ดาวโจนส์ร่วง 103 จุดกังวลเฟดขึ้นดอกเบี้ย
ดัชนีดาวโจนส์ ปิดวันพฤหัสบดี(12พ.ค.)ปรับตัวร่วงลง 103 จุด โดยปรับตัวลงติดต่อกันเป็นวันที่ 6 ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อในสหรัฐ
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ลดลง 103.81 จุด หรือ 0.33% ปิดที่ 31,730.30 จุด ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ลดลง 5.10 จุด หรือ 0.13% ปิดที่ 3,930.08 จุด และดัชนีแนสแด็ก เพิ่มขึ้น 6.73 จุด หรือ 0.06% ปิดที่ 11,370.96 จุด
ดัชนีดาวโจนส์ดิ่งลงกว่า 300 จุดในการซื้อขายวันพุธ(11พ.ค.) หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อสูงกว่าคาด ซึ่งทำให้นักลงทุนกังวลว่าจะส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค พุ่งขึ้น 8.3% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 8.1% แต่ต่ำกว่าระดับ 8.5% ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2524
ส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน พุ่งขึ้น 6.2% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 6.0% แต่ต่ำกว่าระดับ 6.5% ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนส.ค.2525
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยในวันนี้ว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต เพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายเดือน สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังจากดีดตัวขึ้น 1.6% ในเดือนมี.ค.
เมื่อเทียบรายปี ดัชนี PPI ดีดตัวขึ้น 11% ในเดือนเม.ย. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 10.7% หลังจากพุ่งขึ้น 11.5% ในเดือนมี.ค.
ส่วนดัชนี PPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 0.6% เมื่อเทียบรายเดือน สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังจากดีดตัวขึ้น 0.9% ในเดือนมี.ค.
เมื่อเทียบรายปี ดัชนี PPI พื้นฐาน ปรับตัวขึ้น 6.9% หลังจากดีดตัวขึ้น 7.1% ในเดือนมี.ค.
ทั้งนี้ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า ขณะนี้นักลงทุนให้น้ำหนัก 100% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 0.50% ในการประชุมนโยบายการเงินอีก 2 ครั้ง ทั้งในเดือนมิ.ย.และก.ค. หลังจากที่เฟดเพิ่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในเดือนพ.ค. เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนพ.ค.2543 และเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบกว่า 20 ปี
ส่วนการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในวันนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 1,000 ราย สู่ระดับ 203,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 195,000 ราย
อย่างไรก็ดี ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานดังกล่าวอยู่ต่ำกว่าระดับ 215,000 ราย ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยต่อสัปดาห์ในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐ
ขณะเดียวกัน กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่อง ลดลง 44,000 ราย สู่ระดับ 1.343 ล้านราย ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค.2513