เสด็จออกสีหบัญชรวังบักกิงแฮม ช่วงเวลาประวัติศาสตร์ราชวงศ์
การเสด็จออกสีหบัญชรพระราชวังบักกิงแฮมตั้งแต่งานราชาภิเษกถึงงานอภิเษกสมรสถือเป็นส่วนสำคัญแห่งภาพลักษณ์ราชวงศ์อังกฤษมานานกว่าศตวรรษ
วันนี้ (2 มิ.ย.) สีหบัญชรพระราชวังบักกิงแฮมกลายเป็นจุดสนใจอีกครั้งในงานเฉลิมฉลองวโรกาสแพลตินัม จูบิลี สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 พระชนมพรรษา 96 พรรษา ครองสิริราชสมบัติ70 ปี นานที่สุดในประวัติศาสตร์สหราชอาณาจักร พระบรมวงศานุวงศ์ที่จะโดยเสด็จลดจำนวนลงตามพระบรมราชโองการของควีนเฉพาะ “พระบรมวงศานุวงศ์ที่ปฏิบัติพระกรณียกิจ” เท่านั้นจึงจะร่วมเสด็จออกทักทายพสกนิกรในพิธีสวนสนาม Trooping the Colour อันเป็นไฮไลต์ของงานได้ เท่ากับว่าพระบรมวงศานุวงศ์ที่เข้าเกณฑ์มีเพียง 18 พระองค์ น้อยกว่าปีก่อนๆ ที่แน่ๆ คือไม่มีเจ้าชายแฮร์รีกับชายาเมแกน และเจ้าชายแอนดรูว์
เจ้าชายแฮร์รีและเมแกนลาออกจากการเป็นเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงเมื่อต้นปี 2563 แล้วย้ายไปอยู่แคลิฟอร์เนีย ปัจจุบันทั้งคู่มีลูกน้อยสองคน ส่วนเจ้าชายแอนดรูว์ พระราชโอรสองค์ที่ 2 ของควีนทรงเก็บพระองค์มาตั้งแต่ปลายปี 2562 หลังประชาชนไม่พอใจที่พระองค์ปกป้องมิตรภาพที่มีกับเจฟฟรีย์ เอพสทีน ผู้กระทำความผิดคดีทางเพศ นับตั้งแต่นั้นเจ้าชายแอนดรูว์ทรงถูกถอดยศทางทหาร ปีนี้ทรงถูกถอดถอนจากการปฏิบัติพระกรณียกิจ ก่อนพระองค์ทรงยอมความทางแพ่งที่สหรัฐในคดีข่มขืนได้ไม่นาน
หลายปีมาแล้วที่สีหบัญชรกลายเป็นเวทีโชว์ของสถาบันกษัตริย์ ภาพพระองค์โบกพระหัตถ์ให้พสกนิกรมหาศาลเบื้องล่างถูกฉายออกไปทั่วโลก
หลังจากราชวงศ์อังกฤษ ครอบครัวที่โด่งดังที่สุดของประเทศผ่านความยากลำบากมาสองปี การเสด็จออกสีหบัญชรตกแต่งด้วยสีแดงและทองในปีนี้เป็นการส่งสารอย่างชัดเจนว่า “ไม่มีดรามาอีกแล้ว”
จากงานเอ็กซ์โปสู่สงคราม
สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงเป็นผู้ริเริ่มการเสด็จออกสีหบัญชร เป็นวิธีใหม่ในการทักทายไพร่ฟ้าเมื่อปี 1851 (พ.ศ.2394) ในพิธีเปิดเกรตเอ็กซ์ฮิบิชัน งานแสดงวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมในยุคนั้น เจ็ดปีต่อมาครอบครัวควีนวิกตอเรียเสด็จออกสีหบัญชรในงานอภิเษกสมรส “เจ้าหญิงวิกตอเรีย” พระราชธิดาองค์โต กับว่าที่กษัตริย์แห่งปรัสเซีย
วันที่ 4 ส.ค.1914 (พ.ศ.2457) ฝูงชนบนถนนเดอะมอลล์นอกพระราชวัง เรียกร้องหากษัตริย์จอร์จที่ 5 หลังอังกฤษประกาศสงครามกับเยอรมนี
เดือน พ.ย.1918 (พ.ศ.2461) ชาวลอนดอนหลายหมื่นคนโห่ร้องถวายพระพรกษัตริย์และราชินีหลังการสงบศึกที่ด้านหน้าอาคารหินอันโดดเด่นของพระราชวัง
ปี 1935 (พ.ศ.2478) เจ้าหญิงเอลิซาเบธในวัยเพียง 9 ชันษาขณะนั้น ทรงโบกพระหัตถ์ให้ประชาชนที่มารวมตัวในงานเฉลิมฉลอง 25 ปี การครองราชย์ของกษัตริย์จอร์จที่ 5 พระอัยกา สองปีต่อมา พระองค์เสด็จกลับมาที่เดิมอีกครั้งในงานราชาภิเษกกษัตริย์จอร์จที่ 6 พระบิดา
