ดาวโจนส์ร่วงในกรอบแคบ 84 จุดลุ้นตัวเลขเงินเฟ้อ
ดัชนีดาวโจนส์ ปิดวันอังคาร(10พ.ค.)ร่วงลงในกรอบแคบ 84 จุด หลังจากทะยานกว่า 300 จุดในช่วงแรก ขณะที่นักลงทุนเทขายหุ้นเพื่อลดความเสี่ยง ก่อนที่สหรัฐจะเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อในวันพุธ ตามเวลามท้องถิ่น
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ลดลง 84.96 จุด หรือ 0.26% ปิดที่ 32,160.74 จุด ดัชนีเอสแอนด์พี 500 เพิ่มขึ้น 9.81 จุด หรือ 0.25% ปิดที่ 4,001.05 จุด และดัชนีแนสแด็ก เพิ่มขึ้น 114.42 จุด หรือ 0.98% ปิดที่ 11,737.67 จุด
ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทพุ่งขึ้นในช่วงแรกขานรับการปรับตัวลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี หลังจากดีดตัวแตะระดับ 3.185% วานนี้ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2561
ทั้งนี้ พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีถือเป็นพันธบัตรที่ใช้อ้างอิงในการกำหนดราคาของตราสารหนี้ทั่วโลก ซึ่งรวมถึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนอง หากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวขึ้น จะทำให้บริษัทต่างๆ เผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นจากการชำระหนี้ ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทเหล่านี้ลดการลงทุน และลดการจ่ายเงินปันผลแก่นักลงทุน
ดัชนีดาวโจนส์ดิ่งลงกว่า 600 จุดวานนี้ ขณะที่ดัชนีเอสแอนด์พี 500 หลุดจากระดับ 4,000 จุดเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 1 ปี โดยนักลงทุนพากันเทขายหุ้น ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับเงินเฟ้อ รวมทั้งผลกระทบจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
นักวิเคราะห์เตือนว่าเศรษฐกิจสหรัฐอาจเผชิญภาวะถดถอยหากเฟดเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจกำลังเผชิญปัจจัยลบหลายประการ ซึ่งรวมถึงอัตราเงินเฟ้อสูง, ผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครน และปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่เป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
นักลงทุนคาดการณ์ว่า เฟดอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมเดือนมิ.ย. แม้นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด กล่าวว่าเฟดยังไม่ได้พิจารณาเรื่องการปรับขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงขนาดนั้นก็ตาม
ทั้งนี้ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า ขณะนี้นักลงทุนให้น้ำหนัก 75% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมวันที่ 14-15 มิ.ย. ซึ่งเพิ่มขึ้นจากระดับ 19% เมื่อเดือนที่แล้ว
นักลงทุนจับตาตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐในวันพรุ่งนี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าตัวเลขเงินเฟ้อดังกล่าวจะชะลอตัวลง หลังพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 40 ปีก่อนหน้านี้
ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ประจำเดือนเม.ย.ในวันพุธ(11พ.ค.)ตามเวลาท้องถิ่น
นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ดัชนี CPI ดีดตัวขึ้น 8.1% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายปี แต่ต่ำกว่าระดับ 8.5% ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2524
นอกจากนี้ คาดว่าดัชนี CPI ปรับตัวขึ้น 0.2% เมื่อเทียบรายเดือน และต่ำกว่าระดับ 1.2% ในเดือนมี.ค.
ขณะเดียวกัน คาดว่าดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ดีดตัวขึ้น 6.0% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าระดับ 6.5% ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนส.ค.2525
นอกจากนี้ คาดว่าดัชนี CPI พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.4% เมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าระดับ 0.3% ในเดือนมี.ค.
ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์กเปิดเผยผลสำรวจคาดการณ์เงินเฟ้อของผู้บริโภคสหรัฐประจำเดือนเม.ย. พบว่า ภาคครัวเรือนสหรัฐคาดว่าเงินเฟ้อจะชะลอตัวลงในช่วง 12 เดือนข้างหน้า
ทั้งนี้ ผลสำรวจกลุ่มตัวอย่างจาก 1,300 ครัวเรือนพบว่า ตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะสั้นสำหรับช่วง 12 เดือนข้างหน้าลดลง 0.3% สู่ระดับ 6.3% ในเดือนเม.ย. จากการคาดการณ์ว่าราคาอาหารและพลังงานจะชะลอตัวลงในช่วงเวลาดังกล่าว
ก่อนหน้านี้ ตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะสั้นสำหรับช่วง 12 เดือนข้างหน้าดีดตัวแตะ 6.6% ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์
ส่วนตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะกลางสำหรับช่วง 3 ปีข้างหน้าเพิ่มขึ้น 0.2% สู่ระดับ 3.9% จากระดับ 3.7% ในเดือนมี.ค.