ดาวโจนส์ทะยาน 466 จุด วอลล์สตรีทรีบาวด์ หลังร่วง 6 วันติด
ดัชนีดาวโจนส์ ปิดวันศุกร์(13พ.ค.)พุ่งขึ้น 466 จุด ขณะที่นักลงทุนช้อนซื้อหุ้นเก็งกำไร ส่งผลให้ราคาหุ้นดีดตัวขึ้นทุกกลุ่ม หลังตลาดหุ้นวอลล์สตรีทร่วงลงติดต่อกัน 6 วัน
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปรับตัวขึ้น 466.36 จุด หรือ 1.47% ปิดที่ 32,196.66 จุด
ดัชนีเอสแอนด์พี500 เพิ่มขึ้น 2.39% ปิดที่ 4,023.89 จุด
ดัชนีแนสแด็ก ปรับตัวขึ้น 3.82% ปิดที่ 11,805 จุด
อย่างไรก็ดี ราคาหุ้น ของบริษัททวิตเตอร์ อิงค์ดิ่งลงกว่า 10% สวนทางตลาด หลังจากที่นายอีลอน มัสก์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทเทสลา อิงค์ ประกาศพักการเจรจาซื้อกิจการทวิตเตอร์ จนกว่าเขาจะได้รับข้อมูลมากขึ้นเกี่ยวกับจำนวนบัญชีปลอมบนทวิตเตอร์
ทั้งนี้ หากนายมัสก์ตัดสินใจยกเลิกการเจรจาข้อตกลงซื้อกิจการทวิตเตอร์ เขาจะต้องจ่ายค่าฉีกสัญญาจำนวน 1 พันล้านดอลลาร์ให้แก่ทวิตเตอร์
มายมัสก์ประกาศในเดือนเม.ย.ว่า เขามีความประสงค์ที่จะซื้อกิจการทวิตเตอร์ด้วยวงเงิน 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือราว 1.5 ล้านล้านบาท และภารกิจแรกของเขาคือการกวาดล้าง "spam bots" ออกจากทวิตเตอร์
ทั้งนี้ ทวิตเตอร์ประเมินก่อนหน้านี้ว่าบัญชีสแปม หรือบัญชีที่เป็น bots มีสัดส่วนไม่ถึง 5% ของบัญชีทั้งหมด ขณะที่นายมัสก์ต้องการให้ทวิตเตอร์ยืนยันข้อมูลดังกล่าวก่อนที่เขาจะเดินหน้าเจรจาข้อตกลงต่อไป
แม้ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทดีดตัวขึ้นในวันนี้ แต่คาดว่า 3 ดัชนีหลักในตลาดจะดิ่งลงในสัปดาห์นี้ โดยดัชนีดาวโจนส์ร่วงลงกว่า 2% นับตั้งแต่ต้นสัปดาห์ ส่วนดัชนี S&P 500 และ Nasdaq ทรุดตัวลง 3% และ 4% ตามลำดับ
วุฒิสภาสหรัฐลงมติวานนี้ให้นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ดำรงตำแหน่งประธานเฟดเป็นสมัยที่ 2
อย่างไรก็ดี นายพาวเวลมีภารกิจที่ยากลำบากรออยู่ข้างหน้าในการสกัดเงินเฟ้อที่พุ่งสูงสุดในรอบ 40 ปีโดยไม่ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐประสบภาวะถดถอย หลังจากหดตัวลง 1.4% ในไตรมาส 1/65
นายพาวเวลยอมรับว่าเขาไม่สามารถให้การรับประกันว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะชะลอตัวลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป หรือ soft landing ขณะที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ
ด้านนางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ กล่าวแสดงความเชื่อมั่นว่า เฟดสามารถควบคุมเงินเฟ้อให้ชะลอตัวลงโดยไม่ทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย
นางเยลเลนกล่าวว่า ปัจจัยที่จะช่วยให้สหรัฐไม่เผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอย ได้แก่ ตลาดแรงงานและภาคธนาคารที่แข็งแกร่ง, สถานะการเงินของภาคครัวเรือน และอัตราดอกเบี้ยที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ
นักลงทุนคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 0.50% ในการประชุมนโยบายการเงินอีก 2 ครั้ง ทั้งในเดือนมิ.ย.และก.ค. หลังจากที่เฟดเพิ่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในเดือนพ.ค. เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนพ.ค.2543 และเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบกว่า 20 ปี
นอกจากนี้ เฟดเตรียมปรับลดขนาดงบดุล (Quantitative Tightening : QT) โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนมิ.ย. ซึ่งเฟดจะลดขนาดงบดุลในวงเงิน 4.75 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน และหลังจากนั้น 3 เดือน เฟดจะเพิ่มการลดขนาดงบดุลเป็น 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน