IEA เตือน ‘โลก’ อาจผลิต ‘น้ำมัน’ ไม่พอต่อความต้องการใช้
IEA เตือนราคาน้ำมันที่สูงขึ้นยังไม่ลดความต้องการที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและอาจแซงหน้าอุปทานในไม่ช้า
องค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (IEA)เตือนว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอาจล้มเหลว ถ้ารัฐบาลไม่มีมาตรการลดการใช้น้ำมันและลดราคาซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อเสถียรภาพในบางประเทศ
ในรายงานสถานการณ์ตลาดน้ำมันประจำเดือนฉบับล่าสุด IEA ซึ่งมีสำนักงานในกรุงปารีส แนะนำประเทศอุตสาหกรรมถึงนโยบายพลังงาน ระบุ “หากไม่มีนโยบายที่เข้มแข็งแทรกแซงการใช้พลังงาน ความเสี่ยงยังคงสูง ทำให้เศรษฐกิจโลกไม่ฟื้นตัวตามแผน”
ทั้งนี้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นสูงจากราคาประมาณ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เป็น 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่รัสเซียเริ่มบุกรุกยูเครนทำให้เกิดความกังวลต่ออุปทานน้ำมันและการที่จีนเปิดเศรษฐกิจอีกครั้งหลังล็อกดาวน์โควิดกระตุ้นความต้องการใช้น้ำมันมากขึ้น
IEA กล่าวด้วยว่า ถ้าราคาน้ำมันสูงจนเริ่มบั่นทอนความต้องการในประเทศอุตสาหกรรม ก็จะถูกถ่วงดุลด้วยความต้องการในจีน ประเทศตลาดเกิดใหม่ และประเทศกำลังพัฒนาฟื้นตัวขึ้นมากกว่าคาด
ขณะนี้ไออีเอ คาดว่า ความต้องการใช้น้ำมันในปีนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 99.2 ล้านบาร์เรล/วัน และ 101.3ล้านบาร์เรล/วัน ในปีหน้า
ขณะเดียวกันอุปทานน้ำมันจะเพิ่มขึ้นเป็น 100.1ล้านบาร์เรล/วันในปีนี้ แม้ทะลุคาดการณ์ 101.1 ล้านบาร์เรล/ต่อวันในปีหน้า แต่จะต่ำกว่าความต้องการมาก
IEA ระบุด้วยว่า โลกมีขีดความสามารถเพิ่มผลผลิตได้เพียงเล็กน้อย เมื่อรวมน้ำมันสำรองจากซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ส่อเค้าลดลงเหลือแค่ 2.2 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน ส.ค.
นั่นหมายความว่ากลุ่มผู้ผลิตน้ำมันโอเปกพลัส อาจผลิตได้ลดลงในปีหน้า หากอุปทานน้ำมันรัสเซียได้รับผลกระทบจากการคว่ำบาตรของนานาชาติอย่างเข้มงวดควบคู่ไปกับการกลั่นน้ำมันที่เพิ่มขึ้นจำกัดทำให้เกิดความไม่สมดุลต่อตลาดสินค้าบางประเภท และเพิ่มแรงกดดันต่อราคาน้ำมัน
IEA กล่าว “ความไม่สมดุลอาจขึ้นอยู่กับปริมาณความต้องการใช้ เพื่อลดการบริโภคและราคาเชื้อเพลิงที่เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคง ในตลาดเปิดใหม่ที่น่าจับตามองมากที่สุด”
การแข็งค่าของเงินดอลลาร์เมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐขึ้นอัตราดอกเบี้ย ประกอบกับราคาสินค้านำเข้าสูงขึ้นทั้งราคาอาหารและราคาน้ำมัน กระทบต่อประเทศกำลังพัฒนาและตลาดเกิดใหม่มากมายเช่นศรีลังกาที่เกิดการประท้วงจากวิกฤตเศรษฐกิจอันเลวร้าย