อินโดฯห้ามส่งออกน้ำมันปาล์มทุกประเภทเริ่มวันนี้
นายแอร์ลังกา ฮาร์ตาร์โต หัวหน้ารัฐมนตรีเศรษฐกิจอินโดนีเซีย แถลงว่า อินโดนีเซียจะขยายมาตรการระงับการส่งออกน้ำมันปาล์ม โดยจะห้ามการส่งออกผลิตภัณฑ์จากน้ำมันปาล์มทุกประเภท เริ่มตั้งแต่วันนี้(28เม.ย.)
นายแอร์ลังกา ฮาร์ตาร์โต หัวหน้ารัฐมนตรีเศรษฐกิจอินโดนีเซีย แถลงว่า อินโดนีเซียจะขยายมาตรการระงับการส่งออกน้ำมันปาล์ม โดยจะห้ามการส่งออกผลิตภัณฑ์จากน้ำมันปาล์มทุกประเภท ซึ่งรวมทั้งน้ำมันปาล์มดิบ (CPO), น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ (RPO), น้ำมันปาล์มโอเลอิน (RBD), น้ำมันทิ้งจากกระบวนการผลิตน้ำมันปาล์ม (POME) และน้ำมันปรุงอาหารที่ใช้แล้ว
จากเดิมที่ ระงับการส่งออกเฉพาะผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มโอเลอิน ซึ่งได้จากการนำน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์มาผ่านกระบวนการฟอกสี ขจัดกลิ่น และลดกรดไขมันอิสระ
"การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวสอดคล้องกับการตัดสินใจของท่านประธานาธิบดี หลังจากที่มีการพิจารณาความเห็นและเสียงสะท้อนจากประชาชน" แถลงการณ์ระบุ
การประกาศของนายฮาร์ตาร์โตมีขึ้นเพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่มาตรการดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในวันนี้
ด้านประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ผู้นำอินโดนีเซีย ออกแถลงการณ์ระบุว่า "รัฐบาลมีความเป็นห่วงเป็นใยต่อประชาชนโดยจะเข้าแก้ไขปัญหาอาหารราคาแพง มากกว่าที่จะห่วงว่ารัฐบาลจะขาดรายได้"
"ทันทีที่ปัญหาดังกล่าวได้รับการแก้ไข ผมก็จะยกเลิกคำสั่งห้ามส่งออก เพราะผมรู้ว่าประเทศต้องการรายได้จากภาษี ต้องการเงินตราต่างประเทศ และต้องการให้มีการเกินดุลการค้า แต่ความจำเป็นของประชาชนต้องมาก่อนสิ่งเหล่านี้" แถลงการณ์ระบุ
ทั้งนี้ ปธน.วิโดโด ประกาศห้ามการส่งออกดังกล่าวเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำมันปรุงอาหารในประเทศ และแก้ไขวิกฤตการณ์ทางการเมือง หลังจากที่กลุ่มนักศึกษาได้ออกมาชุมนุมในหลายเมืองเพื่อขับไล่รัฐบาล เนื่องจากมองว่าประสบความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาสินค้าราคาแพง ซึ่งรวมถึงน้ำมันปาล์ม
ผลการสำรวจของ Indikator Politik Indonesia พบว่า คะแนนนิยมของปธน.วิโดโดได้ตกต่ำลงเหลือเพียง 59.9% ในเดือนเม.ย. จากเดิมที่พุ่งแตะระดับ 75.3% ในช่วงต้นปีนี้
นอกจากนี้ ผลการสำรวจยังพบว่า ผู้ถูกสำรวจมากกว่า 60% ต้องการให้รัฐบาลยุติการส่งออกน้ำมันปาล์มเพื่อแก้ไขปัญหาราคาแพง และการขาดแคลนภายในประเทศ
ปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นได้ทำให้ปธน.วิโดโดประกาศระงับการส่งออกน้ำมันปาล์มเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 28 เม.ย. และไม่มีการระบุระยะเวลาของการบังคับใช้คำสั่งดังกล่าว
ปธน.วิโดโดกล่าวว่า รัฐบาลจะยกเลิกคำสั่งห้ามส่งออกดังกล่าวก็ต่อเมื่อสถานการณ์การขาดแคลนน้ำมันปาล์มในประเทศบรรเทาลง
ทั้งนี้ อินโดนีเซียเป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีปริมาณคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก
การประกาศระงับการส่งออกน้ำมันปาล์มของอินโดนีเซียสร้างความตื่นตระหนกไปทั่วโลก และทำให้ราคาน้ำมันพืชประเภทอื่นต่างพุ่งขึ้น ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับการขาดแคลนสินค้าในตลาด
อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่า มาตรการระงับการส่งออกน้ำมันปาล์มของอินโดนีเซียจะไม่สามารถดำเนินไปนานกว่า 1 เดือน เนื่องจากอินโดนีเซียขาดโครงสร้างพื้นฐานในการกักเก็บน้ำมันปาล์มส่วนเกิน และอินโดนีเซียจะเผชิญกับแรงกดดันจากเสียงเรียกร้องของประเทศต่างๆ เพื่อให้อินโดนีเซียกลับมาส่งออกน้ำมันปาล์มในตลาด
ก่อนหน้านี้ อินโดนีเซียเคยประกาศระงับส่งออกน้ำมันปาล์มในเดือนม.ค. ก่อนที่จะยกเลิกประกาศดังกล่าวในเดือนมี.ค.
"ขณะนี้อินโดนีเซียได้กักเก็บสต็อกน้ำมันปาล์มอยู่แล้วราว 5 ล้านตัน ขณะที่มีความสามารถในการกักเก็บเต็มที่ 6-7 ล้านตัน ซึ่งจะเต็มความจุภายในสิ้นเดือนหน้า" ดีลเลอร์รายหนึ่งกล่าว
ด้านนายเอดดี มาร์โตโน เลขาธิการ GAPKI ซึ่งเป็นสมาคมน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดของอินโดนีเซีย กล่าวว่า "จากการคำนวณง่ายๆ คลังกักเก็บน้ำมันปาล์มทุกแห่งจะเต็มหมดในเวลาไม่ถึง 1 เดือน หากมีการห้ามส่งออกน้ำมันปาล์มทั้งหมด"
นายมาร์โตโนกล่าวว่า เมื่อไม่มีคลังกักเก็บน้ำมันปาล์ม ก็จะไม่มีการรับซื้อผลปาล์มเพื่อสกัดน้ำมันปาล์ม ซึ่งจะทำให้ผลปาล์มเกิดการเน่าเสียหาย และจะทำให้เกษตรกรลดการผลิต
นอกจากนี้ อินโดนีเซียผลิตน้ำมันปาล์มราว 4 ล้านตันทุกเดือน แต่บริโภคภายในประเทศเพียง 1.5 ล้านตัน ซึ่งจะทำให้มีน้ำมันปาล์มส่วนเกินราว 2.5 ล้านตัน
ขณะเดียวกัน กระทรวงเศรษฐกิจอินโดนีเซียระบุว่า รัฐบาลจะบังคับใช้คำสั่งห้ามส่งออกน้ำมันปาล์มจนกว่าราคาน้ำมันปรุงอาหารจะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 14,000 รูเปียห์/ลิตร จากระดับ 19,000-20,000 รูเปียห์ในขณะนี้