วันที่ 8 พ.ค. 1945 (พ.ศ.2488) นายกรัฐมนตรีวินสตัน เชอร์ชิล ร่วมกับพระบรมวงศานุวงศ์เฉลิมฉลองชัยชนะในวันยุโรป หลังจากกองกำลังสัมพันธมิตรเอาชนะนาซีเยอรมนีได้
ปี 1947 (พ.ศ.2490) เจ้าหญิงเอลิซาเบธเสด็จออกสีหบัญชรหลังอภิเษกสมรสกับเจ้าชายฟิลิป และหลังจากพิธีราชาภิเษกเป็นสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในปี 1953 (พ.ศ.2496)
เวทีโชว์ราชวงศ์
ไม่มีโอกาสใดยิ่งใหญ่กว่าการเสด็จออกสีหบัญชรพระราชวังบักกิงแฮมอีกแล้ว ควีนทรงยืนอยู่ด้านหน้าและตรงกลาง โดยปกติทรงฉลองพระองค์สีสันสดใส ผู้ชายที่ดำรงพระอิสริยยศสูงสุดโดยปกติทรงฉลองพระองค์เครื่องแบบทหารเต็มยศ ผู้หญิงทรงพระมาลา
บางครั้งประวัติศาสตร์ก็เกิดขึ้นที่นี่ เช่น ตอนที่เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ รัชทายาทอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงไดอานาเมื่อปี 1981 (พ.ศ.2524) คู่สมรสทรงจุมพิตกันที่นี่ เจ้าชายแอนดรูว์ทรงทำแบบเดียวกันเมื่ออภิเษกสมรสกับซาราห์ เฟอร์กูสัน ในปี 1986 (พ.ศ.2529) เช่นเดียวกับเจ้าชายวิลเลียม พระโอรสองค์โตของเจ้าหญิงไดอานาเมื่อทรงเสกสมรสกับเเคท มิดเดิลตัน
แต่นั่นไม่ใช่เรื่องมุมมองของครอบครัว
“ตลอดรัชสมัย สมเด็จพระราชินีนาถฯ ทรงให้ความสำคัญกับราชวงศ์เหนือกว่าครอบครัวหรือเรื่องส่วนตัว สำหรับพระองค์ จำเป็นต้องฉายภาพสถาบันกษัตริย์ณ สีหบัญชร ไม่ใช่ภาพครอบครัว” มาร์ก โรช นักเขียนราชสำนักกล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพี
วันนี้คาดว่าสมเด็จพระราชนีนาถฯ ที่ลดการปฏิบัติพระราชกรณียกิจลงตั้งแต่เดือน ต.ค.ที่ผ่านมา และทรงมีปัญหาเคลื่อนไหวพระวรกายไม่สะดวก จะเสด็จออกสีหบัญชรทอดพระเนตรการแสดงบินของเครื่องบินกองทัพอากาศ ซึ่งโดยธรรมเนียมเป็นการสิ้นสุดการเฉลิมฉลองวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษาอย่างเป็นทางการ
แต่พระองค์อาจเสด็จออกเป็นครั้งที่ 2 ด้วย ในวันอาทิตย์ 5 มิ.ย. กับรัชทายาท 3 พระองค์ ทั้งเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ เจ้าชายวิลเลียม และโอรส เจ้าชายจอร์จ ชันษา 8 ปี
หนังสือพิมพ์เดลิมิเรอร์รายงานเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า พระองค์ “ทรงต้องการให้โลกเห็นพลังแห่งราชวงศ์อังกฤษและอนาคตของสถาบันกษัตริย์” ตราบเท่าที่พระองค์ยังรู้สึกแข็งแรงพอ
ด้านอาเธอร์ เอ็ดเวิร์ด ช่างภาพราชสำนักผู้เชี่ยวชาญของหนังสือพิมพ์เดอะซัน ระบุ“ถ้าเราไม่เห็นควีนในงานเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติ ผู้คนเป็นล้านๆ ต้องผิดหวังพวกเขามาลอนดอนเพื่อดูคอนเสิร์ต ดูงานเฉลิมฉลอง แต่ที่พวกเขาอยากดูจริงๆ คือควีน”