ครบ 1 ปีอาเซียนเห็นชอบ “ฉันทามติ 5 ข้อ” ยุติความรุนแรงเมียนมา แต่ไม่สำเร็จ
หลังจากมี “ฉันทามติ 5 ข้อ” ที่เกิดขึ้นจากที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนวาระพิเศษเกี่ยวกับการยุติความรุนแรงในเมียนมาหลังการทำรัฐประหาร แต่เมื่อมาครบ 1 ปี ยังคงมีความรุนแรงในเมียนมาอยู่
"แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล" ออกแถลงการณ์ว่า นักกิจกรรมของเมียนมายังคงเดินหน้าชุมนุมประท้วงโดยสงบต่อไป ท่ามกลางอันตรายร้ายแรงและปัญหาท้าทายมากมาย โดยกล่าวขึ้นเนื่องในโอกาสครบหนึ่งปีหลังจากอาเซียนเห็นชอบ “ฉันทามติ 5 ข้อ” ซึ่งล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เพราะในปัจจุบันยังไม่สามารถยุติความรุนแรงในประเทศได้
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้สัมภาษณ์เชิงลึกกับ 17 คน ซึ่งยังคงเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงที่ไม่ใช้ความรุนแรงใน 5 รัฐและเขตของเมียนมา โดยผู้ให้สัมภาษณ์มาจากหน่วยงานที่หลากหลาย ทั้งหน่วยงานของผู้มีความหลากหลายทางเพศ และหน่วยงานด้านสิทธิสตรี
วิธีการชุมนุมประท้วงซึ่งเป็นที่นิยมมากสุดอย่างหนึ่งในตอนนี้คือ “แฟลชม็อบ” โดยนักกิจกรรมจะวิ่งประท้วงในถนนหลายนาที ก่อนจะสลายตัวไป เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกยิง ถูกจับ หรือถูกทหารเมียนมาขับรถชน
ประชาชนทั่วไปยังจัด “การประท้วงเงียบ” ทั่วประเทศ โดยบรรดาร้านค้าและธุรกิจพากันปิดตัว ท้องถนนว่างเปล่า และประชาชนอยู่กับบ้าน เพื่อแสดงการต่อต้านระบอบปกครองของทหาร ทั่วประเทศเมียนมา นักกิจกรรมและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนได้แจกจ่ายใบปลิวบนรถเมล์ ติดสติกเกอร์หรือพ่นสีตามกำแพงเป็นข้อความเพื่อต่อต้านกองทัพ และกระตุ้นให้มีการคว่ำบาตรสินค้าและบริการที่มีส่วนเชื่อมโยงกับกองทัพ
เอ็มเมอร์ลีน จิล รองผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคฝ่ายวิจัย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า “นักกิจกรรมเมียนมาต้องการแรงสนับสนุนอย่างเร่งด่วนจากประชาคมโลก รวมทั้งมาตรการห้ามซื้อขายหรือส่งอาวุธให้เมียนมา เพื่อขัดขวางไม่ให้กองทัพสามารถใช้อาวุธสงคราม เข่นฆ่าสังหารผู้ชุมนุมประท้วงโดยสงบ”
“ฉันทามติ 5 ข้อ” เกิดขึ้นที่ที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนวาระพิเศษ โดยมี "พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย" หัวหน้าคณะรัฐประหารเมียนมาเข้าร่วมประชุมด้วยเมื่อเดือน เม.ย. 2564 มีเนื้อหาดังนี้
- จะต้องยุติความรุนแรงในเมียนมาโดยทันที และทุกฝ่ายต้องใช้ความอดทนอดกลั้นถึงที่สุด
- การบวนการเจรจาพูดคุยกันอย่างสร้างสรรค์ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องเกิดขึ้น เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาโดยสันติวิธี เพื่อประโยชน์ของประชาชน
- ทูตพิเศษของประธานอาเซียนจะทำหน้าที่ประสานงานอำนวยความสะดวกให้กับกระบวนการพูดคุยเจรจา โดยเลขาธิการอาเซียนจะช่วยให้การสนับสนุน
- อาเซียนจะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมผ่านศูนย์ประสานงานการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของอาเซียน AHA Center (ASEAN Coordinating Center for Humanitarian Assistance)
- ทูตพิเศษและคณะทำงานจะเดินทางไปเมียนมาเพื่อพบกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
ในช่วงไม่กี่วันหลังการทำรัฐประหาร แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลและกลุ่มสิทธิมนุษยชนอีกหลายแห่ง ต่างกระตุ้นให้กองทัพเมียนมายุติการใช้กำลังอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมายและการใช้ความรุนแรงถึงชีวิตต่อผู้ชุมนุมประท้วงโดยสงบ ความรุนแรงเหล่านี้มีส่วนกระตุ้นให้คนจำนวนมากเข้าร่วมกับกองกำลังติดอาวุธต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาซึ่งยังคงปฏิบัติการอยู่ทั่วประเทศ
"แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล" เรียกร้องให้กองทัพปฏิบัติหน้าที่อย่างระมัดระวัง สอดคล้องตามกฎหมายระหว่างประเทศ และให้เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับเข้ามาทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มที่ แต่ข้อเรียกร้องเหล่านี้ไม่ได้รับการตอบรับ
จนถึงปัจจุบัน มีผู้ถูกสังหารแล้วกว่า 1,700 คน และอีกกว่า 13,000 คนถูกคุมขังนับแต่ทหารยึดอำนาจ ตามข้อมูลของสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง นักกิจกรรมและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ให้สัมภาษณ์กับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เล่าถึงเหตุการณ์ที่ได้เป็นประจักษ์พยาน หรือตกเป็นเหยื่อการปฏิบัติมิชอบของเจ้าหน้าที่กองทัพระหว่างการชุมนุมประท้วง รวมทั้งการถูกยิง ถูกซ้อม และการขับรถชนพวกเขา
นอกจากนั้น นักกิจกรรมหลายคนยังบอกกับ "แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล" ว่า พวกเขารู้สึกว่าถูกติดตามและสอดแนมข้อมูลส่วนตัวจากพลเรือนที่เป็นสายข่าวตลอดเวลา หรือที่พวกเขาเรียกว่าพวกดาลัน หรือบางทีก็เป็นการสอดแนมจากเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจที่สวมชุดพลเรือน และที่ขับรถไม่มีตราสัญลักษณ์
ในหลายกรณี ทหารและตำรวจได้จับสมาชิกในครอบครัวและเพื่อนสนิทของนักกิจกรรมเอาไว้ ถ้าไม่สามารถพบตัวนักกิจกรรมและจับกุมพวกเขาได้
รวมทั้งกรณีการจับตัวแม่วัย 94 ปีของนักการเมืองคนหนึ่ง และการจับกุมลูกสาววัยสี่ขวบของนักกิจกรรมอีกคน ตามรายงานข่าวของสื่อ
“แม้ชีวิตพวกเราจะอยู่ในอันตราย แต่เราเลือกที่จะเดินหน้าต่อไป เรายังคงร้องขอต่อประชาคมโลกให้ช่วยเหลือพวกเรา เพราะมีประชาชนที่กำลังถูกเข่นฆ่าในเมียนมา” ซิน หม่า แกนนำผู้ประท้วงที่โมนยวากล่าว