ทูตรัสเซียชี้มาตรการคว่ำบาตร'บูมเมอแรง'กระทบตะวันตกเอง
ทูตรัสเซียประจำประเทศไทยแถลงข่าว อัพเดตสถานการณ์ในยูเครน ย้ำมาตรการคว่ำบาตรผิดกฎหมายระหว่างประเทศ สุดท้ายกลายเป็นบูมเมอแรงกลับไปหาตะวันตก เตือนนาโตเล็งขยับเข้าสู่เอเชียแปซิฟิก
นายเยฟกินี โทมิคิน เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำประเทศไทย จัดการแถลงข่าวกับสื่อมวลชนในประเทศไทย ที่สถานเอกอัครทูตรัสเซียประจำประเทศไทย ซึ่งเป็นการแถลงข่าวกับสื่อไทยครั้งที่ 2 นับตั้งแต่รัสเซียรุกรานยูเครนเมื่อเกือบสองเดือนก่อน ว่า เบื้องหลังที่แท้จริงของวิกฤติครั้งนี้คือ ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับนาโตหรือรัสเซียกับสหรัฐ
“เพื่อนตะวันตกของเราพูดมาตลอดว่าอยากหาทางออกอย่างสันติในยูเครนแต่ก็ไม่ทำอะไร แถมยังส่งอาวุธเพิ่มให้ยูเครนรวมทั้งอาวุธหนัก เพิ่มงบประมาณช่วยเหลือให้ยูเครนซื้ออาวุธ นั่นหมายความว่าชาติตะวันตกไม่ได้สนใจยุติวิกฤตินี้เลย”
สิ่งที่ชาติตะวันตกทำวันนี้ให้ดูจากแถลงการณ์รัฐมนตรีต่างประเทศจี 7 เมื่อสิ้นเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ว่า องค์การระหว่างประเทศและเวทีประชุมนานาชาติไม่ควรทำกิจกรรมกับรัสเซียอีกต่อไป
“เห็นได้ว่าประเทศกลุ่มเล็กๆ พยายามชี้นำการตัดสินใจหรือความกังวลของตนไปใช้กับประชาคมโลกในภาพใหญ่” ทูตรัสเซียกล่าวและว่า อีกเรื่องที่น่าสนใจคือ การประชุมรัฐมนตรีองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ราววันที่ 6-7 เม.ย. แม้พวกเขาหารือกันถึงสถานการณ์ในยูเครน แต่ต้องเข้าใจว่านาโตมีความปรารถนาแรงกล้าจะขยับเข้ามาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกด้วย เพราะมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจากหลายประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกนาโตได้รับเชิญเข้าร่วมประชุมด้วย เช่น ยูเครน จอร์เจีย ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ในการประชุมผู้นำนาโตหลังจากนี้ที่สเปนจะมีการหารือในรายละเอียดเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ในอนาคตของนาโตรวมทั้งในเอเชียแปซิฟิก
ทูตรัสเซียยังชี้ให้เห็นถึงการตั้งกลุ่มพันธมิตรใหม่ในภุูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอย่าง AUKUS (ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร สหรัฐ) และมีโอกาสเชิญประเทศอื่นมาเข้ากลุ่มในฐานะสมาชิก หรือผู้สังเกตการณ์ สามประเทศนี้ตัดสินใจพัฒนาอาวุธไฮเปอร์โซนิคขึ้นในกลุ่มซึ่งเป็นเรื่องที่น่าจับตา
ส่วนมาตรการคว่ำบาตรที่มีต่อรัสเซียนั้นถือเป็นเรื่องผิดกฎหมายส่งผลกระทบต่อการค้าโลก โลจิสติกส์ การคมนาคม ส่งผลให้สินค้าทุกอย่างขึ้นราคา เงินเฟ้อสูงมากในหลายประเทศในรัสเซียก็ไม่ต่างกัน ถือเป็นความท้าทายใหญ่สำหรับทุกประเทศ แม้แต่สื่อไทยก็รายงานเรื่องความมั่นคงทางอาหารบ่อยครั้ง การออกมาตรการคว่ำบาตรที่ผิดกฎหมายนี้จะส่งผลในระยะยาว
