เงินเฟ้อพิษร้ายเศรษฐกิจโลก'ยุโรป-สหรัฐ'เสี่ยงถดถอยสูง

เงินเฟ้อพิษร้ายเศรษฐกิจโลก'ยุโรป-สหรัฐ'เสี่ยงถดถอยสูง

ซีอีโอดอยซ์แบงก์เผย ยุโรปและสหรัฐมีโอกาสเศรษฐกิจถดถอยสูง เนื่องจากธนาคารกลางจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินตึงตัวเชิงรุกเพื่อสู้เงินเฟ้อ ที่ถือเป็นพิษร้ายใหญ่สุดของเศรษฐกิจโลก

เว็บไซต์ซีเอ็นบีซีรายงาน สัปดาห์ก่อนธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ธนาคารกลางสวิส (เอสเอ็นบี) และธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) ต่างขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อในระดับที่แตกต่างกันไป

เงินเฟ้อราคาผู้บริโภคในยูโรโซนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่ 8.1% ในเดือน พ.ค. อีซีบียืนยันว่าตั้งใจจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในการประชุมเดือน ก.ค.

ผู้บริหารธนาคารกลางและนักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกยอมรับว่า นโยบายการเงินตึงตัวเชิงรุกที่อาจจำเป็นสำหรับคุมเงินเฟ้อ มีความเสี่ยงที่จะพลิกเศรษฐกิจสู่ภาวะถดถอยหลังเศรษฐกิจชลอตัวไปเรียบร้อยแล้วจากปัจจัยระดับโลกหลายตัวรวมกัน สำหรับยุโรป ตั้งอยู่ใกล้กับสงครามในยูเครน ทั้งยังพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียสูงมากจึงเป็นทวีปที่มีความเสี่ยงเฉพาะตัวต่อความขัดแย้งครั้ง และแนวโน้มรัสเซียหยุดส่งก๊าซในอนาคต

จากปัจจัยดังกล่าว คริสเตียน ซออิง ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ดอยซ์แบงก์ ให้สัมภาษณ์พิเศษกับซีเอ็นบีซีว่า ถ้ารัสเซียหยุดส่งก๊าซให้ยุโรปกะทันหัน โอกาสที่เศรษฐกิจถดถอยจะมาเร็วขึ้นมากอย่างไม่ต้องสงสัย

ในภาพรวมสถานการณ์อันท้าทายเสี่ยงให้เศรษฐกิจเยอรมนีและยุโรปถดถอยในปี 2566 หรือ 2567 มีสูงกว่าที่เคยเห็นในปีก่อนๆ ทั้งผลกระทบของสงครามและเงินเฟ้อส่งผลต่อนโยบายการเงิน

นอกเหนือจากเงินเฟ้ออันมีที่มาจากสงครามในยูเครนและการคว่ำบาตรรัสเซีย ยังมีปัญหาอื่นๆ ด้วย ได้แก่ ซัพพลายเชนตึงตัวหลังความต้องการเพิ่มขึ้นหลังโควิดระบาด และการกลับมาใช้มาตรการคุมโควิดอีกครั้งส่วนใหญ่ใช้ในประเทศจีน

“สถานการณ์ท้าทายแบบนี้ที่มีตัวขับเคลื่อนสามหรือสี่ตัวที่สามารถส่งผลรุนแรงต่อเศรษฐกิจได้ ทั้งยังเข้ามาในเวลาเดียวกันหมายความว่ามีแรงกดดันอย่างมากและมากพอต่อเศรษฐกิจ โอกาสเศรษฐกิจยุโรปรวมถึงสหรัฐถดถอยมีสูงมาก” ซออิง กล่าว

เนื่องจากความท้าทายที่เข้ามาพร้อมกัน ซีอีโอดอยซ์แบงก์กล่าวว่า เขาลังเลมากขึ้นทุกขณะที่จะพึ่งพาตัวแบบเดิมๆ เนื่องจากเศรษฐกิจกำลังเผชิญเคราะห์ซ้ำกรรมซัด ปัจจัยสามหรือสี่ตัวที่อาจทำให้เกิด “ภาวะถดถอย” ได้ในที่สุด อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อเป็นสิ่งที่เขากังวลมากที่สุด

