
“ฉันแค่ไปดู ลู่ หาน ดาราคนโปรดของฉัน แม้ว่าเขาจะออกแค่ 2 วินาทีก็เถอะ” คือคอมเมนท์ของสาววัย 22 จากมณฑลจี๋หลิน ใน Weibo โซเชียลเน็ตเวิร์คชื่อดังของจีน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงกระแสความนิยมที่มีต่อภาพยนตร์ Propaganda ของกองทัพจีนเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี
The Founding of an Army พูดถึงเหตุการณ์ลุกฮือที่หนานฉาง ซึ่งนำมาสู่การก่อตั้งกองทัพปลดแอกประชาชนจีนในภายหลัง โดยข้อมูลบ็อกซ์ ออฟฟิศจาก Xiniu Entertainment ระบุว่า ในช่วง 6 วันแรกที่ออกฉาย หนังเรื่องนี้สามารถกวาดรายได้ไปกว่า 250 ล้านหยวน แล้วก็คาดว่าน่าจะเก็บเกี่ยวรายได้ไปได้ถึง 600 ล้านหยวนเมื่อออกจากโรง แม้จะยังไม่แน่ชัดว่าจะยืนโรงไปอีกนานแค่ไหน
อย่างไรก็ตาม ผู้สังเกตการณ์บางคนมองว่าตัวเลขบ็อกซ์ ออฟฟิศที่พุ่งทะยานในช่วงแรกเป็นผลมาจากพลังแฟนคลับไอดอลมากกว่าจะมาจากคนที่สนใจเนื้อหาของหนังจริง ๆ แล้วยังมองว่าปรากฎการณ์แบบนี้ถือเป็นการลบหลู่บุคคลที่มีชีวิตอยู่จริงตามประวัติศาสตร์มากกว่าที่จะน่าภาคภูมิใจ
“มีบางคนพยายามหาเงินจากเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ด้วยการเอาตัวเลขบ็อกซ์ออฟฟิศมาทำลายประวัติศาสตร์” เย่อ ต้าอิง หลานของ “เย่อ ถิง” ผู้นำกองทัพปลดแอกประชาชนจีน กล่าว
เขายังแสดงความไม่พอใจกับภาพลักษณ์ของบรรพบุรุษที่ถูกถ่ายทอดออกมาใน The Founding of an Army ว่าทำไมถึงเอาผู้ชายที่รูปร่างอ้อนแอ้น หน้าตาเหมือนผู้หญิงที่แค่จะยืนให้ตรงก็แทบจะไม่ได้แล้วมาเล่นเป็นบรรพบุรุษของเขา
นอกจากนี้ เย่อยังรู้สึกว่าเขาควรจะได้รับการปรึกษาก่อนที่หนังเรื่องนี้จะถูกสร้างขึ้น เพราะภาพยนตร์จีนมีข้อกำหนดเอาไว้ว่าผู้สร้างจะต้องได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากบุคคลในประวัติศาสตร์หรือครอบครัวของพวกเขาก่อนว่าจะอนุญาตให้สร้างได้ไหม แล้วยังต้องให้คำแนะนำเรื่องบทด้วย
ทั้งนี้ จีนได้สร้างหนังไตรภาค Founding มาแล้วก่อนหน้านี้ 2 เรื่อง คือ The Founding of a Republic ที่สร้างขึ้นในวาระครบรอบ 60 ปีการก่อตั้งประเทศจีน ออกฉายเมื่อปี ค.ศ. 2009 และเรื่อง Beginning of the Great Revival ที่สร้างขึ้นฉลองวาระครบรอบ 90 ปีการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ ออกฉายในปี ค.ศ. 2011 โดยแต่ละเรื่องใช้ทุนสร้างประมาณ 400 ล้านหยวน และเข้าฉายในโรงประมาณ 30 วัน
ส่วนเรื่องสุดท้ายในไตรภาคนี้ก็คือ The Founding of an Army นี่เอง โดยผู้กำกับเรื่องนี้คือ หลิว เหว่ยเฉียง ผู้กำกับชาวฮ่องกงที่เคยฝากฝีมือเอาไว้ในเรื่อง Infernal Affairs แล้วก็ซีรีส์เกี่ยวกับมาเฟียฮ่องกงเรื่อง Young and Dangerous มาแล้ว
สำหรับในการกำกับเรื่อง The Founding of an Army นี้ หลิว เหว่ยเฉียง บอกว่าวัตถุประสงค์ของเขาก็คือทำให้เรื่องราวของกองทัพปลดแอกประชาชนจีนมีแง่มุมใหม่ ๆ แล้วก็อยากเล่าเรื่องที่ทรงพลังมากกว่าหนังอีก 2 เรื่องในไตรภาค Founding
ขณะที่นายจาง ถูเซิน รองผู้อำนวยการคณะกรรมการกำกับดูแลการกระจายเสียงและภาพยนตร์จีน กล่าวว่า ผู้กำกับหลิวต้องการเขย่าอะไรนิดหน่อยให้ผู้ชมได้สนุกสนานไปกับแอคชั่น และการนำประวัติศาสตร์มาเล่าใหม่อีกครั้ง
การถกเถียงกันระหว่างแฟนคลับที่ไปดูหนังเพราะไอดอลกับฝ่ายที่ต้องการให้ถ่ายทอดเรื่องราวออกมาให้ถูกต้องตามประวัติศาสตร์ดำเนินไปอย่างร้อนแรงจนทำให้ Douban เว็บไซต์ให้คะแนนหนังยอดนิยมของจีน ถึงกับต้องปิดไม่ให้มีการแสดงความเห็น และให้คะแนนหนังเรื่อง The Founding of an Army กันเลยทีเดียว
เพราะนี่คือหนัง Propaganda จะปล่อยให้มีความเห็นที่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของกองทัพออกไปได้อย่างไร....จริงไหม