“เรื่องแซงค์ชันผ่านมาเกือบสองเดือนตะวันตกยังทำอะไรไม่ได้อย่างเป็นรูปธรรม เขาต้องการทำลายเศรษฐกิจรัสเซียโดยเร็วแต่ไม่สำเร็จกลายเป็นบูมเมอแรงเอฟเฟคท์ไปกระทบตนเองแรงมาก”
กรณียูเครนสมัครเข้าเป็นสมาชิกอียู ทูตโทมิคินกล่าวว่า กระบวนการปรึกษาหารือยูเครนเข้าเป็นสมาชิกอียูมีมาตั้งแต่ปี 2556-2557 แต่ยูเครนเป็นสมาชิกเครือจักรภพรัฐเอกราช (ซีไอเอส) ยูเครนมีเขตการค้าเสรีกับรัสเซียอยู่แล้ว แต่รัสเซียกับอียูไม่มีเขตการค้าเสรีระหว่างกัน ถ้ายูเครนเป็นสมาชิกอียูสินค้าจากอียูจะเข้ามาในตลาดรัสเซียได้ง่ายไม่มีอุปสรรคขวางกั้น ด้วยปัญหานี้เมื่อปลายปี 2556 รัสเซียเคยเสนอให้คุยกันระหว่างสามฝ่าย แต่อียูปฏิเสธบอกว่าเป็นเรื่องเฉพาะอียูกับยูเครนเท่านั้น รัสเซียไม่มีทางเลือกอื่นต้องแจ้งกับยูเครนว่าถ้าเข้าเป็นสมาชิกอียูรัสเซียก็ต้องตัดสินใจบางอย่างเพื่อปกป้องตลาดของตนเอง จากนั้นอดีตประธานาธิบดียูเครนจึงเลื่อนพิธีลงนามเข้าเป็นสมาชิกอียู
สำหรับการปกป้องเศรษฐกิจรัสเซียในระยะยาว ทูตยืนยันว่า รัสเซียต้องปกป้องเศรษฐกิจของตนเองด้วยมาตรการต่างๆ เพราะรัสเซียมีพันธมิตรจำนวนมากในโลกนี้ เช่น ประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างจีน อินเดีย กลุ่มประเทศ BRICS ซึ่งรวมถึงแอฟริกาใต้และบราซิล หลายประเทศในตะวันออกกลาง เอเชียและอาเซียน
"สำหรับเราวันนี้ปัญหาสำคัญที่สุดที่ต้องเร่งแก้ไขมีสองเรื่องคือ 1) โลจิสติกส์ แก้ปัญหาการขนส่งสินค้าโภคภัณฑ์นำเข้า-ส่งออก 2) การทำธุรกรรมธนาคาร ธนาคารรัสเซียบางแห่งถูกตัดออกจากระบบ SWIFT แต่ในเวลาเดียวกันหลายประเทศอย่างรัสเซีย จีน อินเดีย และอื่นๆ ก็มีระบบส่งข้อความสั้นระหว่างธนาคารของตนเองขึ้นมาคล้ายๆ SWIFT เชื่อว่าเร็วๆ นี้จะมีระบบแบบนี้เพิ่มขึ้นอีกเป็นทางเลือกให้รัสเซียใช้ ธนาคารเล็กใหญ่ในประเทศอื่นๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องระบบของชาติตะวันตกก็เข้ามาร่วมได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะถูกตะวันตกคว่ำบาตร
ทูตย้ำในตอนท้ายว่า การปกป้องเศรษฐกิจรัสเซียเป็นภารกิจอันดับหนึ่ง พอๆ กับการสร้างหลักประกันความมั่นคง รัสเซียเป็นประเทศที่พึ่งพาตนเองได้ เต็มไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ มีฐานอุตสาหกรรมที่ดี ฐานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแข็งแกร่ง ตอนนี้กำลังปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจรัสเซียให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ ทุกอย่างประสบความสำเร็จและมีประสิทธิผลเพิ่มขึ้นมาก