แพทย์พบผู้ป่วยโควิดในสหรัฐอาการกำเริบหลังรับยาแพกซ์โลวิดของไฟเซอร์

แพทย์พบผู้ป่วยโควิดในสหรัฐอาการกำเริบหลังรับยาแพกซ์โลวิดของไฟเซอร์

ยาแพกซ์โลวิด ยารักษาโรคโควิดของบริษัทไฟเซอร์ จุดชนวนคำถามใหม่เกี่ยวกับประสิทธิภาพในการรักษา หลังแพทย์ในสหรัฐพบว่าผู้ป่วยจำนวนไม่มากมีอาการกำเริบขึ้นหลังรับประทานยาแพกซ์โลวิดเข้าไป

แพทย์เริ่มรายงานว่ามีผู้ป่วยบางรายที่มีอาการกำเริบกลับมาหลังรับประทานยาแพกซ์โลวิดครบ 5 วัน จึงทำให้เกิดคำถามว่าผู้ป่วยเหล่านี้ถือว่ายังคงเป็นผู้ติดเชื้อหรือไม่ และควรที่จะได้รับยาแพกซ์โลวิดโดสที่ 2 ต่อเนื่องด้วยหรือไม่

เมื่อสัปดาห์ก่อน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐ (เอฟดีเอ) ระบุว่า ไม่แนะนำให้แจกยาแพกซ์โลวิดโดส 2 ให้กับผู้ป่วยที่มีอาการกำเริบซ้ำ เนื่องจากมีความเสี่ยงน้อยที่ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะเกิดอาการของโรคร้ายแรง หรือต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล

"ดร.ไมเคิล ชาร์เนส" รายงานเมื่อเดือนเม.ย. ว่ามี ผู้ป่วยที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วอายุ 71 ปี ที่หายจากโควิด-19 แล้วแต่อาการกลับกำเริบขึ้น พร้อมกับมีจำนวนไวรัสเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วภายใน 9 วัน แต่ดร.ชาร์เนส ยืนยันว่า แพกซ์โลวิดยังคงเป็นยาที่มีประสิทธิภาพสูง เพียงแต่ตั้งข้อสงสัยว่ายานี้อาจมีศักยภาพน้อยในการรับมือกับไวรัสโควิดกลายพันธุ์โอมิครอนหรือไม่ เนื่องจากยาตัวนี้ทำการทดสอบประสิทธิภาพกับการต้านไวรัสโควิดกลายพันธุ์เดลต้าเป็นหลัก

เอฟดีเอระบุว่า ประมาณ 1%-2% ของกลุ่มตัวอย่างที่มีการศึกษาประสิทธิภาพของยาแพกซ์โลวิดโดยไฟเซอร์ แสดงให้เห็นว่าระดับไวรัสของพวกเขากลับเพิ่มสูงขึ้นหลังผ่านไป 10 วัน ซึ่งอัตรานี้ใกล้เคียงกับกลุ่มตัวอย่างที่ได้ทานยาหลอก จึงไม่ชัดเจนว่าประเด็นนี้เกี่ยวข้องกับการรักษาด้วยยาแพกซ์โลวิดหรือไม่

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญบางคนชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้อีกด้านหนึ่งคือปริมาณยาแพกซ์โลวิดอาจไม่แรงพอที่จะยับยั้งไวรัสได้ โดย"แอนดี เปกอสซ์" นักไวรัสวิทยาจากมหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์ แสดงความกังวลว่า ยานี้อาจไปกระตุ้นไวรัสกลายพันธุ์ที่ดื้อยาขึ้นมาได้