“พูดได้เลยว่าเงินเฟ้อเป็นอะไรที่ผมกังวลที่สุด ดังนั้นผมคิดว่าสัญญาณที่พวกเราได้รับจากธนาคารกลางทั้งหลาย ทั้งเฟดและอีซีบีเป็นสัญญาณที่ถูกต้อง เราจำเป็นต้องสู้เงินเฟ้อ เพราะสุดท้ายแล้วเงินเฟ้อคือยาพิษใหญ่สุดของเศรษฐกิจ” ซีอีโอดอยซ์แบงก์กล่าวทิ้งท้าย

ด้านอิชิ อาเมมิยะ และโรเบิร์ต เดนท์ นักวิเคราะห์จากธนาคารโนมูระคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอยเล็กน้อยในช่วงปลายปี 2565 เนื่องจากเฟดยังคงเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

“เราคาดว่าเฟดจะยังใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงินต่อไป ขณะที่ผู้บริโภคจะเผชิญกับผลกระทบด้านลบจากการปรับขึ้นดอกเบี้ย รวมทั้งปัญหาห่วงโซ่อุปทานด้านอาหารและพลังงานที่ย่ำแย่ลง เราเชื่อว่าการที่เฟดแสดงความมุ่งมั่นที่จะรักษาเสถียรภาพของเงินเฟ้อด้วยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงขึ้นเพื่อฉุดตัวเลขเงินเฟ้อให้กลับสู่เป้าหมายที่ระดับ 2% นั้น จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอยเล็กน้อยในไตรมาส 4 ปีนี้” นักวิเคราะห์ของโนมูระกล่าว

การคาดการณ์ดังกล่าว สวนทางกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐ และเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐซึ่งต่างก็เชื่อว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะสามารถหลีกเลี่ยงภาวะถดถอยได้ เนื่องจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคยังคงแข็งแกร่ง

นักวิเคราะห์ของโนมูระ กล่าวว่า แม้ว่าความแข็งแกร่งของงบดุลบัญชีผู้บริโภคและเงินออมส่วนเกินของผู้บริโภค จะช่วยชะลอการหดตัวของเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง แต่การที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงขึ้นและเร็วขึ้นเพื่อที่จะสกัดเงินเฟ้อ ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อหลายภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจสหรัฐซึ่งรวมถึงภาคครัวเรือน

ทั้งนี้ โนมูระได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของสหรัฐในปี 2565 ลงสู่ระดับ 1.8% จากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 2.5% และปรับลดคาดการณ์จีดีพีปี 2566 ลงเหลือ 1% จากเดิม 1.3%

เจอโรม พาวเวล ประธานเฟดส่งสัญญาณว่า เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75% ในการประชุมเดือนก.ค. หลังจากที่ได้ปรับขึ้นไปแล้ว 0.75% ในการประชุมล่าสุดเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.

นอกจากนี้ ในการประชุมวันดังกล่าว เฟดยังเปิดเผยการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) โดยระบุว่าเจ้าหน้าที่เฟดคาดการณ์ว่า อัตราดอกเบี้ยจะแตะระดับ 3.4% ในช่วงสิ้นปีนี้ ซึ่งบ่งชี้ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 1.75% ภายในปีนี้ และคาดว่าอัตราดอกเบี้ยจะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3.8% ในสิ้นปี 2566 และชะลอตัวสู่ระดับ 3.4% ในปี 2567 ขณะที่อัตราดอกเบี้ยระยะยาวอยู่ที่ 2.5%

ขณะที่นักยุทธศาสตร์ของแบงก์ออฟอเมริกา โกลบอลรีเสิร์ชเพิ่มโอกาสที่เศรษฐกิจจะถดถอยในปี 2566 เป็น 40% ด้วยผลผลิตมวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ชะลอลงจนเกือบเป็นศูนย์ภายในครึ่งหลังของปีหน้า เงินเฟ้อจ่อทรงตัวที่ราว 3% และเฟดขึ้นดอกเบี้ยเกิน 4%

นักเศรษฐศาสตร์โกลด์แมนแซคส์มองโอกาส 30% ที่เศรษฐกิจสหรัฐถดถอยในปีหน้า เพิ่มขึ้นจาก 15% ที่เคยประเมินไว้ครั้งก่อน และถ้าไม่ถดถอยในปี 2566 ก็มีความเป็นไปได้ 25% ที่จะถดถอยในปี 2567

เท่ากับว่าความเป็นไปได้สะสม 48% ที่เศรษฐกิจถดถอยในสองปีข้างหน้าจาก 35% ที่เคยประเมินไว้ครั้งก่อน