"คนไทย" รู้จัก “คุรุเทพ รพินทรนาถ ฐากูร” สุนทรภู่แห่งอินเดีย
“คุรุเทพ รพินทรนาถ ฐากูร” ศิลปินชาวอินเดียเชื้อสายบังกาลี ที่เปลี่ยนโฉมงานประพันธ์ดนตรี และจิตรกรรมแห่งภารตให้มีความเป็นสากล และร่วมสมัย ซึ่งได้รับการยอมรับจากทั่วโลก รวมถึงมีบทบาทในการเชื่อมสัมพันธ์วัฒนธรรมอินเดีย และไทยเข้าด้วยกัน
ในปีนี้สถานเอกอัครราชทูตอินเดีย ประจำประเทศไทย จัดงานเฉลิมฉลอง 161 ปีครบรอบชาตกาล “คุรุเทพ รพินทรนาถ ฐากูร” เจ้าของรางวัลโนเบลทั้งเป็นนักคิดปรัญชา และศิลปินประพันธ์กวี แต่งเพลงจิตรกรชั้นเยี่ยม
“สุจิตรา ดูไร” เอกอัครราชทูตอินเดีย ประจำประเทศไทย กล่าวว่า การเยือนไทยของคุรุเทพ รพินทรนาถ ฐากูร เมื่อ 95 ปีที่แล้ว มีความสำคัญยิ่ง และเป็นการวางรากฐานสำหรับความเชื่อมสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม และการเมืองระหว่างอินเดีย และไทยไปสู่สังคมสมัยใหม่
คุรุเทพ รพินทรนาถ ฐากูร เคยเดินทางมายังประเทศไทยเมื่อปี 2470 ขณะนั้นคือสยาม ซึ่งเป็นเป้าหมายหนึ่งในการเยือนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งในระหว่างการเยือนครั้งนั้นเขาได้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในหลายแห่งรวมทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเขาได้แต่งบทกวี 2 บทชื่อ “ถึงสยาม” และ “อำลาสยาม”
ศิลปินแห่งดินแดนภารตท่านนี้เกิดในแคว้นเบงกอลประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2404 เป็นลูกชายคนเล็กในครอบครัวพราหมณ์ มีความปรารถนาอย่างแรงกล้า และต้องการใฝ่หาความรู้ใหม่ๆ ทำให้หมั่นเพียรเรียนภาษาจนแตกฉาน กระทั่งได้สมญานามเป็นครูของพระเจ้า (Gurudev) เนื่องจากผลงานศิลปะและวรรณกรรมได้รับความนิยมระดับสากล
คนรุ่นใหม่อินเดียรู้จักคุรุเทพ รพินทรนาถ ฐากูร ผ่านเพลงชาติอินเดียที่ใช้มาถึงทุกวันนี้ ซึ่งเป็นหนึ่งในผลงานการประพันธ์ที่สร้างความเป็นเอกภาพให้กับคนในชาติ และถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ด้วยผลงานที่เลื่องลือได้ขจรขจายไปยังประเทศเพื่อนบ้านของอินเดียในสมัยนั้น ได้ทาบทามให้เป็นเขาช่วยประพันธ์เพลงชาติให้กับบังกลาเทศ และศรีลังกา ซึ่งทำให้ฐากูรกลายเป็นคนเดียวที่แต่งเพลงชาติให้กับหลายประเทศ
นอกจากนี้ ยังเป็นผู้มีอิทธิพลทางวัฒนธรรมและภาษา โดยเป็นผู้ได้ก่อตั้งสถาบันศานตินิเกตัน และต่อมาได้กลายเป็นมหาวิทยาลัยวิสวาบาราตีในปี 2464 จนถึงปัจจุบัน
คุรุเทพ รพินทรนาถ ฐากูรได้รับรางวัลโนเบลในปี 2456 จากผลงานกวีนิพนธ์ “คีตญชาลี” (Gitanjali) ที่ทั่วโลกรู้จักกันดี ซึ่งเขาเป็นบุคคลแรกที่ไม่ใช่ชาวยุโรปที่ได้รับรางวัลโนเบล ถือเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งของชาวอินเดียจวบจนปัจจุบัน ผลงานวรรณกรรมที่สมบูรณ์แบบได้ประพันธ์เป็นภาษาเบงกาลี-อังกฤษ ไม่มีใครเทียบฝีไม้ลายมือกับคุรุเทพ รพินทรนาถ ฐากูรได้ เพราะเป็นศิลปินที่มีอิทธิพลต่อความคิดคนในสังคม
หากแต่ความรู้ ความสามารถด้านศิลปะแบบรอบด้าน ทำให้มีการเปรียบฐากูรกับพระสุนทรโวหาร นามเดิมภู่ หรือสุนทรภู่ ซึ่งเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงระหว่างปี 2329 - 2398 และเป็นอาลักษณ์ชาวไทยที่มีชื่อเสียงเชิงกวี ได้รับยกย่องเป็นเชกสเปียร์แห่งประเทศไทย
ตลอดช่วงชีวิตของฐากูร ได้ประพันธ์เพลงไว้ 2,230 เพลง และ 13 ปีสุดท้ายในบั้นปลายชีวิตได้วาดภาพราว 3,000 ภาพ เพื่อแสดงพลังสร้างสรรค์ที่ล้ำค่าไว้ให้คนรุ่นหลังอินเดียได้ชื่นชม
ผู้ช่วยศาสตราจารย์สาวิตรี เจริญพงศ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้กล่าวถึงความสำคัญของคุรุเทพ รพินทรนาถ ฐากูรกับสังคมไทยที่เปรียบเหมือนสะพานเชื่อมโลกแห่งเอเชียใต้กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะเป็นจุดร่วมความสัมพันธ์ไทย-อินเดียในปัจจุบัน
ในปีนี้ อินเดียและทั่วโลกได้จัดงานฉลองครบรอบชาตกาลของ “คุรุเทพ รพินทรนาถ ฐากูร”อย่างยิ่งใหญ่ เพื่อรำลึกถึงงานประพันธ์ชั้นสูงที่ยังติดตราตรึงซึ้งใจของใครหลายคน และยังเป็นผลงานพลังสร้างสรรค์ให้เป็นตัวอย่างของคนรุ่นใหม่ด้วย