ดาวโจนส์ดิ่งเหวกว่า1,000 จุด กังวลเงินเฟ้อฉุดผลประกอบการ
ดัชนีดาวโจนส์ ปิดวันพุธ(18พ.ค.)ร่วงลงอย่างหนัก 1,164.52 จุด ถือเป็นการปรับตัวลงย่างแรงเป็นครั้งแรกในรอบ 4 วัน ขณะที่นักลงทุนกังวลว่าภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐเริ่มส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ลดลง 1,164.52 จุด หรือ 3.57% ปิดที่ 31,490.07 จุด ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ลดลง 165.17 จุด หรือ 4.04% ปิดที่ 3,923.68 จุด และดัชนีแนสแด็ก ลดลง 566.37 จุด หรือ 4.73% ปิดที่ 11,418.15 จุด
หุ้นกลุ่มค้าปลีกเปิดเผยผลประกอบการที่น่าผิดหวัง โดยถูกกระทบจากต้นทุนเชื้อเพลิงที่พุ่งขึ้น ทำให้ค่าใช้จ่ายด้านการขนส่งเพิ่มขึ้น และเป็นการบ่งชี้ว่าภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐเริ่มส่งผลกระทบต่อกำไรของภาคธุรกิจ
ราคาหุ้นทาร์เก็ต ซึ่งเป็นบริษัทค้าปลีกรายใหญ่ของสหรัฐ ดิ่งลงเกือบ 25% ในวันนี้ หลังเปิดเผยตัวเลขกำไรในไตรมาสแรกต่ำกว่าคาดการณ์ของนักวิเคราะห์
ส่วนราคาหุ้นโลว์ส ซึ่งเป็นบริษัทจำหน่ายสินค้าตกแต่งบ้านรายใหญ่ของสหรัฐ ร่วงลงกว่า 3% หลังเปิดเผยรายได้ในไตรมาสแรกต่ำกว่าคาด
นอกจากนี้ ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทถูกกดดันในวันนี้ หลังจากที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยืนยันว่า เฟดจะไม่ลังเลในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนกว่าจะสามารถควบคุมเงินเฟ้อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า ขณะนี้นักลงทุนให้น้ำหนัก 100% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 0.50% ในการประชุมนโยบายการเงินอีก 2 ครั้ง ทั้งในเดือนมิ.ย.และก.ค. หลังจากที่เฟดเพิ่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในเดือนพ.ค. เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนพ.ค.2543 และเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบกว่า 20 ปี
ขณะเดียวกัน เฟดเตรียมปรับลดขนาดงบดุล (Quantitative Tightening : QT) โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนมิ.ย. ซึ่งเฟดจะลดขนาดงบดุลในวงเงิน 4.75 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน และหลังจากนั้น 3 เดือน เฟดจะเพิ่มการลดขนาดงบดุลเป็น 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน