อนามัยโลกย้ำ"โควิด" ยังเป็นภาวะฉุกเฉินสาธารณสุขโลก
องค์การอนามัยโลกย้ำ การระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ยังคงเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขของโลก แม้ผ่านมา 2 ปีครึ่งแล้ว หลายประเทศเริ่มกลับมารับมือกับการระบาดระลอกใหม่ ผู้ติดเชื้อในสหรัฐและญี่ปุ่นเพิ่มกว่า 2 เท่าจากสัปดาห์ก่อน
องค์การอนามัยโลก ย้ำอีกครั้งว่า การระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ยังคงเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขของโลก แม้ผ่านมา 2 ปีครึ่งแล้ว ขณะหลายประเทศเริ่มกลับมารับมือกับการระบาดระลอกใหม่ทั้งสหรัฐ และญี่ปุ่น ที่พบผู้ติดเชื้อวันเดียวมากกว่า 76,000 ราย เพิ่มกว่า 2 เท่าจากสัปดาห์ก่อน
นายแพทย์ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) กล่าวว่า เขากังวลที่จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ยิ่งสร้างแรงกดดันต่อระบบสาธารณสุขที่ตึงตัวอยู่แล้วและเจ้าหน้าที่
“โรคโควิด-19 ยังไปไม่ถึงจุดสิ้นสุดของการระบาด และเมื่อไวรัสสู้เรา เราก็ต้องสู้กลับบ้าง เราอยู่ในสถานะที่ดีกว่าตอนเริ่มระบาดใหม่ๆ มาก แน่นอน เราคืบหน้าไปมาก มีทั้งเครื่องมือที่ปลอดภัยและได้ผลในการป้องกันการติดเชื้อ การเข้าโรงพยาบาล และเสียชีวิต แต่เราก็ไม่ควรทึกทักไปเอง” ผอ.ดับเบิลยูเอชโอแถลงเมื่อวันอังคาร (12 ก.ค.) พร้อมย้ำว่าจากการติดเชื้อและเข้าโรงพยาบาลที่สูงขึ้นจึงขอให้รัฐบาลใช้มาตรการที่เคยใช้ได้ผลมาแล้ว เช่น สวมหน้ากาก ปรับปรุงระบบระบายอากาศ การตรวจหาเชื้อและรักษา
ดับเบิลยูเอชโอ ประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขของโลก เมื่อวันที่ 30 ม.ค. ปี ปี2563 เพื่อเปิดทางให้มีการศึกษาวิจัย ระดมทุน และกำหนดมาตรการระหว่างประเทศเพื่อควบคุมการระบาดของโรคนี้
ถ้อยแถลงย้ำเรื่องโรคโควิด-19 ของดับเบิลยูเอชโอ มีขึ้นในช่วงเดียวกับที่ทำเนียบขาว เรียกร้องให้ประชาชนเข้าวัคซีนกระตุ้นภูมิ หรือ ฉีดเข็มบูสเตอร์ และกลับมาสวมหน้ากากอีกครั้ง ขณะอยู่ในอาคารปิด หลังจากโควิดโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย 2 ชนิด BA.4 และ BA.5 แพร่ระบาดหนักทั่วสหรัฐ
แพทย์หญิงโรเชลล์ วาเลนสกี ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐ (ซีดีซี) กล่าวว่า ชาวอเมริกันจำนวนมากยังเข้ารับวัคซีนไม่เพียงพอ ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตในอเมริกาคงที่ในระดับ 300 คนต่อวัน จากการระบาดของโควิดสายพันธุ์ย่อย
ขณะที่นายแพทย์แอนโธนี เฟาชี ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติ กล่าวว่า โควิดสายพันธุ์ย่อยเป็นสิ่งที่น่ากังวล การเข้ารับวัคซีนกระตุ้นภูมิ การสวมหน้ากากในอาคารปิด และการรักษาต่าง ๆ จะช่วยให้การดำรงชีวิตเป็นปกติได้มากขึ้น
ซีดีซี ระบุด้วยว่า ชาวอเมริกันอายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป ควรเข้ารับวัคซีนกระตุ้นภูมิในระยะ 5 เดือนหลังจากได้รับวัคซีนครบสองเข็มแล้ว ส่วนผู้ที่อายุ 50 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ซึ่งนับเป็นกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อ ควรเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นภูมิเข็มสองในระยะ 4 เดือนหลังจากได้รับวัคซีนกระตุ้นภูมิเข็มแรก
แต่ข้อมูลล่าสุดของซีดีซี พบว่า ชาวอเมริกันหลายสิบล้านคนยังไม่ได้รับวัคซีนบูสเตอร์เข็มแรก และกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อเพียง 28% ที่เข้ารับวัคซีนบูสเตอร์เข็มสองตามคำแนะนำของรัฐบาล
ส่วนสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศที่น่าเป็นห่วงอีกแห่งคือญี่ปุ่น โดยเมื่อวันอังคาร(12ก.ค.) กระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา ญี่ปุ่นมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่จำนวนมากกว่า 76,000 ราย เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่แล้ว และมีจำนวนมากกว่า 70,000 ราย เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่วันที่ 3 มี.ค. ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกที่ 7
กรุงโตเกียวมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่จำนวน 11,511 ราย เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่แล้ว และมีจำนวนมากกว่า 10,000 รายเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค.
ขณะนี้ ญี่ปุ่นมีจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สะสมมากกว่า 9.7 ล้านราย และเสียชีวิตมากกว่า 31,000 ราย
ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายวันในเกาหลีใต้พุ่งแตะหลัก 40,000 คนเป็นครั้งแรกในรอบ 2 เดือนวานนี้ (13 ก.ค.) ขณะที่รัฐบาลเตือนว่าตัวเลขผู้ป่วยใหม่อาจสูงขึ้น 5 เท่าภายในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า
นายกรัฐมนตรีฮัน ดัก-ซู ของเกาหลีใต้ แถลงต่อที่ประชุมคณะทำงานตอบสนองโควิด-19 ของรัฐบาล โดยอ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานควบคุมและป้องกันโรค (เคดีซีเอ) และผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขว่า ผู้ติดเชื้อรายวันอาจเพิ่มเป็น 200,000 คนในช่วงกลางเดือน ส.ค. ไปจนถึงปลาย ก.ย.
ฮัน ระบุด้วยว่า รัฐบาลเกาหลีใต้จะเริ่มเปิดให้ประชาชนที่อายุเกิน 50 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว เข้ารับวัคซีนบูสเตอร์เข็มที่ 2 เร็วๆ นี้
ปัจจุบัน เกาหลีใต้ยังคงฉีดวัคซีนบูสเตอร์เข็มที่ 2 ให้เฉพาะผู้ที่อายุเกิน 60 ปีขึ้นไป แต่จำนวนผู้สูงอายุที่สมัครใจเข้ารับวัคซีนเข็ม 4 ยังคงมีเพียง 32% เท่านั้น