ดาวโจนส์บวก 191 จุดหลังเฟดเผยรายงานการประชุมช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา

ดาวโจนส์บวก 191 จุดหลังเฟดเผยรายงานการประชุมช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา

ดัชนีดาวโจนส์ ปิดวันพุธ(25พ.ค.)ปรับตัวขึ้น 191 จุด หลังเฟดเผยรายงานการประชุมช่วงกลางเดือนที่ผ่านมาที่บ่งชี้ว่าเฟดพร้อมปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกในการประชุมเดือนมิ.ย.และก.ค. ที่กำลังมาถึง

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปรับตัวเพิ่มขึ้น 191.66 จุด หรือ 0.60% ปิดที่ 32,120.28 จุด ดัชนีเอสแอนด์พี 500 เพิ่มขึ้น 37.25 จุด หรือ 0.95% ปิดที่ 3,978.73 จุด และดัชนีแนสแด็ก เพิ่มขึ้น 170.29 จุด หรือ 1.51%  ปิดที่ 11,434.74 จุด

ดัชนีหลักของตลาดหุ้นสหรัฐซื้อขายผันผวนในช่วงต้น เพราะผลสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจและผู้บริโภค ข้อมูลเศรษฐกิจและรายงานผลประกอบการของบริษัทต่างๆ ที่บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐคลายความร้อนแรงลง แต่เฟดยังคงเตรียมเคลื่อนไหวจัดการกับภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงในรอบหลายทศวรรษ

มีความกังวลว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรุนแรงเกินไปของเฟดอาจผลักเศรษฐกิจสหรัฐฯดิ่งสู่ภาวะถดถอย ขณะที่ปรากฏหลักฐานว่าภาวะเงินเฟ้อแตะระดับสูงสุดแล้วในเดือนมี.ค.

รายงานการประชุมมินิทส์จากคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด ประจำเดือนพ.ค. ซึ่งปิดฉากด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% มากสุดในรอบ 22 ปี เผยให้เห็นว่าคณะกรมการคิดว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกในการประชุมเดือนมิ.ย.และก.ค. ที่กำลังมาถึงเป็นเรื่องที่เหมาะสม

ดัชนีดาวโจนส์ปิดบวกเพียง 0.15% ในการซื้อขายวานนี้ หลังการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐ ขณะที่ดัชนีแนสแด็กดิ่งลงกว่า 2% โดยถูกกดดันจากการทรุดตัวลงของหุ้นสแนปและหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี
 

ทั้งนี้ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า ขณะนี้นักลงทุนให้น้ำหนัก 100% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 0.50% ในการประชุมนโยบายการเงินอีก 2 ครั้ง ทั้งในเดือนมิ.ย.และก.ค. หลังจากที่เฟดเพิ่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในเดือนพ.ค. เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนพ.ค.2543 และเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบกว่า 20 ปี

ขณะเดียวกัน เฟดเตรียมปรับลดขนาดงบดุล โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนมิ.ย. ซึ่งเฟดจะลดขนาดงบดุลในวงเงิน 4.75 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน และหลังจากนั้น 3 เดือน เฟดจะเพิ่มการลดขนาดงบดุลเป็น 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน

ขณะที่การเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในวันนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐ เช่น เครื่องบิน รถยนต์ และเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนเม.ย. หลังจากเพิ่มขึ้น 0.6% ในเดือนมี.ค.

ทั้งนี้ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนในเดือนเม.ย.ได้รับแรงหนุนจากคำสั่งซื้อเครื่องบิน

ส่วนยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนพื้นฐาน ซึ่งเป็นคำสั่งซื้อสินค้าทุนที่ไม่รวมเครื่องบิน และสินค้าด้านอาวุธ โดยเป็นสิ่งบ่งชี้แผนการใช้จ่ายของภาคธุรกิจ เพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนเม.ย. แต่ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.5% หลังจากพุ่งขึ้น 1.1% ในเดือนมี.ค.